ในทุกวันนี้มีการนำ AI มาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวาง สร้างความเปลี่ยนแปลงของระบบที่มนุษย์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างชาญฉลาด สามารถทลายขีดจำกัดของมนุษย์ และพัฒนาได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด ดังเช่น ChatGPT และ Midjourney ที่ทำงานได้ซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ทุกวันนี้ทั่วโลกไม่อาจปฏิเสธต่อการนำ AI มาประยุกต์ใช้กับกิจกรรมแทบทุกภาคส่วน มีประสิทธิภาพ และทำงานได้รวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเชิงเกษตร การแพทย์ ยานยนต์ ค่ายโทรศัพท์มือถือ หรือในนวัตกรรมต่างๆ ซึ่งการประยุกต์ใช้ AI ในประไทยนับว่าขยายตัวอย่างมาก จึงเป็นความท้าทายในการเตรียมพร้อม และยกระดับขีดความสามารถของประเทศในทุกมิติ เพื่อรองรับการใช้ AI ในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยผลการจัดทำ “1 ปี แผนปฏิบัติการปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย และก้าวสำคัญในการขับเคลื่อน Medical AI” ภายใต้แผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ. 2565–2570” (Thailand National AI Strategy andAction Plan 2022-2027) โดย สวทช. และ สดช. ร่วมเป็นเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนฯ เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศ AI ที่ครบถ้วน ยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน
ในการนี้ได้มีการลงนามความร่วมมือ เรื่องการวิจัยพัฒนาชุดข้อมูลและนวัตกรรม เพื่อต่อยอดการใช้ประโยชน์ด้าน ปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์ ระหว่าง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ สวทช.
ศ.ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ เลขานุการร่วมของคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า จากคาดการณ์การเติบโตของตลาด AI ในปี 2030 ทั่วโลกจะพุ่งสูงไปถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการเติบโตถึง 20 เท่าจากปี 2021 หรือ 4 เท่าของ GDP ในประเทศไทยปี 2565 จากผลของการเปิด Chatbots ทำให้ AI เข้าถึงผ่านทางโทรศัพท์มือถือของทุกคน อีกทั้งในด้านของการค้นหาข้อมูลจะเปลี่ยนจากการ search engine มาเป็นการได้รับจ้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้ว โดยกระทรวงที่มีผลกระทบ คือ กระทรวงศึกษาธิการ จากที่เน้นให้เด็กเข้าใจการทำงานของคอมพิวเตอร์เพื่อค้นหาข้อมูล ปัจจุบัน AI จะเข้าถึงเพื่อวิเคราะห์และย่อยข้อมูล ดังนั้นวิธีการใช้งานหรือการทำความเข้าใจในการหาข้อมูลของเด็กยุคใหม่จึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย
ศ.ดร.ชูกิจ กล่าวว่า AI Adoption ในประเทศไทยปี พ.ศ.2566 จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 3,500 หน่วยงาน พบว่าสัดส่วนการประยุกต์ใช้ AI ในหน่วยงาน 86 หน่วยงานเฉลี่ย 15.2% หน่วยงานที่มีแผนจะใช้ AI เฉลี่ย 56.6% และ หน่วยงานที่ยังไม่มีความต้องและต้องการการสนับสนุนเฉลี่ย 28.2% โดย 50% ที่มีการนำ AI ไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและการทำงานขององค์กร 43% เพื่อประยุกต์ใช้การบริหารภายในองค์กร ส่วนกลุ่มที่ไม่ใช้พบว่า 50.4% อยู่ในช่วงศึกษาหาข้อมูล
สรุปผลการจัดทำแผนปฏิบัติการ AI ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีผลการดำเนินงานที่สำคัญในด้านต่าง ๆ ใน 5 ยุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ จริยธรรมและกฎระเบียบ AI, โครงสร้างพื้นฐานสำหรับ AI, กำลังคนด้าน AI, วิจัยพัฒนาและนวัตกรรม AI และส่งเสริมธุรกิจและการใช้ AI โดยยุทธศาสตร์ที่หลายประเทศทั่วโลกยังทำไม่ทันคือ เรื่องจริยธรรมและกฎระเบียบ AI เพราะทำให้คนเกิดการแบ่งขั้วมากขึ้น จากการเสพข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ผ่านการกรองจาก AI มาแล้วที่รับรู้รับทราบโดยไม่รู้ตัว หรือการใช้ AI เพื่อเป็นเครื่องมือทางโจรกรรม จึงจำเป็นที่จะต้องทำยุทธศาสตร์นี้ให้ชัดเจน โดยได้มีการจัดทำคู่มือจริยธรรม AI เล่มแรกของไทย ด้านโครงสร้างพื้นฐานมีการพัฒนาแพลตฟอร์มกลางบริการ AI บนคลาวด์ภาครัฐ (GDCC) รวมทั้งเปิดให้บริการ LANTA ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการคำนวณอันดับ 1 ในอาเซียน และอันดับที่ 70 ของโลก สำหรับการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐและเอกชน
