'30@30' จุดพลุไทยศูนย์กลางผลิตรถEVในอาเซียน

ยานยนต์ไฟฟ้าหรือที่รู้จักเรียกกันย่อๆว่ารถ EV (Electric Vehicle) ถือว่าเป็นยานยนต์แห่งอนาคต ที่จะเข้ามาแทนที่รถที่ใช้การสันดาป และใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน  ในประเทศไทยรถอีวี กำลังมาแรง เห็นได้จากงานมอเตอร์โชว์ ที่เพิ่งจบไปไม่นาน ทุกค่ายผลิตรถล้วนนำเสนอ EV ชองค่ายตนเอง ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ในไทยเอง ก็มีการเคลื่อนไหวมีค่ายรถหลายแบรนด์มาตั้งโรงงานผลิตรถอีวี เนื่องจากรัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการใช้รถอีวีอย่างจริงจัง หลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะแรงจูงใจเรื่องภาษี ซึ่งทำให้รถอีวีที่นำเข้ามีราคาถูกลง  

ในภาควิขาการ ยังมีการประชุมเกี่ยวกับรถอีวี โดยบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมกับ International Council on Clean Transportation (ICCT) จึงได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการเมื่อเร็วๆนี้  เพื่อเผยแพร่ผลการศึกษาและการรับฟังความคิดเห็นภายใต้โครงการ “ANALYZING POLICIES AND MEASURES TO ACCELERATE IMPLEMENTATION OF ROAD TRANSPORT ELECTRIFICATION ROADMAP IN THAILAND” โดยจุดเน้นของการสัมมนาครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่การเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน Carbon Neutrality ภายในปี 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนเป็นศูนย์ หรือ Net Zero Emission ภายในปี 2065 ซึ่งรถอีวี จะเป็นส่วนหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญในการลดการปล่อยมลพิษ ทางอากาศ โดยเฉพาะก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และ ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx)  

รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล

รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืน มจธ. และที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึง นโยบายการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย เพื่อก้าวสู่ Carbon Neutrality” ว่า คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้อง  อาทิ กระทรวงพลังงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลัง จากการประชุมร่วมกันหลายครั้งได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าไว้ 3 ประเด็น ที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนในเรื่องนี้ คือ หนึ่งยานยนต์ไฟฟ้าช่วยแก้ปัญหามลพิษและปัญหาฝุ่น PM2.5  สองยานยนต์ไฟฟ้าช่วยให้ประสิทธิภาพการใช้รถยนต์สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสามโอกาสในการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ และกำหนดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก จึงกำหนดนโยบาย 30@30 คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือกลุ่มรถยนต์ที่ไร้มลพิษ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ในประเทศทั้งหมด หรือคิดเป็นกำลังการผลิตประมาณ 2 ล้านคัน ภายในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ. 2573  โดยเน้นกลุ่ม passenger car หรือรถยนต์ส่วนบุคคล รถมอเตอร์ไซค์ และรถปิกอัพ โดยคาดหวังว่า ในปีค.ศ. 2030 จะเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ถึง 50% เนื่องจากมีความหลากหลายมากขึ้นต่างจากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีรถยนต์นั่งไฟฟ้า 33 รุ่น 8 แบรนด์ 9 บริษัท และจะยังมีอีกหลายบริษัทเพิ่มขึ้นตามมา คาดว่าภายในปีหน้าจะเริ่มมีการผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นภายในประเทศมากขึ้นจากเดิมที่เป็นการนำเข้า

“ปัจจุบันถือเป็นช่วงเริ่มต้นของตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น จากตัวเลขการจดทะเบียนรถใหม่ในปีค.ศ. 2022 มีจำนวน 20,000 คัน อาจดูไม่มากนัก แต่เมื่อเทียบกับปีค.ศ. 2021 เป็นตัวเลขที่เติบโตสูงมากถึงร้อยละ 260 ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ส่วนบุคคล และเมื่อดูเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ปีค.ศ. 2021 มีจดทะเบียนเพียง 5,700 คัน ขณะที่ในปี 2022 เพิ่มขึ้นมากกว่า 20,000 คัน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรถยนต์ส่วนบุคคล จะเห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV มีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยส่วนตัวคาดว่าภายในปีนี้ รถ EV จะเติบโตไม่น้อยกว่า 50,000 คัน และจะขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นเดียวกับสถานีชาร์จ จากตัวเลขล่าสุด พบว่ามีสถานีชาร์จสาธารณะกระจายอยู่กว่า 2,000 จุด และจำนวนหัวชาร์จกว่า 3,000 จุด”

