30พ.ย.2564 – นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงข้อมูลจากกระบวนการประเมินแบบเร่งด่วน (Rapid Appraisal) ครั้งที่ 3 หลังเปิดให้มีการจัดการเรียนการสอนแบบ On Site ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน ว่า ขณะนี้มีโรงเรียนส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 71 สามารถเปิดเรียนแบบ On Site ร้อยละ 50 ขึ้นไปของเวลาเรียนได้ ซึ่งผู้เรียนจากการเรียนแบบ On Site ส่วนใหญ่มีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียน การเอาใจใส่ต่อการเรียน และความรับผิดชอบในการเรียนเพิ่มมากขึ้น สำหรับด้านสุขภาวะทางร่างกายและจิตใจ ผู้เรียนส่วนใหญ่มีสุขภาพทางสายตาที่ดีและมีความสุขในการเรียนเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน รวมทั้งในด้านทักษะทางสังคม ผู้เรียนส่วนใหญ่สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดีเพิ่มมากขึ้น สำหรับปัญหาของการเปิดเรียนแบบ On Site ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังคงพบปัญหาในเรื่องของการขาดแคลนหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ไม่เพียงพอ และการขาดแคลนชุดตรวจ ATK ที่มีจำนวนจำกัด จึงทำให้ต้องใช้วิธีสุ่มตรวจ ตลอดจนปัญหาในเรื่องการเดินทางมาโรงเรียนที่ยังคงมีความแออัดของรถสาธารณะ จึงส่งผลให้ผู้ปกครองเกิดความวิตกกังวลและทำให้ผู้เรียนไม่สามารถมาโรงเรียนได้อย่างต่อเนื่อง
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า สำหรับความต้องการของผู้เรียนที่มีต่อการเปิดเรียนแบบ On Site ส่วนใหญ่กว่า ร้อยละ 94 ต้องการให้เปิดเรียนแบบ On Site เนื่องจากมีความสุขและสนุกในการทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนและเข้าใจเนื้อหาการเรียนจากครูผู้สอนมากขึ้น โดยผู้เรียนส่วนมากต้องการให้มีการสลับวันมาเรียนเพื่อลดจำนวนเพื่อนร่วมชั้นและจัดห้องเรียนโดยเว้นระยะห่าง ตลอดจนให้ลดการจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่ม และผู้ปกครองส่วนใหญ่มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด โดยต้องการให้เปิดเรียนแบบ On Site เป็นจำนวน ร้อยละ 94 เพราะต้องการให้บุตรหลานได้เรียนรู้อย่างเต็มที่และได้ลงมือปฏิบัติจริง เพื่อลดภาระผู้ปกครองที่ต้องดูแลบุตรหลานในการเรียน Online แต่ยังคงมีความกังวลในเรื่องของการดูแลตนเองของบุตรหลาน การเตรียมมาตรการป้องกันโควิด-19 ของสถานศึกษา รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการซื้ออุปกรณ์ป้องกัน โควิด-19 เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ครูส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 93 ต้องการให้เปิดเรียนแบบ On Site โดยมองว่า ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่และลงมือปฏิบัติได้จริง และครูสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างครบถ้วนตามหลักสูตร สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนได้ แต่ยังคงมีปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของผู้เรียนมาเรียนไม่ครบชั้นจึงทำให้ต้องมีการจัดการเรียนการสอนหลายรูปแบบ รวมถึงการรับวัคซีนของนักเรียนบางส่วนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนครบ 100% จึงส่งผลให้ครูผู้สอนต้องดูแลผู้เรียนมากขึ้น ทั้งเรื่องการเรียนการสอนและการป้องกันโควิด-19 ทั้งนี้ เมื่อเปิดเรียนแบบ On Site ครูส่วนใหญ่คิดว่า มีแนวทางการจัดการเรียนการสอนให้ผู้เรียนมีความสุขและปลอดภัย โดยจัดกิจกรรมกลุ่มโดยลดจำนวนผู้เรียนในกลุ่มลง การลดการบ้านของผู้เรียน รวมถึงการสื่อสารกับผู้ปกครองและชุมชนอย่างสม่ำเสมอ เรื่องการป้องกันโควิด-19 ซึ่งการเปิดเรียนต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด
“ขณะนี้ดิฉันได้รับทราบข้อมูลตามโครงการการประเมินแบบเร่งด่วน ครั้งที่ 3 จากอาสาสมัครครูนักประเมิน หรือRapid Appraisal Volunteer : RAV ที่ได้สะท้อนความต้องการ ความพร้อม และความกังวลต่อการเปิดเรียนแบบ On Site ของนักเรียน ครู และผู้ปกครอง ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผู้เรียนมีสุขภาวะทางด้านร่างกายและจิตใจเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผู้ปกครองที่เห็นด้วยว่าการเปิดเรียนแบบ On Site ช่วยให้บุตรหลานสามารถเรียนได้อย่างเต็มที่ เช่นเดียวกันกับครูที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนได้มากยิ่งขึ้น”
รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ประเมินยังมีความกังวลในด้านความปลอดภัยต่อโควิด-19 ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะต้องเน้นย้ำให้ทุกโรงเรียนที่มีการเปิดการเรียนแบบ On Site ต้องดำเนินการตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความปลอดภัยแก่ผู้เรียน และสร้างความเชื่อมั่นกับพ่อแม่ผู้ปกครอง
“ทั้งนี้ ขอขอบคุณอาสาสมัครครูนักประเมินทุกท่านที่ได้เสียสละเวลาและร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการศึกษาร่วมกัน โดยหลังจากนี้ จะนำข้อมูลที่ได้รับไปวางแผนการจัดการเรียนแบบ On Site ในโรงเรียนอย่างปลอดภัยและการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพด้วยความรอบคอบที่สุดต่อไป” รมว.ศธ. กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ป.ป.ช. เปิดกรุสมบัติ 'อิทธิพล-ตรีนุช' กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายอิทธิพล คุณปลื้ม กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม โดยนายอิทธิพล แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 81,162,381 บาท มีหนี้สินทั้งหมด 543,016 บาท
ตอกหน้า! ‘ตรีนุช’ บอกสพฐ.ไฟเขียวยืดหยุ่นชุดลูกเสือ-เนตรนารี ตั้งแต่กลางปี65
โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ได้มีการยืดหยุ่นการแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
พระเอกมา ‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผม ขู่ ลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ
‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผมกว่าร้อยคนจนแหว่งและเสียทรง ตั้งคำถามว่า ‘ทรงผม’ เกี่ยวอย่างไรกับการเรียนรู้ ชูนโยบายก้าวไกล กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีมาตรการลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