แม้ไม่ใช่กีฬา แต่วันนี้ คนไทยคงต้องร่วมให้กำลังใจเชียร์ ทีม “กีฏะ” หรือ KEETA ทีมที่มีดีกรีความสามารถระดับโลกจนก้าวเข้าสู่รอบ 9 ทีมสุดท้าย จากการแข่งขันกับอีกกว่า 300 ทีมทั่วโลกบนเวทีโครงการพัฒนาระบบผลิตอาหารอัตโนมัติและครบวงจรสำหรับนักบินอวกาศ หรือ Deep Space Food Challenge ที่จัดโดยองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA) และองค์การอวกาศแคนาดา (Canadian Space Agency)
ดร.โพธิวัฒน์ งามขจรวิวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งทีมกีฏะ เล่าว่า การแข่งขัน Deep Space Food Challenge เป็นการแข่งขันเพื่อแก้ปัญหา 100 ปีของ NASA เนื่องจากช่วง 100 ปีที่ผ่านมา แม้วิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะก้าวหน้าไปแค่ไหน แต่ปัญหาหลักที่ยังคงอยู่เสมอ คือ การผลิตอาหารให้เพียงพอสำหรับมนุษย์ที่ขึ้นไปสำรวจและใช้ชีวิตบนอวกาศ ครั้งนี้ NASA ให้โจทย์สำหรับการผลิตอาหารให้นักบินอวกาศ 4 คน ระยะเวลา 3 ปี
“ผมและ ดร.วเรศ จันทร์เจริญ ผู้ร่วมก่อตั้งทีมอีกคนหนึ่ง เราทำงานวิจัยด้านอวกาศกันมาเป็นระยะอยู่แล้ว พอมีการแข่งขันนี้ ก็คุยกันถึงการต่อยอดจากเรื่องที่มีองค์ความรู้อยู่ อย่างเรื่อง 3D Food Printer เพื่อนำมาเป็นเครื่องปรินท์อาหารบนอวกาศ หากเอามาประกอบกับวัตถุดิบที่เหมาะสม น่าจะตอบโจทย์การแก้ปัญหานี้ได้ เรา 2 คน และน้องๆ นิสิตฝึกงานที่ Space Zab สตาร์ทอัพวิจัยด้านอวกาศของ ดร.วเรศ จึงเริ่มต้นสร้างทีมร่วมมือกันแก้โจทย์นี้ ก่อนจะได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานและขยายมาสู่ทีมที่รวมตัวกันจากนักวิจัยสหสถาบัน” ดร.โพธิวัฒน์ กล่าว
วัตถุดิบหลักสำหรับการนำมาเป็นอาหารที่ทีมนึกถึงคือ หนอนแมลง ดร โพธิวัฒน์ บอกว่า เนื่องจากเป็นอาหารที่คนไทยนิยมทานอยู่แล้ว มีรสชาติอร่อย มีคุณค่าทางอาหารสูง และเป็นสิ่งมีชีวิตที่ขยายพันธุ์ได้อย่างต่อเนื่องครั้งละจำนวนมาก ทีมค่อยๆ ตัดช้อยส์แมลงชนิดต่างๆ ลงมาเรื่อยๆ จนเป็นหนอนด้วงสาคู ซึ่งเป็นแมลงที่ปลอดภัย ไม่มีผลกระทบเรื่องเสียงหรือการบินในอวกาศ แน่นอนว่าการเลือกวัตถุดิบเป็นแมลง ส่งผลให้ทีมตั้งชื่อว่า “กีฏะ” ซึ่งแปลว่าแมลง
