12 พ.ย.2565- นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำหรับการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบนโยบายการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุข โดยย้ำว่าจะต้องมีความปลอดภัยสูงสุดและเป็นไปตามหลักวิชาการ ทั้งด้านการป้องกัน ส่งเสริมสุขภาพ ดูแลสุขภาพจิต การรักษาและการส่งต่อ โดยทีมบุคลากรจะปฏิบัติภารกิจอย่างเข้มงวดและเป็นไปด้วยความเคารพคณะผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต เพื่อดูแลความปลอดภัยทางการแพทย์และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้นำเขตเศรษฐกิจ เนื่องจากการที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมครั้งนี้ถือเป็นวาระสำคัญที่จะสร้างความโดดเด่นให้กับประเทศไทย ในการนำเสนอภาพรวมของประเทศภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดี และยังส่งผลในเชิงเศรษฐกิจ รวมถึงบทบาทของประเทศไทยในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ในการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขต โดยบูรณาการหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมอนามัย กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมแพทย์ทหารอากาศ กรมแพทย์ทหารบก ตำรวจ กรุงเทพมหานคร มหาวิทยาลัย หน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่โดยรอบ และโรงพยาบาลเอกชน แบ่งการดูแล ดังนี้
1.จัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ติดตามขบวนผู้นำเขตเศรษฐกิจ โรงแรมที่พัก ประจำ ณ สถานที่จัดประชุม และสถานที่จัดเลี้ยง Gala Dinner 2.การรักษาพยาบาลและการส่งต่อ จัดเตรียมทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ โดยบูรณาการร่วมกับกรมการแพทย์และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ทั้งนนทบุรี ปทุมธานี และพระนครศรีอยุธยา รพ.ตำรวจ รพ.ศิริราช และรพ.เอกชน ระดมทีมทำงานซึ่งผ่านประสบการณ์และการฝึกอบรมเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัยและการส่งต่อคณะผู้นำต่างๆ ในการจัดประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขเอเปคครั้งที่ผ่านมา
3.การเฝ้าระวังและควบคุมโรคติดต่อ โดยเฉพาะเรื่องของโรคอาหารเป็นพิษและโรคโควิด 19 ซึ่งแม้สถานการณ์โรคโควิด 19 จะดีขึ้น แต่ยังมีผู้ติดเชื้อทั่วโลกจึงยังต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยทั้งผู้เข้าร่วมประชุมและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน
4.การดูแลความปลอดภัยของอาหาร โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะมีการตรวจสอบสารพิษในอาหาร สารตกค้างต่างๆ ส่วนกรมอนามัยและกรุงเทพมหานคร จะกำกับดูแลผู้ประกอบการอาหาร ทั้งผู้ปรุง ผู้สัมผัสอาหาร และผู้ให้บริการ ให้เป็นไปตามหลักสุขาภิบาลอาหาร
และ 5.การดูแลเรื่องสุขภาพจิตของผู้ทำงานและคณะติดตามต่างๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการดูแลคู่สมรสของคณะผู้นำที่จะไปศึกษาดูงานในต่างจังหวัด โดยจัดทีมปฏิบัติการด้านการแพทย์ฯ ติดตามและประจำที่สถานที่ศึกษาดูงาน
“เมื่อวานนี้ ( 11 พฤศจิกายน) มีการประชุมติดตามการเตรียมความพร้อมด้านการแพทย์และสาธารณสุขสำหรับการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งขณะนี้แผนการต่างๆ ดำเนินการไปด้วยความเรียบร้อย ยืนยันว่ากระทรวงสาธารณสุขมีความพร้อมการดำเนินภารกิจดังกล่าวให้กับประเทศ” นพ.โอภาสกล่าว
นพ.โอภาสกล่าวอีกว่า ส่วนการดูแลรักษาพยาบาลประชาชนทั่วไป เนื่องจากช่วงการประชุมสัปดาห์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รัฐบาลกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ ได้กำชับโรงพยาบาลในสังกัดให้พยายามจัดบริการประชาชนให้ได้รับความสะดวกสบาย ลดผลกระทบให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด เช่น การจัดคลินิกเสริมนอกเวลา การจัดการดูแลรักษาแบบออนไลน์ เป็นต้น ทั้งนี้ หากประชาชนเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรศัพท์สายด่วน 1669 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯอิ๊งค์ลั่นประเทศไทยต้องยืนหนึ่งบนเวทีโลก
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า “ก่อนการเดินทางกลับประเทศไทยช่วงเวลา 18 นาฬิกาของวันนี้ (วันเสาร์ที่ 16 พฤศจิกายน) ตามเวลาเปรู ซึ่งจะใช้เวลาเดินทางประมาณ 27 ชั่วโมง โดยจะถึงประเทศไทยในวันจันทร์ที่ 18 พฤศจิกายน ประมาณ 11 นาฬิกา ตามเวลาในประเทศไทย นายกรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร ให้สัมภาษณ์สรุปภาพรวมภารกิจ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 31 และการประชุมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ณ กรุงลิมา สาธารณรัฐเปรู ดังนี้
นายกฯ ถึงสหรัฐ เตรียมประชุมเอกอัครราชทูต-กงสุลใหญ่ หารือภาคธุรกิจ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ เดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
เปิดภารกิจนายกฯบินพบนักธุรกิจ-คนไทยในแอลเอ. ชวน ‘บิ๊กระดับโลก’ ลงทุนไทย
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อม ด้วยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และคณะออกเดินทางเยือนนครลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป