หนุนวัด 3,000 แห่งทั่วประเทศ ปลอดบุหรี่

เมื่อปี 2559 กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการตรวจคัดกรองสุขภาพของพระสงฆ์สามเณรทั่วประเทศ รวม 122,680 ราย พบว่าพระสงฆ์เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง คือ โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรค คือ การสูบบุหรี่ บริโภคอาหารไม่เหมาะสม มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ดังกล่าวข้างต้น จึงนำไปสู่การแก้ปัญหาด้านสุขภาวะของพระสงฆ์ รวมไปถึงการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคดังกล่าวด้วย

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล็งเห็นความสำคัญและมีความห่วงใยต่อสุขภาพของพระสงฆ์ผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา จึงจัดให้มีโครงการ วัดปลอดบุหรี่ สร้างชีวีด้วยหลักธรรม นำสู่สุขภาวะชุมชน โดยมุ่งหวังรณรงค์ให้พระสงฆ์เลิกบุหรี่ อันเป็นสาเหตุหนึ่งของโรคเรื้อรัง และเพื่อสุขภาพที่แข็งแรง เป็นแบบอย่างที่ดีรวมถึงการสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่แก่เด็กและเยาวชน โดยที่ จ.เชียงใหม่ มี วัดสวนดอก เป็นอีกหนึ่งวัดต้นแบบปลอดบุหรี่ที่มีความเข้มแข็ง จากการดำเนินโครงการทั้งภายในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ และโรงเรียนพระปริยัติธรรมสาธิต “บาลีสาธิตศึกษา”

นายธวัชชัย จันจุฬา ผู้ประสานงานโครงการ “วัดปลอดบุหรี่ สร้างชีวีด้วยหลักธรรม นำสู่สุขภาวะชุมชน” กล่าวว่า โครงการนี้ได้ดำเนินการในทั่วประเทศ 17 จังหวัด มีกิจกรรมขับเคลื่อนนโยบายให้ความรู้พระสงฆ์ด้าน พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยได้ดำเนินการไปแล้ว 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง น่าน แพร่ ลำพูน สุโขทัย ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ มีวัดที่เข้าร่วมในโครงการฯ จำนวน 1,850 แห่ง โดยในแต่ละจังหวัดเกิดการประกาศนโยบายชัดเจนเกี่ยวกับการทำให้วัดเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่ตามกฎหมายกำหนด

นอกจากนี้ ยังมีการเฝ้าระวังการกระทำความผิด โดยพระคิลานุปัฏฐาก ซึ่งเป็นพระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) ทำหน้าที่รณรงค์ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ ส่งเสริมสุขภาวะพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และประชาชนทั่วไป โดยหากพบว่ามีพระสงฆ์ที่ละเมิดการกระทำความผิด ก็จะรายงานให้พระผู้ปกครองในระดับสูงทราบ และให้การช่วยเหลือพระสงฆ์ที่อยากเลิกบุหรี่ส่งต่อให้สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เป็นผู้ติดตามช่วยเหลือและสนับสนุนให้พระสงฆ์เลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร นอกจากนี้ สสส. ยังจัดกิจกรรมเชิญชวน ญาติโยม และพระสงฆ์ที่สูบบุหรี่ ลงนามอธิษฐานจิตเลิกเหล้า บุหรี่ โดยจะมีวัดที่เข้าร่วมโครงการฯ เป็นผู้เชิญชวนให้ญาติโยมลงนามอธิฐานจิต 1 รูป ต่อ 3 คน และรวบรวมส่งรายชื่อทั้งหมดให้กับสายด่วนเลิกบุหรี่เพื่อติดตาม และช่วยให้เลิกบุหรี่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรายชื่อแต่ละจังหวัดเพื่อจัดทำข้อมูลลงในระบบ

“ความท้าทายแรกของการทำงาน คือ การสร้างความเชื่อและทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ เพราะเมื่อก่อนพระสงฆ์ท่านคิดว่าการสูบบุหรี่ไม่ผิด และที่สำคัญพระท่านไม่ทราบว่าการสูบบุหรี่นำไปสู่เรื่องของการเจ็บป่วยด้วย จนเราไปสำรวจในวัด พบสัดส่วนของพระที่สูบบุหรี่ค่อนข้างมาก จึงนำมาสู่การดำเนินโครงการวัดปลอดบุหรี่ขึ้นในตอนนั้น โครงการของเราไม่ได้ทำแค่วัด แต่ยังขยายไปในโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย ซึ่งตอนนี้มีประมาณ 26 แห่ง” นายธวัชชัย กล่าว

