'เอนก' จับมือ รมว.ศึกษาฯ ญี่ปุ่น ขยายความร่วมมือผลิตวิศวกร นักปฎิบัติและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

17 พ.ย. 2565- ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ได้นำคณะผู้บริหารของกระทรวง อว. มาราชการที่ประเทศญี่ปุ่น และได้เข้าหารือกับนางนะงะโอกะ เคโกะ รมว.ศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (MEXT) ของญี่ปุ่น ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง โดยผลการหารือเป็นไปอย่างดียิ่ง แสดงถึงความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นของทั้งสองกระทรวง ในโอกาสนี้จึงได้ขยายผลความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน หรือ Comprehensive Strategic Partnership ซึ่งคณะรัฐมนตรีเพิ่งให้ความเห็นชอบ และไทย-ญี่ปุ่นจะประกาศร่วมกันในโอกาสที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นเดินทางมาเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปค

รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะมุ่งเน้นประเด็นความร่วมมือแบบมุ่งเป้าในสองเรื่อง คือ 1.การพัฒนาและผลิตวิศวกรนักปฏิบัติ เน้นด้านวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีผ่านโครงการสถาบันไทยโคเซ็น ที่ไทยและญี่ปุ่นจะร่วมกันดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขยายผลให้มากและรวดเร็วขึ้นอีก และ 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวิจัยและพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสร้างสถานีวิจัยแสงซินโครตรอนเครื่องที่สองของประเทศไทย โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ตั้งเป้าว่าการจัดสร้างสถานีวิจัยแสงซินโครตรอนเครื่องที่สองนั้น จะดำเนินการโดยอาศัยความรู้และประสบการณ์ของนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรไทยเป็นหลัก โดยให้มีการออกแบบและผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ภายในประเทศให้มากที่สุด ขณะเดียวกันก็ยังต้องการความร่วมมือและการสนับสนุนทางวิชาการจากนานาชาติ โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้นำในเรื่องนี้ของโลก โดยประสงค์ให้ความร่วมมือในทางวิชาการเรื่องซินโครตรอนนี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ในฐานะหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน รวมทั้งการสามารถขยายไปสู่ระดับภูมิภาคนี้ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาบุคลากรเทคโนโลยีชั้นสูงของภูมิภาคต่อไป

“ไทย-ญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ทางด้านวิชาการหลายอย่างยาวนานมาก โดยสถานีวิจัยแสงซินโครตรอนเครื่องแรกของไทยที่ จ.นครราชสีมา ก็ดำเนินการโดยความร่วมมือและการสนับสนุนของประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน จนปัจจุบันประเทศไทยมีความก้าวหน้าในทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์อย่างมาก ได้เรียนรู้และมีประสบการณ์จากเครื่องดังกล่าว ซึ่งนำมาใช้งานอย่างเต็มประสิทธิภาพ”รมว.อว.กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

วันนี้ 'วันครีษมายัน' กลางวันยาวสุดของปี พระอาทิตย์อยู่บนท้องฟ้าเกือบ 13 ชม.

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) แจ้งว่า ในวันที่ 21 มิถุนายน 2567 เป็น “วันครีษมายัน”

'เอนก' ยกคติธรรม 'พุทธทาสภิกขุ' สอนนักการเมือง ควรทำตัวอย่างไร

นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ อดีต รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า