เมื่อต้องคิดระบบผลิตอาหารสำหรับการใช้ชีวิต 3 ปี สิ่งที่ทีมมองว่าจำเป็น คือการสร้าง “ระบบนิเวศ” ที่ทำให้สามารถผลิตอาหารได้อย่างต่อเนื่อง ยั่งยืน และใช้พื้นที่น้อยที่สุด เพื่อให้สามารถขนส่งระบบไปดำเนินการบนอวกาศได้จริง ทีมจึงออกแบบระบบนิเวศให้มี 3 ส่วนประกอบกัน ได้แก่ 1.ระบบเพาะปลูกพืช เพื่อเป็นอาหารให้กับแมลง 2.ระบบปศุสัตว์แมลง เพื่อเพาะเลี้ยงแมลง และนำมูลของแมลงไปเป็นปุ๋ยเพาะปลูกพืช 3.ระบบผลิตอาหาร นำแมลงมาผ่านกระบวนการผลิตอาหาร พิมพ์ออกมาผ่าน 3D Food Printer ในตู้กดอาหารอัตโนมัติ เป็นเมนูหน้าตาคล้ายนักเก็ต จำนวน 1-2 เมนู โดยทั้ง 3 ระบบดำเนินการในพื้นที่ประมาณ 30 ตร.ม. หรือประมาณพื้นที่คอนโดมิเนียมหนึ่งห้อง
ดร.โพธิวัฒน์ บอกอีกว่า เป้าหมายสูงสุดของทีม คือการคว้าชัยชนะบนเวทีนี้ เพราะจะเป็นก้าวสำคัญพาไทยขึ้นแท่นผู้นำในเศรษฐกิจอวกาศแบบใหม่ (New Space Economy) ตอบโจทย์การผลิตอาหารอวกาศ เพื่อหลากธุรกิจใหม่ที่ทยอยเกิดขึ้นแล้ว ทั้งการท่องเที่ยวอวกาศ การทำเหมืองในอวกาศ หรือแม้กระทั่งการขึ้นไปใช้ชีวิตจริงบนดาวต่างๆ
“หากเราไปแข่งผลิตจรวด เรายังมีเรื่องต้องทำอีกมาก และทุ่มเงินอีกหลายพันล้าน แต่วันนี้เราเลือกแข่งด้านที่ไทยมีจุดแข็ง มีคู่แข่งน้อย สิ่งที่เราทำก็ถือว่าแปลกใหม่ ต่างจากที่อาหารอวกาศยุคก่อนต้องเป็นแคปซูล หรือผลิตด้วยระบบฟรีซดราย หากได้รับแรงสนับสนุนที่ดีจากทุกภาคส่วน ก็อาจทำให้ไทยกลายเป็นผู้นำธุรกิจอาหารอวกาศของโลก”
ด้าน สิทธิพล คูเสริมมิตร หรือ ตุลย์ บัณฑิตจบใหม่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมอากาศยาน (หลักสูตรนานาชาติ) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในสมาชิกทีมกีฏะ เสริมว่า ผลงานดังกล่าว จะไม่เป็นเพียงผลงานที่เป็นประโยชน์กับการใช้ชีวิตบนอวกาศเท่านั้น แต่ยังสามารถมาประยุกต์ใช้กับการผลิตอาหารเพื่อพื้นที่ทุรกันดารที่ขาดแคลนอาหารบนโลกได้ด้วย โดยโจทย์ของ NASA เอง ก็ต้องการให้โครงการของผู้เข้าแข่งขัน ช่วยแก้ปัญหาบนโลกได้ด้วย
“เรากำลังทำเรื่องที่ไม่เคยมีมาก่อน เรื่องที่ต้องรวมพลังคนหลากหลายกลุ่ม ทั้งวิศวกร หมอ นักวิทยาศาสตร์ มาทำงานร่วมกัน และเรื่องที่เป็นโอกาสผลักดันจุดเด่นของไทยจากครัวโลก สู่ครัวอวกาศ เราจะทำเต็มที่ และอยากให้ทุกคนร่วมสนับสนุน และเป็นกำลังใจให้ด้วย” สิทธิพล ย้ำ
ด้าน ดร.ธันยวัต สมใจทวีพร ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี PIM กล่าวว่า โครงการด้านอาหารอวกาศของทีมกีฏะ ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งประเทศไทยและมวลมนุษยชาติ กลุ่มบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะองค์กรที่มุ่งมั่นในปณิธาน “ร่วมสร้างสรรค์และแบ่งปันโอกาสต่อกัน” รวมถึงมีความเชี่ยวชาญด้านอาหารและเทคโนโลยีอยู่แล้ว จึงได้เข้ามาสนับสนุนทีมกีฏะใน 3 ด้าน ได้แก่ 1.