ผู้ประสานงานโครงการฯ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันรูปแบบของบุหรี่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะบุหรี่ไฟฟ้า ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่มาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ปากกา Liquid paper ฯลฯ จึงเป็นเรื่องใหม่สำหรับพระผู้ใหญ่ซึ่งต่างบอกว่าต้องปรับตัวและศึกษาข้อมูลตามให้ทันเทคโนโลยีเพื่อหาแนวทางป้องกันในเรื่องนี้

ด้าน พระวิสิทธิ์ ฐิตวิสิทโธ, ผศ.ดร. อาจารย์ประจำ มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการวัดปลอดบุหรี่ฯ กล่าวว่า ก่อนจะมาถึงวัดปลอดบุหรี่ ได้ดำเนินโครงการมหาวิทยาลัยปลอดบุหรี่ ใน มจร.วิทยาเขตเชียงใหม่ก่อน และขยายมายังโรงเรียนพระปริยัติธรรม แต่เมื่อพระสงฆ์และสามเณรเรียนจบไปแล้วก็ต้องกลับสู่วัดของตนเอง ดังนั้น จึงขยายมาทำโครงการวัดปลอดบุหรี่ด้วย ขณะเดียวกันมหาเถรสมาคม ก็ให้ความสำคัญในการใช้วัดเป็นฐานในการเชิญชวนคนลดละเลิกอบายมุขและปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะมิติที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยวัดต้องเป็นต้นแบบที่ดีของคนในชุมชน อย่างไรก็ดี ทุกคนต้องมองเห็นปัญหาร่วมกัน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ต้องร่วมกันในการทำพื้นที่ชุมชนของตนให้ปลอดจากสิ่งเหล่านี้ และญาติโยมต้องร่วมสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการสูบบุหรี่ของพระสงฆ์ เช่น การไม่ถวายบุหรี่

อีกกลไกที่สำคัญ คือ พระคิลานุปัฏฐาก หรือ พระอาสาสมัครส่งเสริมสุขภาพประจำวัด (อสว.) เป็นอีกหนึ่งบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในการทำงานรณรงค์ให้วัดปลอดบุหรี่ โดย 1 วัดจะมีพระคิลานุปัฏฐาก 1 รูป เดิมพระคิลานุปัฏฐาก มี จำนวน 9,000 กว่ารูปทั่วประเทศ แต่บางรูปได้ลาสิขาไป ปัจจุบันเหลืออยู่ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจไม่เพียงพอต่อการดูแลกรณีหากต้องดูแลพระสงฆ์อาพาธ ดังนั้น มติของมหาเถรสมาคมจึงมีนโยบายให้มีพระบริบาล 1 รูป ต่อ 1 วัด เพื่อมาช่วยงานพระคิลานุปัฏฐาก

“สิ่งสำคัญคือต้องสร้างความตระหนักในเรื่องของผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การมีส่วนร่วม เช่น ถ้าเรามีข้อมูลชุดหนึ่ง อาทิ ข้อมูลจังหวัดเชียงใหม่มีพระสูบบุหรี่กี่รูป เราจะประมาณการปัญหาพระป่วยได้ว่ากี่รูป คณะสงฆ์จะช่วยกันดูแลอย่างไร พระอาจารย์มองว่าปัญหาแบบนี้จะมากขึ้นเพราะเราเป็นสังคมผู้สูงอายุ พระสงฆ์ที่มีอายุมากจะล้มป่วยเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ พอกลับจากโรงพยาบาลมาที่วัดก็จะไม่มีคนดูแล ปัญหาตรงนี้ก็จะวนกลับมา”พระวิสิทธิ์ กล่าว

พระวิสิทธิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การคุมเข้มเฉพาะบ้านวัดโรงเรียนเท่านั้นคงไม่เพียงพอ ผู้นำชุมชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ทุกองค์กรต้องตระหนักร่วมกัน สิ่งที่เราเห็นร่วมกันว่าเป็นปัจจัยเสี่ยงของชุมชน ทุกคนจะต้องลุกขึ้นมาช่วยกันดูแลสังคม ให้รับรู้ว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องตระหนักร่วมกัน เราก็จะนำสังคมของเราไปสู่สังคมสุขภาวะที่เราตั้งใจไว้ได้ เมื่อพระมีสุขภาพดีวัดก็จะมั่นคง มั่นคงในที่หมายถึงวัดก็จะมีผู้คนดูแลรักษาเป็นพื้นที่ที่เป็นต้นบุญต้นแบบให้ญาติโยมได้เข้ามาในวัดได้อย่างปลอดภัยและเป้าหมายสุดท้าย คือ ชุมชนมีสุขภาวะที่ดีและมีความสุข

