กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงที่มีขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก และนับว่ามีความแออัดพอสมควร ผู้คนจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาอยู่อาศัย ทำธุรกิจ ทำงาน หรือศึกษาหาความรู้ ตลอดจนท่องเที่ยว ขณะที่ พื้นที่ผ่อนคลายที่เป็นพื้นที่สาธารณะ กลับมีน้อย ผู้คนจึงขวนขวายที่อยากจะมีพื้นที่ในการทำกิจกรรมที่ผ่อนคลาย ซึ่งแนวคิดการออกแบบพื้นที่สาธารณะที่มีอยู่อย่างจำกัด และในพื้นที่กึ่งสาธารณะของเมือง เพื่อรองรับกิจกรรมเพื่อสังคม เป็นอีกหนึ่งโมเดลที่บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ร่วมกับ สภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) ได้เปิดเวทีในการประชันไอเดียการออกแบบพื้นที่สาธารณะของเมืองและพื้นที่กึ่งสาธารณะ ให้แก่เหล่านักเรียนและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วมประกวด ภายใต้โครงการประกวดผลงานออกแบบพื้นที่สาธารณะในหัวข้อ "MQDC Design Competition 2023 – RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention" เพื่อตอบโจทย์ต่อการใช้พื้นที่เมืองในอนาคตของคนเมืองยุคใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ กระตุ้นการท่องเที่ยว เสริมสร้างภาพลักษณ์ของเมือง และทำให้เกิดการพัฒนาย่านต่างๆ ด้วยสถาปัตยกรรมที่ตอบโจทย์การใช้งานจริง เปลี่ยนเมืองให้น่าอยู่อาศัยมากขึ้น
โดยการประกวดในครั้งนี้ได้ปักหมุดในพื้นที่ "สุขุมใต้" ซึ่งเป็นอีกย่านเศรษฐกิจใจกลางกรุงเทพฯ มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น มีทั้งโรงเรียน โรงแรม โรงพยาบาล คอนโด การเดินทางมีความสะดวก มีทั้งระบบขนส่งสาธารณะ รถไฟฟ้าที่ครอบคลุมเส่้นทางหลัก โดยเว็บไซต์ southsukhumvit ได้มีการสำรวจพื้นที่ย่านสุขุมวิทใต้ ในขอบเขตถนนสุขุมวิทตั้งแต่สถานี BTS อ่อนนุช-สถานี BTS บางนา ทอดยาวไปทางตะวันตกจนถึงขอบแม่น้ำเจ้าพระยา พบว่าพื้นที่ในย่านพระโขนง-บางนา มีศักยภาพติด 1 ใน 6 ย่านเศรษฐกิจศูนย์กลางเศรษฐกิจรองแห่งใหม่ (New-Sub-CBDs) ของกรุงเทพมหานคร จากการวิเคราะห์ ดัชนีเศรษฐกิจศูนย์กลางเมือง แต่ด้วยลักษณะของพื้นที่ที่เป็น ซอยลึกและตัน ซึ่งมีสัดส่วนพื้นที่เดินได้เพียง 8% จากพื้นที่ทั้งหมดย่านพระโขนง - บางนามีสัดส่วนถนนที่เป็นซอยตันกว่า 50%
ดังนั้นการออกแบบพื้นที่สาธารณะในสัดส่วนที่มีอยู่อย่างจำกัดและในพื้นที่กึ่งสาธารณะของเมือง เพื่อรองรับกิจกรรมเพื่อสังคม ซึ่งในปัจจุบันยังคงขาดวิธีการและการใช้พื้นที่ที่เหมาะสม โดยจะมีการดึงเอกลักษณ์ของพื้นที่และสร้างการมีส่วนร่วมกับคนในชุมชน โจทย์สำหรับการออกแบบพื้นที่สาธารณะของเมืองและพื้นที่กึ่งสาธารณะครั้งนี้ ตามแนวคิด RE-imagining Thai Social Space: City Festival as Design Intervention ก็คือ
1.การออกแบบสถาปัตยกรรม หรือการออกแบบองค์ประกอบใหม่ของพื้นที่ ให้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมและพฤติกรรมของชุมชน (Design Intervention) 2. การออกแบบกิจกรรม/งานเทศกาลชั่วคราวตามบริบทของพื้นที่ 3.การออกแบบที่สะท้อนเอกลักษณ์และความร่วมมือของพื้นที่ และ 4. การออกแบบที่สร้างบรรยากาศที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างความมีชีวิตชีวา และสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเมือง และสำหรับความต้องการด้านพื้นที่ แต่ละทีมต้องออกแบบผลงานที่ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่จัดกิจกรรม (Activities Area) พื้นที่เชิงพาณิชย์ (Commercial Area) และพื้นที่บริการ (Service) ในสัดส่วนที่สามารถกำหนดได้ตามความเหมาะสม