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์

ทางด้าน ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวยืนยันเช่นกันว่า  การตอบรับรถอีวีของไทยเป็นไปอย่างคึกคัก  เห็นได้จากปัจจุบันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หรือที่เรียกว่า BEV (Battery EV) ในประเทศไทย ถือเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มประเทศอาเซียน โดยหากมีรถ BEV วิ่งอยู่ 100 คัน บนถนนทั้ง 10 ประเทศในอาเซียน “จะมีถึง 60 คัน” ที่วิ่งอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีรถ BEV ใหม่ประมาณ 10,000 คัน แต่คาดว่าปี 2566 นี้จะไม่ต่ำกว่า 40,000 คันเลยทีเดียว

ในภาพรวมระดับโลก Mr. Francisco Posada Sanchez, Southeast Asia Regional Lead (ICCT) กล่าวว่า ในปี 2021 ยอดขายรถ EV ทั่วโลกมากกว่าปี 2020 เกือบเท่าตัว คิดเป็นส่วนแบ่งของตลาดรถ EV ในปี 2021 เท่ากับ ร้อยละ 8.3 โดยประเทศไทยเป็นผู้นำยอดขายรถ EV ในอาเซียน ถึงร้อยละ 0.4 ส่วนจีนมีความโดดเด่นเรื่องรถบัส EV โดยยอดรถใหม่ในปี 2022 เท่ากับ 138,000 คัน คาดว่า แนวโน้มการใช้รถ ในอีก 10 ปีข้างหน้า เฉพาะในยุโรปจะมียอดขายเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3  เป็นร้อยละ 11 และแนวโน้มราคารถ EV จะลดลง ในอีก 5 ปี

รศ. ดร. สาวิตรี การีเวทย์

การเติบโตของรถEVอย่างพุ่งพรวดของไทย รศ. ดร. สาวิตรี การีเวทย์ อาจารย์ประจำบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)  และหัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า  เป็นครั้งแรกที่ ICCT ให้การสนับสนุนรถ EVประเทศในกลุ่มอาเซียนICCT   ซึ่งปกติ ICCT จะให้การสนับสนุนประเทศยุโรป และอเมริกาใต้  โดยเฉพาะประเทศไทย  ICCT ให้การสนับสนุนเต็มที่ เนื่องจากเห็นว่า นโยบายในการสนับสนุนและขับเคลื่อนสู่ยานยนต์ไฟฟ้าของไทยได้จัดทำขึ้น โดยได้มีการพิจารณาแบบบูรณาการเกือบครบทุกด้านๆ มากกว่าประเทศอื่นในอาเซียนที่อยู่ในระหว่างการดำเนินการหรือเพิ่งริเริ่มจัดทำนโยบาย ในการวิจัยในโครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การศึกษานโยบายที่ผลักดันและเร่งการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับประเทศไทย โดยนำบทเรียนจากประเทศที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินการการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า มาปรับปรุงใช้ในบริบทของประเทศไทย

เปรียบเทียบนโยบายรถอีวี แต่ละประเทศ

 “ในปัจจุบัน ประเทศไทยมีนโยบายขับเคลื่อนการใช้ EV โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ไม่ว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 ของไทยที่จะพัฒนาไปสู่ความยั่งยืนด้วยการไม่สร้างหรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งสร้างอุตสาหกรรมใหม่ หรือนโยบาย 30@30 ด้านการผลิตและการใช้ ล้วนเป็นนโยบายสนับสนุนและเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการสร้างยานยนต์ไฟฟ้า”

