ดาวเทียมแนทแชท 2ฝีมือเด็กไทยเตรียมขึ้นสู่วงโคจร  16 ต.ค.นี้

ดาวเทียมแนคแซท2

แนคแซท 2 หรือ KNACKSAT-2 เป็นโครงการดาวเทียมคิวบ์แซท (CubeSat) ขนาด 3U (30 x 10 x 10)พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) มีรูปแบบเป็น Ride Sharing Platform Satellite   หรือการแชร์พื้นที่ใช้สอยบนดาวเทียมร่วมกัน โดยดาวเทียมแนคแซท 2 มีพื้นที่ในการบรรจุเพย์โหลดเพื่อปฏิบัติภารกิจ (MissionPayload) ทั้งหมด 7 ระบบ

แต่ละเพย์โหลด เป็นโครงการความร่วมมือพัฒนาระหว่าง มจพ. กับหน่วยงานอีก 7 หน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1) บพข. 2) บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 3)ร.ร.เตรียมวิศวกรรมไทย-เยอรมัน มจพ. 4) Rail Systems Cluster มจพ. 5) สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)6) UiTM ประเทศมาเลเซีย และ 7) UPHSD ประเทศฟิลิปปินส์

ล่าสุด หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) นำโดย รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผู้อำนวยการ บพข.  มจพ.  บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวอร์ค จำกัด และหน่วยงานภาคี ได้ทำพิธีส่งมอบดาวเทียมแนคแซท 2 ให้กับองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAKA)เพื่อนำส่งไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และปล่อยเข้าสู่วงโคจรต่อไปในต้นปี พ.ศ. 2567

 ทีมวิจัย มพจ. ผู้ออกแบบและพัฒนาดาวเทียมแนคแซท2

การพัฒนาดาวเทียมแนคแซท 2 หรือ KNACKSAT-2   บพข. ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ มจพ. ในโครงการพัฒนาอุปกรณ์ IoT ฐานอวกาศเพื่อการสาธิตในวงโคจรภายใต้แผนงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม โดยมี บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AIS) เป็นผู้ร่วมทุนในการวิจัยและพัฒนาเพื่อออกแบบและพัฒนา Payload อุปกรณ์ IoT ทำงานผ่านดาวเทียมเพื่อสร้างตัวอย่างการใช้งานเชิงธุรกิจโดยคณะวิจัยได้ทำการพัฒนา IoT ออกเป็น 2 เพย์โหลด หรืออุปกรณ์เพื่อปฏิบัติภารกิจ สาธิตการทำงานของ IoT gatewayและภารกิจ Store and Forward บนอวกาศ ซึ่งทั้งสองเพย์โหลดมีความสามารถในการทำงานพื้นฐานที่คล้ายกัน คือ  สามารถรับสัญญาณ LoRa จากสถานีบนโลกได้ ทั้งนี้ทั้ง 2 เพย์โหลด มีความแตกต่างกันในด้าน ความซับซ้อนของการทำงาน โดยโหลดที่มีความซับซ้อนน้อยจะเรียกชื่อว่า “Postman” และสำหรับเพย์โหลดที่มีความซับซ้อนมากกว่าจะเรียกชื่อว่า “Chef”  

โดยทั้งสองระบบนี้จะถูกบรรจุลงในดาวเทียมแนคแซท 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆที่ต้องการใช้ประโยชน์จากห้วงอวกาศ ให้สามารถเข้าถึงอวกาศได้ง่ายขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่มีจำกัดร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ดร.พงศธร สายสุจริต นักวิจัยหัวหน้าโครงการ

ดร.พงศธร สายสุจริต อาจารย์ประจำภาควิชาวิศกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ มจพ.ในฐานะหัวหน้าโครงการ เล่าถึงความเป็นมาและภารกิจของดาวเทียมว่า ดาวเทียมแนคแซท 2เป็นดาวเทียมที่ออกแบบและพัฒนาโดยเด็กไทย และใช้วัสดุภายในประเทศกว่า 98%  โดยมีเป้าหมายในการใช้ IoT Satellite ในการเติมเต็ม IoT Network  ในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดในการติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญาณ Network Cellular ตามปกติ เช่น ในทะเล บนภูเขา และพื้นที่ทางการเกษตร  ที่มีปริมาณผู้คนอยู่อาศัยน้อย  แต่มีความจำเป็นต้องใช้ระบบ IoT Solution ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการทำงานด้านความปลอดภัย และความมั่นคงของประเทศ ของหน่วยงานทหาร การตรวจสอบข้อมูลในด้านทรัพยากร การเฝ้าระวังไฟป่า ของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำมาใช้ในธุรกิจการประมงและการขนส่งทางเรือ พาณิชย์นาวี การทำเกษตรกรรมในพื้นที่กว้างหรือห่างไกล  ที่ไม่สามารถติดตั้งอุปกรณ์ส่งสัญญานอินเตอร์เน็ตได้ ดาวเทียมนี้ จะช่วยให้ธุรกิจภาคดังกล่าวสามารถเข้าถึงข้อมูลที่มีประโยชน์ โดยผ่านระบบSensor ตรวจจับต่าง ๆ ในราคาที่เป็นของคนไทย ไม่ต้องจ่ายในราคาที่ซื้อจากต่างประเทศ

” การที่ดาวเทียมที่เราสร้างเองได้ออกไปสู่วงโคจรจริง ทำให้มี study caseที่แท้จริงในการพัฒนาบุคลากรที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเราต่อไป”ดร.พงศธรกล่าว

ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ ผอ. บพข.