ผศ.ดร.รัฐพงษ์ อังกสิทธิ์ ผู้แทนประธานสภาคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย (CDAST) กล่าวว่าปัจจุบันเทรนด์ของการออกแบบเมืองทั่วโลกมุ่งให้ความสำคัญกับ Inclusive Place for City Festival หรือพื้นที่สาธารณะและพื้นที่กึ่งสาธารณะที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนเมือง พร้อมเปิดพื้นที่ให้คนทุกเพศทุกวัยสามารถเข้าถึงสถานที่จัดงานกิจกรรมได้อย่างเท่าเทียม ดังนั้นเราเชื่อว่า หัวใจสำคัญของการออกแบบพื้นที่สาธารณะและกึ่งสาธารณะสำหรับงานอีเวนต์และเทศกาลที่เป็นพื้นที่ของทุกคนอย่างแท้จริง ก็คือการเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำเสนอไอเดีย เพื่อให้ทุกคนได้ดีไซน์พื้นที่สร้างสรรค์ที่สามารถตอบโจทย์คนในวงกว้าง
ด้านไชยยง รัตนอังกูร หัวหน้าคณะที่ปรึกษา Creative Lab by MQDC ในฐานะผู้จัดทำการประกวดแบบ กล่าวว่า จุดเด่นของการประกวดแบบครั้งนี้ คือการหวังผลให้นำแบบมาใช้ได้ในพื้นที่จริง โจทย์ในการออกแบบจึงมีสเกลจากพื้นที่ต้นแบบจริง ซึ่งมีให้เลือก 2 กลุ่มคือ ผู้เข้าประกวดที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล จะใช้พื้นที่ในย่านสุขุมวิทตอนใต้ ได้แก่ 1. สำนักงานเขตพระโขนง 2. เพลินพระโขนง 3. ลานหน้าโรงเรียนวัดธรรมมงคล 4. 101 True Digital Park 5. Cloud 11 และ 6. Bitec Buri และผู้เข้าประกวดที่อยู่นอกเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล ให้ใช้พื้นที่สาธารณะของเมือง (Urban Public Space) เช่น ลานโล่งหน้าอาคารสำคัญ หรือพื้นที่ย่านเมืองเก่า เป็นต้น เพราะในย่านสุขุมวิทใต้ยังเป็นย่านที่มีภาพลักษณ์ยังไม่ค่อยชัดเจน ดังนั้นการศึกษาข้อมูลและนำเสนอตามหลักการออกแบบ การจัดงานในพื้นที่สาธารณะเป็นเรื่องที่ซับซ้อนที่ต้องมีการวางแผนบริหารจัดการจากทั้งนักออกแบบ ภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนในพื้นที่ เราจึงนำมาเป็นโจทย์ว่า ในฐานะนักออกแบบคิดว่า งานเทศกาลจะสร้างการเปลี่ยนแปลงกับเมืองและประเทศของเรา
“ผลงานในการประกวดของโครงการประกวดฯ ในปีนี้ เป็นการดึงความคิดของเด็กรุ่นใหม่ๆ ในมุมมองที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ทำให้เห็นถึงความสร้างสรรค์และไอเดียหลากหลาย โดยผลงานต่างๆ ที่ผู้เข้าประกวดได้ออกแบบในพื้นที่ย่านสุขุมวิทใต้ มีความมุ่งหวังว่าจะสร้างให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งก็มีการพิจารณาในแต่ละขั้นตอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องมีการมองถึงการพัฒนาต่อในพื้นที่ได้จริง ต้นทุน และการพูดคุยกับสำนักงานเขต ซึ่งก็มีความเห็นตรงกันว่าอยากจะมีการปรับพื้นที่ย่านพระโขนงให้เป็นพื้นที่ที่ทั้งชุมชนและผู้มาเยือนได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน และการลงพื้นที่พูดคุยกับคนในพื้นที่ในการที่จะออกแบบให้เป็นพื้นที่กิจกรรม จัดงานเทศกาลที่กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางสังคมและตอบโจทย์การใช้พื้นที่เมืองในอนาคต ” ไชยยง กล่าว
ด้านการประกวด มีผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายของการออกแบบพื้นที่สาธารณะในสัดส่วนที่มีอยู่อย่างจำกัดและในพื้นที่กึ่งสาธารณะทั้งหมด 20 ทีม จาก 1,222 ทีม แบ่งเป็นประเภทนิสิต/นักศึกษา จำนวน 10 ทีม และประเภทบุคคล-สถาปนิกหรือนักออกแบบทั่วไปจำนวน 10 ทีม สำหรับผู้ชนะประเภทนิสิต/นักศึกษา ได้แก่ ทีม A222 ผลงานลานละคร รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม A265 ผลงานอัสดงร่วมกัน รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม A112 ผลงานไทย-มู(ง) และผู้ชนะประเภทบุคคล-สถาปนิกหรือนักออกแบบทั่วไป ได้แก่ ทีม B124 ผลงานอ้อ-มา-กา-เสะ รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม B152 ผลงานรักล่องหน รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ทีม B106 ผลงาน Lumphun Art and Craft Festival ศิลปะ ทอเมือง