ภาพรวมการใช้รถอีวี ของไทย

เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียนอื่นๆ ไม่ว่าเวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ รศ.ดร.สาวิตรี กล่าวว่า หากเปรียบเทียบนโยบายด้าน EV ของไทย กับ 4 ประเทศาเซียน  จากผลการศึกษาพบว่า นโยบายของไทยให้การสนับสนุนการใช้และการผลิต EV ชัดเจนที่สุด ทั้งเรื่องแรงจูงใจให้กับผู้ผลิตและผู้ใช้ และมาตรการด้านภาษี พร้อมทั้งมีความมุ่งมั่นกว่าประทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งอาจเพราะไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ในภูมิภาคจึงต้องการรักษาสถานภาพนี้ไว้ ขณะที่เวียดนามมีนโยบายลดภาษีเป็นศูนย์ที่เกี่ยวกับการนำเข้าชิ้นส่วนและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่ไม่มีในประเทศ ส่วนอินโดนีเซียยังอยู่ในช่วงวางแผนเรื่อง กฎระเบียบใหม่ (new regulations)  

ส่วนมาเลเซียยังเป็นเรื่องเป็นการจัดเตรียมนโยบายด้านภาษีเท่านั้น และฟิลิปปินส์ที่ถึงแม้จะมีกำหนดไว้ในกฎหมาย แต่ยังเป็นเพียงภาพกว้างๆ ที่ยังไม่ได้นำมาปฏิบัติ ส่งผลให้ไทยเป็นประเทศแรกในอาเซียน ที่คาดว่าจะไปสู่ 30@30 หรือการผลิตและการใช้รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในประเทศได้ ภายในปีค.ศ. 2030 นอกจากนี้ ผลการศึกษาในแง่การครอบครองยานยนต์ไฟฟ้าต่อประชากร เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้ พบว่า ในปัจจุบันการครอบครองยานยนต์ไฟฟ้าของไทยยังสูงกว่าเกาหลีใต้ รวมถึงการใช้และการผลิต

"ปัญหาอุปสรรคที่ท้าทาย  จากการศึกษาวิจัยพบว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในอาเซียน ยังห่วงเรื่องของราคา ภาษี  สถานีชาร์จ แบตเตอรี่ที่ยังมีราคาแพง และกังวลเรื่องของอายุการใช้งาน รวมถึงประเด็นแหล่งที่มาของการผลิตไฟฟ้าที่จะต้องผลิตด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งประเทศไทยเองได้มีการกำหนดในแผนการผลิตไฟฟ้าไว้ว่า ภายในปี 2023 ร้อยละ 50 ของการผลิตไฟฟ้าใหม่ หรือ new power generation จะต้องมาจากแหล่งพลังงานทางเลือก"

ขณะที  ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ จากDPU มองว่าไทยยังมีปัญหาหลักเรื่อง จำนวนสถานีชาร์จไฟฟ้าในช่วงต้นปี 2566 นี้ มีประมาณ 1,000 กว่าแห่งเท่านั้น ซึ่งราว ๆ 40% ตั้งอยู่ในกรุงเทพและปริมณฑล และส่วนมากหัวชาร์จตามสถานีจะมีแค่ 2 หรือ 3 หัวเท่านั้น หลายแห่งก็ไม่ใช่เครื่องชาร์จ DC แบบเร็ว ส่วนใหญ่จะเป็นหัวชาร์จ AC Type 2 ซึ่งชาร์จได้ช้ากว่า DC มาก การชาร์จแต่ละครั้งยังคงใช้เวลานาน ถ้ามีรถมาชาร์จหลายคันต้องต่อคิวรอ

"แม้รถ BEV ในปัจจุบันจะสามารถเดินทางได้ไกลกว่า 400 ถึง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จเต็ม แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นตัวกำหนดให้ระยะทางสั้นลงได้ การเปิดแอร์ ความเร็วในการขับ และน้ำหนักที่บรรทุก ทำให้ไปได้ไม่ไกลเท่าที่คิด นอกจากนี้คนใช้รถอีวี ยังกังวลเรื่องแบตเตอรี่ที่เมื่อเกิดปัญหาอาจมีค่าใช้จ่ายที่แพงมากหลายแสนบาท "ดร.ชัยพรกล่าว