ทุนการดำเนินงานตลอดทั้งโครงการ 2.องค์ความรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี 4 ด้าน ได้แก่ การเพาะปลูก การกำจัดของเสีย การเพาะเลี้ยงแมลง และการผลิตอาหาร 3.บุคลากรจากหลากหลายด้าน ทั้งจากบริษัท ซีพีแรม จำกัด และคณะต่างๆ ใน PIM
“การแข่งขัน Deep Space Food Challenge มีเกณฑ์การให้คะแนนหลากหลายด้าน เรานำองค์ความรู้และบุคลากรที่เรามี ทั้งด้านระบบอัตโนมัติ ระบบวิศวกรรมหุ่นยนต์ มาตรฐานความปลอดภัยอาหาร การปลูกพืชแบบไฮโดรโปนิกส์ เข้ามาช่วยเสริมแกร่งและเพิ่มคะแนนด้านต่างๆ ของทีมให้สูงขึ้น ผ่านโนว์ฮาวของเครือที่ซีพีแรมก็ผลิตอาหารกลุ่ม Ready to eat มากกว่า 2.9 ล้านแพ็คต่อวัน”
สำหรับการแข่งขัน Deep Space Food Challenge แบ่งออกเป็น 3 เฟสหลัก ได้แก่ เฟสที่ 1 การออกแบบเชิงคอนเซ็ปต์ (Conceptual Design) คัดเลือกเหลือเพียง 10 ทีม แข่งขันเสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 เฟสที่ 2 การสาธิตครัวอวกาศ (Kitchen Demonstration) แบ่งเป็น 5 ช่วงย่อย โดยในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ ทีมที่ยังเหลืออยู่ทุกทีมจะต้องนำส่งรายงานความคืบหน้าโครงการ พร้อมวิดีโอสรุป และจะคัดเหลือเพียง 5 ทีมสุดท้ายที่ทาง NASA จะบินเดินทางมาดูด้วยตัวเองในช่วงต้นปี 2566
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นาซา' นำเครื่องบินเก็บตัวอย่างอากาศเหนือน่านฟ้าไทย แก้ฝุ่นพิษในระยะยาว
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.)(NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ร่วม NASA ศึกษาปัญหามลภาวะอากาศในไทย ภายใต้โครงการ Airborne and Satellite Investigation of Asian Air Quality หรือ ASIA-AQ เก็บตัวอย่างอากาศเหนือน่านฟ้าไทย
ครั้งแรกกับหนังอวกาศไทย 'ยูเรนัส2324' ทุ่มทุนสร้างยาน-สถานีอวกาศเท่าของจริง!
เรียกเสียงฮือฮาให้กับแวดวงอุตสาหกรรมหนังไทยไม่น้อย เมื่อได้เห็นภาพยานอวกาศและสถานีอวกาศขนาดเสมือนจริงของภาพยนตร์ “URANUS2324” (ยูเรนัส2324) ที่นำแสดงโดย 2 นักแสดงหญิงสุดฮอต “ฟรีน-สโรชา จันทร์กิมฮะ” และ “เบคกี้-รีเบคก้า แพทริเซีย อาร์มสตรอง” ผลงานมาสเตอร์พีซโดยบริษัท เวลเคิร์ฟ สตูดิโอ กับการทุ่มทุนสร้างโปรดักชันฟอร์มยักษ์ที่สุดแห่งปี เพื่อถ่ายทำซีนบนยานอวกาศและสถานีอวกาศอย่างสมจริง