ด้านดร.ธงชัย ผู้อำนวยการ บพข. กล่าวว่า บพข.มีหน้าที่ในการสร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการนำองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรม เทคโนโลยีใหม่ ๆ จากมหาวิทยาลัยไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตัวอย่างเช่น โครงการนี้ มจพ. ได้นำเอาเทคโนโลยีขั้นสูง คือเทคโนโลยีอวกาศมาเชื่อมโยงในการยกระดับ ให้ผู้ประกอบการ ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น ผ่านการทำงานวิจัยร่วมกัน ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องมีทุนวิจัยและความร่วมมือกับผู้ประกอบการในการขับเคลื่อนที่จะทำให้นวัตกรรมนั้นเป็นจริงได้และไปสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้จริง วันนี้ถือเป็นมิติที่เราช่วยกันในการขับเคลื่อนประเทศนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาพัฒนาผู้ประกอบการของเราให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันในเชิงพาณิชย์

“การที่จะดึงศักยภาพจากมหาวิทยาลัย ไปใช้ในการขับเคลื่อนความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนตามยุทธศาสตร์ชาติได้อันดับแรก เราต้องสร้างความร่วมมือกันให้ได้ก่อน คือ มีการคุยกันระหว่างผู้ใช้และฝั่งที่เป็นองค์ความรู้ว่ามีสิ่งไหน ที่จะสามารถเอานวัตกรรมนั้นมาสร้าง ให้เกิดเป็นเทคโนโลยีใหม่ ๆ และไปสู่การใช้ประโยชน์ได้ไม่ว่าจะเป็นมิติทางด้านเศรษฐกิจหรือสังคม และสิ่งที่สำคัญ คือเป็นการสร้างทักษะกำลังคนของประเทศไทยเราให้มีขีดความสามารถในการแข่งขัน  ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น คนของเราจะมีศักยภาพในการแก้ปัญหาและทำให้ประเทศผ่านวิกฤตไปได้ และที่สำคัญคือประเทศของเราจะเป็นประเทศแห่งนวัตกรรม และมีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย และทำให้คนไทยเรานั้นมีองค์ความรู้ต่าง ๆในการแก้ไขปัญหา และช่วยทำให้ประเทศของเราเป็นผู้นำทางด้านเศรษฐกิจได้ต่อไปในอนาคต” ผอ.บพข.กล่าว

ทีมผู้ร่วมสนับสนุนการพัฒนาดาวเที่ยมแนคแซท2

ด้าน ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มจพ. กล่าวเสริมว่า มจพ.นั้นเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเราพยายามที่จะเอาองค์ความรู้ที่ในอยู่ในมหาวิทยาลัยต่อยอดออกไปสู่การใช้ประโยชน์ในธุรกิจให้ได้ ซึ่งจะมีอยู่ 2 ส่วน คือ ส่วนแรก ที่เป็นการพัฒนากำลังคน จะเห็นได้ว่าโครงการนี้นั้นมีน้อง ๆ เด็ก ๆ ที่เข้ามาเรียนตั้งแต่ ปวช. จนถึงปริญญาตรีและร่วมทำโครงการด้วย และเมื่อน้อง ๆ เรียนจบแล้วก็ได้มีการออกไปตั้งบริษัทสตาร์ทอัพเป็นของตัวเองและยังมีกลไกการทำงานที่ร่วมกับภาคเอกชน เรามีพาร์ทเนอร์ที่เป็นภาคเอกชนและมีหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุนผลักดันสิ่งเหล่านี้ด้วย นั่นก็คือ บพข.

ขณะนี้ดาวเทียมแนคแซท 2 ได้ถูกพัฒนาเสร็จสมบูรณ์และพร้อมนำออกจากประเทศไทยแล้ว โดยทาง มจพ.มีกำหนดการนำดาวเทียมแนคแซท 2 ออกจากประเทศไทยออกจากประเทศไทยในวันที่ 16 ตุลาคม 2566เพื่อเตรียมความพร้อมในการนำส่งเข้าวงโคจรจากสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2567 โดยความร่วมมือระหว่างบริษัท NBSPACE มหาวิทยาลัย Kyushu Institute of Technology (KYUTECH) และ องค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น (JAKA)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดาวเทียมไทย 'THEOS-2' ขึ้นสู่วงโคจรสำเร็จ! เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก

ดาวเทียม 'THEOS-2' ของไทย ประสบความสำเร็จขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เริ่มปฏิบัติการสำรวจโลก นายกฯ ปลื้มขอบคุณ อว. ขับเคลื่อนวงการอวกาศประเทศก้าวหน้า 'ศุภมาส' ลุยต่อยอดยกระดับด้านต่างๆ