ชยพล สิทธิกรวรกุล นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตัวแทนทีม A222 ผลงานลานละคร เล่าว่า ผลงานลานละครจะเป็นเวทีในการทำกิจกรรม โดยใช้พื้นที่บริเวณวัดธรรมมงคล ด้วยการจัดเป็นงาน นิทรรศการ เพื่อให้ชุมชนและสังคมได้เห็นผลงานการออกแบบและคุ้นเคยกับสิ่งที่เพิ่งจะเริ่มต้น ก่อนจะขยายสเกลไปสู่เทศกาล โดยดึงคนมารวมตัวกันเพื่อทำการแสดง โดยจะมีทั้งนักแสดงรับเชิญมาเพื่อให้เป็นที่สนใจ ในพื้นที่มากขึ้น ราวกับการมาร่วมงานเหมือนกระทบไหล่ดารา ใช้ชีวิตร่วมกันในพื้นที่ลานละคร รวมถึงคนที่ต้องการจะแสดงความสามารถต่างๆในด้านการแสดงเช่น มุกตลก สีหน้าอารมณ์ เต้น ร้องเพลง เป็นต้น
“ลานละคร จะแบ่งออกเป็น 2 โซนพื้นที่ ได้แก่ โซนที่ 1 จัดเป็นพื้นที่ต้อนรับและจุดลงเบียนก่อนเข้างาน เป็นจุดแรกที่ทำให้คนเข้าใจความหมายและกระบวนการของงานผ่านการเล่าเรื่องราวด้วยสเปซและบริบทของตัวงานเอง และโซนที่ 2 จะเป็นพื้นที่จัดงานหลักของโปรเจคลานละคร ที่ประกอบไปด้วย พื้นที่กิจกรรม ร้านค้ามากมาย ซึ่งเป็นลานสาธาณะที่เปิดรับให้สามารถแสดงออกอย่างสร้างสรรค์โดยมีการควบคุมตัวเนื้อเรื่องในการดำเนินการผ่านนักแสดงหลักที่ผสานเข้ากับคนที่เข้ามายังงานได้แนบเนียน ก็หวังว่าผลงานนี้จะเป็นแรงกระเพื่อมแรง ที่ทำให้เมืองของเราสามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่สาธารณะได้อีกไม่มากก็น้อยในอนาคต” ชยพล เล่า
ศักดิธัช พิทักษ์กชกร ตัวแทนทีม B124 ผลงานอ้อ มากาเสะ เล่าว่า แรงบันดาลใจมาจากการสะท้อนถึงลักษณะหรือปัญหาต่างๆที่พบในย่านพระโขนง ปัญหาแรกคือเรื่องของปัญหารถติดที่ขึ้นชื่อ จากลักษณะของพื้นที่ที่มีซอยลึกซอยตันจํานวนมาก แม้จะเข้าถึงง่ายแต่ก็ไปต่อยาก เหตุนี้จึงทําให้วินมอเตอร์ไซค์กลายเป็นสิ่งจําเป็นคู่ย่านพระโขนง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนในย่าน ซึ่งพี่วินที่วิ่งขับมอเตอร์ไซค์ผ่านซอยเล็กซอยน้อยในทุกๆวัน เขาเหล่านี้จะกลายเป็นผู้รู้ ประจําย่าน เสมือน Google Map หรือ Wongnai ของย่าน เทศกาลนี้จึงดึงพี่วินให้มาทําหน้าที่เสมือนเชฟ ที่เป็นคนเลือกอาหารมื้อเด็ดให้กับเรา และในส่วนของพี่วินเองยังได้ลุ้นรับรางวัล หากร้านที่เค้าแนะนําได้รับโหวตเป็นร้านเด็ดของงาน
ศักดิธัช กล่าวอีกว่า โดยสถานที่จัดงานเทศกาลตั้งอยู่บนพื้นที่ของ Cloud 11 ซึ่งติดอยู่กับคลองบางอ้อ สมัยก่อนบริเวณนี้มีต้นอ้อขึ้นเป็นจํานวนมากจึงได้ยังเป็นเส้นทางสัญจรสําคัญ หากแต่ปัจจุบันกลับถูกทิ้งเป็นคลองเหงา เช่นเดียวกับคลองส่วนมากในกรุงเทพฯที่ถูกมองข้าม ดังนั้นหากเกิดการจัดเทศกาลนี้ที่ขึ้นจะทําให้พื้นที่ริมคลองกลับมาคึกคักอีกครั้ง เป็น community ของ Cloud 11 คล้ายเป็น hub รูปแบบใหม่ที่จะกลายมาเป็นศูนย์กลางในการเดินทางเข้าสู่ย่าน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
หักเหลี่ยมธรณีสงฆ์ | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2568
เผยเล่ห์...กม.กาสิโน | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2568
ทรัมป์มาแล้ว เศรษฐกิจโลกป่วน I เศรษฐกิจ in focus
เศรษฐกิจ in focus : วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568
นับหนึ่ง..กาสิโน | ห้องข่าวไทยโพสต์
ห้องข่าวไทยโพสต์ : วันจันทร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2568