ด้านการพัฒนากำลังคน ขณะนี้ได้ขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนด้าน AI ในทุกระดับและทุกสาขาตรงตามความต้องการของเอกชน ส่วนผลงานด้านนวัตกรรมและการประยุกต์ใช้ เช่น มีหน่วยงานภาครัฐใน 76 จังหวัด นำระบบวิเคราะห์เพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาความยากจนแบบชี้เป้า (TPMAP) เข้าไปขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัย ทั้งนี้ประเทศไทยเลื่อนอันดับขึ้นจาก 59 เป็น 31 ทันทีที่มีแผนปฏิบัติการ AI ในปีที่ผ่านมา
ในส่วนการขับเคลื่อนด้านการพัฒนา Medical AI ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) กล่าวว่า แผนการพัฒนากำลังคนสำหรับการก้าวสู่ยุค AI ซึ่งประเทศไทยอยู่ในสถานะที่มีความท้าทาย โดยได้มีการจัดทำโครงการ AI for All ที่ได้ลงทุนไปกว่า 300-400 ล้านบาทเพื่อรองรับการพัฒนากำลังคน โดยมีกว่า 2 แสนคนที่มีองค์ความรู้ทางด้าน AI ที่สามารถต่อยอดได้ในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
นพ.ภัทรวินฑ์ อัตตะสาระ ผู้อำนวยการสำนักดิจิทัลการแพทย์ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ในแวดวงการแพทย์ของไทย ที่ขาดแคลนบุคลากรแพทย์เฉพาะ ดังนั้น AI มีความจำเป็นในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะในด้านของรังสีแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นด้านความแม่นยำในการวินิจฉัย ลดความผิดพลาดในการแปลผล และผู้ป่วยได้รับการรักษาที่รวดเร็วยิ่งขึ้น หรือภาพเอกซเรย์ทรวงอก ภาพ MRI/CT มะเร็ง และในปัจจุบันกำลังพัฒนาการเอ็กซเรย์จอประสาทตาด้วย AI โดยอยู่ในช่วงการทดลองการใช้ในรพ.ตติยภูมิและรพ.ปฐมภูมิ เนื่องจากไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อรองรับจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะช่วยให้ AI มีความชาญฉลาดมากขึ้น จากเก็บข้อมูลที่ใหญ่มากขึ้น และการพัฒนา AIChest4Allซอฟต์แวร์ที่ช่วยให้แพทย์คัดกรองผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด วัณโรค โรคทรวงอก และความผิดปกติอื่น ๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำใน 1 นาที
“ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ได้มีการประกาศแล้วว่า เครื่องมือแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ในไทย ผู้นำเข้า ผู้ผลิต นักวิจัย ควรจะต้องมีการจำแนกประเภทว่าเป็นเครื่องมือแพทย์ทั่วไป หรือเครื่องมือแพทย์ปัญญาประดิษฐ์ และต้องได้รับการรับรองขึ้นทะเบียนกับทาง อย. นอกจากนี้ทางกรมฯ ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มบริหารจัดการข้อมูลเปิดด้านการแพทย์ โดยมีเครือข่ายคือ Medical AI Consortium เพื่อรวบรวมชุดข้อมูลทางด้านการแพทย์หลากหลายประเภทจากหลายหน่วยงาน ในการนำไปใช้งานด้าน AI สร้างระบบนิเวศการวิจัย พัฒนากำลังคน นำไปสู่บริการทางการแพทย์” นพ.ภัทรวินฑ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สามารถติดตามรายละเอียดการดำเนินงานเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ai.in.th
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ศุภมาส” หนุน สกสว. ขับเคลื่อนการใช้ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ในงาน “TRIUP FAIR 2024” ดึงภาครัฐ-เอกชน ยกระดับคุณภาพชีวิต สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 24 ก.ย. 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดงานมหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและนวัตกรรม ประจำปี 2567 หรือ TRIUP FAIR 2024 ภายใต้แนวคิด “Impact Journey to Ignite Thailand :
ปักหมุด แชร์ข้อมูล สร้าง'เมืองใจดี'
เป็นคำถามที่ค้างคาและสงสัยอยู่ในสังคมมาตลอด ที่จอดรถ ทางลาด ห้องน้ำ ทางลาดเลื่อน ลิฟต์ของคนพิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา รวมไปถึงคนที่มีข้อจำกัดด้านการเดินทาง ตามสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล โรงแรม รีสอร์ท ฯลฯ