เลือก'สมุทรสาคร'โมเดลช่วยเด็กการเรียนถดถอยช่วงโควิด

กสศ. ยูนิเซฟ ศธ. จับมือเปิดตัวโปรแกรมฟื้นฟูเรียนรู้ถดถอย และเด็กหลุดจากระบบในช่วงโควิด  ทักษะการอ่านและคณิตศาสตร์ เป็นสองวิชาหลักที่ต้องเร่งแก้ไข

7ธ.ค.2564- นางสาวธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า กสศ. ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม สถาบันวิจัยเพื่อการประเมินและออกแบบนโยบาย (RIPED) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และจ.สมุทรสาคร เปิดตัวโครงการวิจัยนำร่องฟื้นฟูการเรียนรู้ถดถอย ภายในหัวข้อ “ก้าวไปด้วยกัน สู่สมุทรสาครโมเดล จังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้เพื่อเด็กทุกคน” เนื่องจาก โควิด-19 ส่งผลให้ช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาถ่างกว้างขึ้น ดังนั้น กสศ.ยูนิเซฟ และ ศธ. ได้ประเมินสถานการณ์เบื้องต้น และนำมาสู่การออกแบบโครงการเพื่อฟื้นฟูความรู้ที่ถดถอย ป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ และส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพให้เด็ก  โครงการนี้เป็นโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Research and Development) นำร่องในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ปิดเรียนยาวนาน เพื่อหาตัวแบบก่อนขยายผลไปทั่วประเทศ โดยมีงบประมาณส่วนหนึ่งในการสนับสนุน
ในการดำเนินงานจะเชิญชวนสถานศึกษาทุกสังกัด ทั้ง สพฐ. อปท. และ สช. เข้าร่วม ด้วยรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับทักษะด้านคณิตศาสตร์และทักษะการอ่าน ซึ่งพบว่าเป็นทักษะที่มีภาวะถดถอยมากที่สุดในช่วงการปิดโรงเรียน โดยทักษะทั้งสองวิขา ที่เป็นพื้นฐานในการเรียนรู้วิชาอื่นๆ ทักษะสังคม อารมณ์ สุขภาพกายสุขภาพใจ ก็เป็นสิ่งที่ต้องเติมเต็มและส่งเสริมพัฒนาการไปพร้อมๆ กัน สำหรับจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่ที่มีความร่วมมือในระดับจังหวัดที่เข้มแข็ง ซึ่งทาง กสศ. ยูนิเซฟ และกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมค้นหานวัตกรรมมาช่วย เพื่อให้ไปสู่ผลลัพธ์ได้ดียิ่งขึ้น

“เรามีทีมวิชาการที่เข้มแข็งอย่างมูลนิธิสตาร์ฟิชคันทรีโฮม ที่ทำงานด้านนวัตกรรมการศึกษาระดับสากล มาเป็นโค้ช ทำงานร่วมกับศึกษาธิการจังหวัด และสถานศึกษา และ RIPED มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่เป็นเครือข่ายด้านงานวิจัย มาช่วยถอดบทเรียน วิธีการทำงานที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจะนำไปใช้ขยายผลในอนาคต ดังนั้น สิ่งที่ได้จากโครงการนี้ จะไม่ได้ก่อประโยชน์เพียงกับเด็กและเยาวชนในสมุทรสาครเท่านั้น แต่จะเป็นตัวแบบสำคัญที่จะขยายผลไปสู่จังหวัดอื่นๆ อีกด้วย”ผอ.สำนักนวัตกรรมฯกสศ. กล่าว

ด้านนายณรงค์ รักร้อย ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงปลายปีการศึกษา 2/2562 จนถึงปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่มีบุตรหลานอยู่ในวัยเรียนทั้งทางตรงและอ้อม ครัวเรือนยากจนลงทำให้เด็กและเยาวชนเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามีจำนวนเพิ่มขึ้น เด็กจำนวนมากออกไปประกอบอาชีพ และหาเลี้ยงครอบครัว หรือหากยังคงอยู่ในระบบการศึกษา แต่สถานศึกษาหรือครูอาจยังไม่ได้มีความพร้อมจัดการสอนในสถานการณ์ที่วิกฤตและมีข้อจำกัด เช่น การจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ 100% การขาดอุปกรณ์สื่อกลางการเรียนรู้และหลักสูตรที่เหมาะสม ปัจจัยความพร้อมของเด็กที่แตกต่างกัน ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดภาวะการเรียนรู้ถดถอย และยังมีเด็กจำนวนมากที่หลุดออกจากระบบไป
ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (iSEE) ของ กสศ. จังหวัดสมุทรสาครมีนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ จำนวน 3,189 คน ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนยากจนพิเศษ ที่อยู่ในครัวเรือนฐานะยากจนที่สุดร้อยละ 20 ของประเทศ มีรายได้เฉลี่ยสมาชิกในครัวเรือนต่อคนต่อเดือน 1,077 บาทหรือราว 36 บาทต่อวัน หรือ12,924 บาท ต่อปีเท่านั้น หากดูตัวเลขเช่นนี้ถือเป็นปัญหาใหญ่มาก โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าจับตาคือ เด็กในวัยเรียนกลุ่มช่วงชั้นรอยต่อทางการศึกษามีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้นในปี 2564-2565 และเด็กที่ไม่มีข้อมูลในระบบการศึกษาตามแต่ละช่วงวัย จำนวน 10,551 คน

“การพาเด็กๆกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ในสถานการณ์ไม่ปกติ จำเป็นต้องอาศัยมาตรการ โปรแกรมฟื้นฟูที่ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางจังหวัดสมุทรสาคร กสศ. องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย มูลนิธิโรงเรียนสตาร์ฟิชคันทรีโฮม สถาบัน RIPED จะเข้ามาช่วยจังหวัด  ส่วนที่สำคัญขาดไม่ได้คือครอบครัว บางครอบครัวอาจมีข้อจำกัดในชีวิต ต้องช่วยกัน ทำให้การศึกษาการเรียนรู้ของเด็กในกลุ่มนี้ มีทางเลือกมากขึ้น  และสมุทรสาครโมเดล จะเป็นจังหวัดต้นแบบลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นฟูการเรียนรู้เด็ก”ผู้ว่าฯ สมุทรสาคร กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

‘หมอยง’ สะท้อนความรู้สึกโควิด-19 ปีที่ 2 'ยุ่งเหยิง-ดราม่าวัคซีน-เซียนคีย์บอร์ด'

หลังการระบาดใหญ่ทั่วโลก ในปีแรก ทุกคนมุ่งหวัง ที่จะยุติการระบาดด้วยวัคซีน จึงมีการผลิตคิดค้นวัคซีนกันมากมาย มากกว่า 10 platform