30 พ.ย.2564- นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ศูนย์เซลล์ต้นกำเนิดและเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม เป็นหน่วยงานสังกัดกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ดำเนินการวิจัยและพัฒนางานด้านเซลล์ต้นกำเนิดครบวงจร เพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยทางคลินิกมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2549 โดยมีอาคารปฏิบัติการเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cells laboratory) ที่มีความพร้อมในการจัดเตรียมและเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดตามมาตรฐานสากล GMP และมีการนำเซลล์ไปศึกษาวิจัย ทางคลินิกร่วมกับสถาบันอื่นๆ จึงเป็นแม่แบบในการเพาะเลี้ยงเซลล์ต้นกำเนิดที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ สำหรับความร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของกระบวนการผลิต คุณลักษณะทางเคมีและทางกายภาพของสารละลายไฟโบรอินไหมไทย ภายใต้มาตรฐานระบบบริหารคุณภาพกระบวนการผลิตเครื่องมือแพทย์ ISO 13485 : 2016 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นมีคุณภาพที่เหมาะสม ปราศจากการปนเปื้อนและปลอดภัย ซึ่งผลจากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ได้มีคุณสมบัติที่เหมาะสม โดยปราศจากการปนเปื้อนสารเอนโดท็อกซินและเชื้อจุลชีพ ส่วนคุณลักษณะทางเคมีและทางกายภาพ พบว่า ได้โปรตีนบริสุทธิ์มากกว่า 99.9%
ศ.ดร.อนงค์นาฏ สมหวังธนโรจน์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทีมนักวิจัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำทีมโดย รศ.ดร.โศรดา กนกพานนท์ ได้วิจัยและพัฒนาการใช้ ไฟโบรอินไหมไทยเพื่องานทางการแพทย์และสุขภาพมาอย่างต่อเนื่องกว่า 12 ปี ด้วยวิธีการเตรียมสารละลายไฟโบรอิน จากรังไหมไทยแท้ สายพันธุ์นางน้อยศรีสะเกษ 1 ที่ได้รับความร่วมมือในการผลิตและเลี้ยงไหมแบบควบคุม โดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (นครราชสีมา) กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนำมาสกัดเป็นโปรตีนไฟโบรอินไหมบริสุทธิ์ 99.9% ที่สะอาดปลอดเชื้อและสารเอนโดท็อกซิน สามารถนำไปใช้ในการผลิตวัสดุทางการแพทย์ เภสัชกรรม และเครื่องสำอาง อาทิ อนุภาคกระดูกเทียม แผ่นไหมปิดแผลสมานเซลล์ผิวหนังให้แผลหายเร็ว ผิวหนังเทียม รวมถึงการพัฒนาระบบนำส่งยาที่สามารถควบคุมการปลดปล่อยของยาหรือสารออกฤทธิ์ ในปริมาณและระยะเวลาที่กำหนด จุดเด่นของผลิตภัณฑ์นี้ คือ เป็นโปรตีนธรรมชาติที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเป็นมิตร ต่อร่างกาย สามารถย่อยสลายได้ในร่างกาย มีความแข็งแรงคงตัวมากกว่าโปรตีนชนิดอื่น เช่น คอลลาเจน เจลาติน เป็นต้น ที่สำคัญผลิตภัณฑ์นี้ถือว่าเป็นวัตถุดิบต้นน้ำ สำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์เกรดสูงที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ และพัฒนาโดยทีมนักวิจัยไทย
“ปัจจุบันทีมนักวิจัยจาก 2 หน่วยงานมีความพร้อมในการต่อยอดงานวิจัย สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์อนุภาคกระดูกเทียมแบบหลายหน้าที่ (multi-functional bone substitute) จากโปรตีนไหมไทยและแคลเซียมฟอสเฟต ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการด้านการผลิต รวมถึงการทดสอบความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล เพื่อเข้าสู่การรับรองและการศึกษาวิจัย ทางคลินิกในลำดับต่อไป การผลิตผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์นี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลผู้ป่วย ลดค่าใช้จ่ายในการนำเข้าสินค้าราคาแพงจากต่างประเทศ เพิ่มโอกาสให้กับผู้ป่วยในการเข้าถึง การรักษาพยาบาล ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพให้กับประชาชนไทยแล้วยังเป็นการยกระดับ และสร้างมูลค่าให้กับรังไหมไทย ซึ่งเป็นผลผลิตทางการเกษตรของไทยสู่อุตสาหกรรมการแพทย์อีกด้วย” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จุฬาฯ จับมือกรม Climate Change และเครือข่ายพันธมิตรภาคเอกชน เปิดตัวหลักสูตร “TOP Green” หลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้าน Sustainability
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ UN Global Compact Network Thailand
จุฬาฯ “เปิดแพลตฟอร์ม ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” นวัตกรรมเตือนพื้นที่น้ำท่วมและแนวดินถล่มจากอุทกภัย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 25 เรื่อง “แพลตฟอร์มจุฬาฯ ฝ่าพิบัติ: Digital War Room” เพื่อนำเสนอนวัตกรรมจากคณาจารย์นักวิจัยจุฬาฯ
จุฬาฯ อันดับ 1 มหาวิทยาลัยไทย Top ของประเทศ 3 ด้าน จากการจัดอันดับโดย THE WUR 2025
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของไทย จากการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในโลกโดย The Times Higher Education World University Rankings 2025 (THE WUR 2025) จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วโลกที่ได้รับการจัดอันดับกว่า 2,000 แห่ง กว่า 115 ประเทศ