ในฐานะสถาบันการศึกษา  ดร.ชัยพร กล่าวว่า   เทรนด์การใช้งานรถ EV ทุกประเภทในประเทศไทยจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  สิ่งสำคัญคือเราจำเป็นต้องมี คือ การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องรองรับการเติบโต ไม่ว่าจะเป็น โรงงานผู้ผลิต ศูนย์ให้บริการซ่อมบำรุงดูแลรักษาทั้งรถและสถานีชาร์จ การดัดแปลงรถเก่าให้เป็น EV รวมทั้งภาคการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยที่ต้องมีการผลิตบัณฑิตในสาขาที่เกี่ยวข้องเช่นกัน

"ตอนนี้บุคลากรทางด้านรถ EV ในประเทศไทยยังมีน้อย ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญแต่สาขาทางด้านยานยนต์แบบเดิม  ที่เป็นระบบเครื่องยนต์สันดาปภายใน อย่างการดัดแปลงรถยนต์เครื่องสันดาปมาเป็นรถ EV ที่นิยมทำกันมากในต่างประเทศ ไม่ใช่แค่การยกเครื่องยนต์ออกแล้วใส่มอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น รวมทั้งการที่ไทยเป็นที่ตั้งฐานการผลิตรถ EV ตรงนี้ก็ทำให้มีความต้องการบุคลากรจำนวนมาก ภาคการศึกษาต้องเร่งสร้างบุคลากรให้ตอบโจทย์และรองรับเทรนด์นี้ให้ทัน ซึ่งการใช้รถ EV ในเมืองไทย เรียกได้ว่ายังมีโอกาสโตขึ้นอีกมาก” ดร.ชัยพร กล่าว

------------------

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เน็กซ์‘ ปลื้มรถอีวีโตต่อเนื่อง ชี้ปี 66 กวาดรายได้ 9.3 พันล้านบาท

เน็กซ์‘ปลื้มรถอีวีโตต่อเนื่อง ดันผลประกอบการ NEX มีรายได้กว่า 9.3 พันล้านบาท มั่นใจปี 67 นโยบายรัฐสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ดันเป้าหมายรายได้ 2 หมื่นล้านบาท

'ภูมิธรรม' ถก 'ฉางอัน ออโตโมบิล' ใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

“ภูมิธรรม” หารือประธานฉางอัน ออโตโมบิล ชื่นชมความสำเร็จในการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ขอให้ช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทั้งการวิจัย พัฒนาชิ้นส่วนและอุปกรณ์ เชื่อมโยงอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ และพัฒนาบุคลากรไทย

ไทยผงาดกวาดตลาดอีวีเพิ่มขี้น 7 เท่ามากที่สุดในภูมิภาค ตั้งเป้าฐานผลิตท็อบเท็นของโลก

เลขาฯ บีโอไอ เผยตลาดอีวีไทยเพิ่มขึ้น 7 เท่ามากสุดในภูมิภาค ตั้งเป้า 4 ปี ดึงบริษัทชั้นนำไม่น้อยกว่า 100 แห่งลงทุนในไทย

สุริยะ ขานรับนายกฯ สั่งหน่วยงานคมนาคมเปลี่ยนไปใช้รถอีวี

“สุริยะ” เด้งรับข้อสั่งการนายกฯ สั่งหน่วยงานคมนาคม ลุยเปลี่ยน “รถยนต์สันดาป” หมดสัญญาเช่า เป็น “รถยนต์ EV” จี้เร่งสรุปรายละเอียดเสนอกระทรวงฯ โดยเร็วที่สุด หวังร่วมลดปัญหามลภาวะฝุ่นละออง PM 2.5 ชี้พิจารณาให้เหมาะสมกับการใช้งาน สอดคล้องเป้าหมายใช้รถยนต์ EV เพิ่มขึ้น 30% ภายในปี 73

สลีค อีวี แบรนด์มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ามาแรง เปิดแผนเพิ่มกำลังการผลิต 200% ตั้งเป้าเทียบชั้นเจ้าตลาด

สลีค อีวี (SLEEK EV) ผู้นำเทคโนโลยีมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รับยอดขายมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเติบโตหนุนปัจจัยด้านพลังงานทางเลือก ตั้งเป้าขยายธุรกิจตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่มีมากขึ้น