พระมหาสมเกียรติ สิริอรุโณ ผู้อำนวยการโรงเรียพระปริยัติธรรม “บาลีสาธิตศึกษา” มจร. วิทยาเขตเชียงใหม่ กล่าวเสริมในตอนท้ายว่า โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการของ สสส. โดยเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ ปัจจุบันได้ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนพระปริยัติธรรมเขต 5 ซึ่งมีทั้งในจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน มาร่วมกันสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมปลอดบุหรี่ให้เป็นแบบอย่าง โดยนำแนวปฏิบัติของโรงเรียนของเราขยายไปยังโรงเรียนเครือข่าย โรงเรียนของเราเชื่อมโยงกับวัดอยู่กว่า 40 วัด ซึ่งสามเณรในโรงเรียน จะฝากให้ไปพำนักอาศัยที่วัดเครือข่ายจะมีเจ้าอาวาสเป็นผู้ปกครองโดยตรง โรงเรียนก็จะร่วมกับเจ้าอาวาสในการดูแลสามเณรของเราที่อยู่วัดนั้น ๆ ให้ปลอดจากปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ เมื่อก่อนการนำบุหรี่มาถวายพระอาจมีบ้าง แต่ปัจจุบันค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป แทบจะไม่มีแล้ว ส่วนปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ยังไม่ปรากฏมีในสถานศึกษาของเรา

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สสส. สานพลัง พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)-Mappa-กสศ.-กทม. จัดเทศกาล 'Relearn Festival 2025' ชูแนวคิด 'Intergeneration ลดช่องว่างระหว่างวัย สร้างความเข้าใจระหว่างกัน' วันที่ 11 ม.ค.-9 ก.พ.68 นี้

เปิดพื้นที่ชวนครอบครัวเปลี่ยนมุมมอง-สร้างทักษะการเลี้ยงดูเด็กยุคใหม่ ลดช่องว่างระหว่างวัยของเด็ก-ผู้ใหญ่ หลังพบเด็ก 25.6% ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ ความรุนแรงในครอบครัวพุ่งสูงขึ้น 2 เท่า ในรอบ 7 ปี

เด็กไทยป่วยซึมเศร้าทะลุ 2,200 คน ต่อประชากรแสนคน เสี่ยงทำร้ายตัวเอง 17.4% ซ้ำเข้าไม่ถึงบริการสุขภาพจิต

ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สานพลังภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน จัดกิจกรรม “ดูแลวัยเด็กด้วยศิลปะด้านใน เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ปี 2568” ภายใต้โครงการโมเดลวิทยากรต้นแบบศิลปะด้านในเชิงลึกเพื่อขยายชุมชนการเรียนรู้และพัฒนาสุขภาวะเด็กก่อนวัยรุ่น เปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชน พ่อแม่

กรมกิจการเด็กและเยาวชน จับมือ มูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว-สสส. จัดเสวนาสะท้อนปัญหาความรุนแรงในครอบครัว เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ 68 เสริมแกร่งความรู้ความเข้าใจด้านสิทธิเด็ก

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 8 ม.ค. 2568 ที่โรงแรมแมนดาริน กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) พร้อมด้วยมูลนิธิเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ชี้คนไทย"พร่อง"กิจกรรมทางกาย สสส.รณรงค์สร้างสุขกระฉับกระเฉง

โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 เฉลี่ย 3 แสนคนต่อปี คิดเป็น 75% ของสาเหตุการตายทั้งหมด ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจสูง

รณรงค์ "กินให้หมดจาน" 50ร้านต้นแบบช่วยลดขยะ

รู้หรือไม่?!?..... มีสถิติระบุว่า ขยะอาหารโลกพุ่งกว่า 1 พันล้านตัน ภาพขยะกองสูงเป็นภูเขาที่รอฝังกลบ กว่าครึ่งคือขยะอาหาร คนไทยเพียงคนเดียวผลิตขยะสูงลิ่ว 146 กก./คน/ปี

“รองนายกฯ ประเสริฐ” สั่งเดินหน้าคุมเข้มลดเจ็บ-ตายปีใหม่ เฝ้าระวัง “นักซิ่งเยาวชน” หลังพบดื่มแล้วขับ “เจ็บ-ตาย” เฉลี่ยชั่วโมงละ 3 คน เล็งเชื่อมข้อมูลทำระบบ “ใบสั่งออนไลน์”

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2567 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ในฐานะประธานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