23 พ.ย.2565- มีการประชุมแนวทางความร่วมมือ 3 ภาคส่วน ในการสนับสนุนการศึกษาไทย ประจำปี 2565 ภายใต้มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมี พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรีและประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์มูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี คณะทำงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุม โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวตอนหนึ่งในการประชุม ว่า การดำเนินโครงการโรงเรียนประชารัฐ ริเริ่มมาจากความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ตั้งแต่สมัยท่านองคมนตรี ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมา โดยมีนายศุภชัย เจียรวนนท์ เป็นผู้นำหลักของภาคเอกชน และได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันได้พัฒนาเป็นมูลนิธิสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์อีดี ซึ่งตนขอขอบคุณภาคเอกชน ที่เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงาน เริ่มจากระยะแรก 12 องค์กร และมีการขยายความร่วมมืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 นี้ มีองค์กรภาคเอกชนเข้ามาสนับสนุนถึง 50 องค์กร เพื่อร่วมกันดูแล 5,570 โรงเรียนทั่วประเทศ มีนักเรียนมากกว่า 2,300,000 คน ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาคอนเน็กซ์อีดี (CONNEXT ED) ได้ดำเนินการโครงการต่างๆ และได้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาจำนวนมาก เช่น การนำระบบ SMS มาใช้กับโรงเรียนในโครงการ มีการถอดบทเรียนองค์ความรู้จากภาคเอกชน หรือ โมเดลการพัฒนาของบริษัทต่างๆ จำนวน 17 องค์ความรู้ มาขยายผลการจัดการศึกษาตามบริบทที่เหมาะสมของโรงเรียนต่อไป อาทิ โมเดล “Clicker” นวัตกรรมการศึกษา เพื่อการเรียนรู้เชิงรุก ซึ่งเป็นการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เสริมการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เสริมกิจกรรมกลุ่มระดมสมอง กิจกรรมแบบเพื่อนสอนเพื่อน โดยมีกลุ่มเป้าหมายในการพัฒนาผู้บริหารสถานศึกษาครูผู้สอน นักเรียน และชุมชน ซึ่งจากผลการดำเนินงานระยะเวลา 1 ปีการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้วิจัยแล้ว พบว่า ผู้ใช้มีความพึงพอใจในระดับมากที่สุดต่อการใช้ Clicker นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ช่วยเรื่องการจดจำ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น , โมเดล ICT Talent โครงการที่เฟ้นหาผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านเทคโนโลยีประจำโรงเรียน มาช่วยเหลือในโรงเรียน ซึ่งผลลัพธ์การดำเนินโครงการทำให้ นักเรียนมี การกำหนดให้มี ICT Talent สูงขึ้น 76% ของครูในโรงเรียนใช้เทคโนโลยีช่วยในการสอนมากขึ้น และมีครูถึง 88% มั่นใจที่จะใช้เทคโนโลยีในการสอน เป็นต้น
“ ที่ประชุมซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชน ได้ให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพ เรื่องการพัฒนาทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานร่วมกับผู้อื่นในสังคม (Soft Skills ) เรื่องเส้นทางความก้าวหน้านในอาชีพของครูและผู้บริหารสถานศึกษา ที่ต้องพิจารณาจากผลการปฏิบัติงานเป็นหลัก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการจะนำคำแนะนำมาพิจารณาและกำหนดแนวทางการดำเนินงานต่อไป ทั้งนี้ ดิฉันขอบคุณทุกภาคส่วนที่ร่วมกันพัฒนาการศึกษา ซึ่งเป็นรากฐานของประเทศ ในการลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมศักยภาพให้กับ นักเรียน ครู ผู้บริหาร และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง ได้มีโอกาสรับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งดิฉันพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเต็มที่ ” นางสาวตรีนุช กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ป.ป.ช. เปิดกรุสมบัติ 'อิทธิพล-ตรีนุช' กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายอิทธิพล คุณปลื้ม กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม โดยนายอิทธิพล แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 81,162,381 บาท มีหนี้สินทั้งหมด 543,016 บาท
ตอกหน้า! ‘ตรีนุช’ บอกสพฐ.ไฟเขียวยืดหยุ่นชุดลูกเสือ-เนตรนารี ตั้งแต่กลางปี65
โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ได้มีการยืดหยุ่นการแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
พระเอกมา ‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผม ขู่ ลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ
‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผมกว่าร้อยคนจนแหว่งและเสียทรง ตั้งคำถามว่า ‘ทรงผม’ เกี่ยวอย่างไรกับการเรียนรู้ ชูนโยบายก้าวไกล กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีมาตรการลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