เตรียมบรรจุวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ หรือโมคอคคัส เป็นรายการวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กเล็ก คาดเริ่มปี 2567

12 พ.ย.65- เนื่องในวันปอดอักเสบโลก(World Pneumonia Day 2022) มูลนิธิวัคซีนเพื่อประชาชน กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยภาคเอกชน แถลงข่าว เตรียมความพร้อมประเทศไทยในการป้องกันโรคปอดอักเสบหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคปอดอักเสบและรณรงค์การเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน เพื่อลดความรุนแรงของโรคและป้องกันการเสียชีวิต

นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้ข้อมูลว่า โรคปอดอักเสบเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยเป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของเด็กเล็กและผู้สูงวัย ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากโรคนี้มากกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก ส่วนในไทยโรคปอดอักเสบเป็น 5 ลำดับแรกของโรคทางเดินหายใจที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตในทุกปีและมีแนวโน้มอัตราตายจากโรคนี้เพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลล่าสุดโรคปอดอักเสบ ยังคงเป็นโรคที่ต้องให้ความสำคัญเนื่องจากมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาว ซึ่งในทุกปีจะพบโรคในหน้าหนาว อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่พบในช่วงหน้าฝน โรคหัด โรคอุจจาระร่วงจากไวรัส เสียชีวิตภาวะจากอากาศหนาว และโรคปอดอักเสบ โดยในช่วงต้นปีที่ผ่านมาการรายงานจำนวนผู้ป่วยปอดอักเสบเปรียบเทียบจากค่ามัธยฐาน 5 ปี พบเพิ่มขึ้นในเดือนกันยายนประมาณ 27,065 คน และคาดว่าในเดือนตุลาคมจะเพิ่มสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยมัธยฐาน 5 ปี ทั้งนี้ปอดอักเสบนอกจากจะติดเชื้อจากแบคทีเรียแล้ว ยังมีปัจจัยจากโรคโควิด19 และการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ก็มีส่วนที่ผู้ป่วยปอดอักเสบจะเพิ่มขึ้นตามด้วย

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า โดยในช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2560-2662 มีรายงานผู้ป่วยปอดอักเสบมากกว่า 2.5 แสนราย และในช่วงที่มีการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ปี 2563-2565 พบจำนวนผู้ป่วยต่ำกว่า 2 แสนราย เนื่องจาก การมีมาตรการให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และเว้นระยะห่าง แต่เมื่อ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา โรคโควิด-19 ซึ่งอยู่ในสถานะโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ทำให้การส่วมหน้ากากลดลง ผู้คนมีการเดินทางมากขึ้น อาจมีส่วนทำให้โรคปอดอักเสบอาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่มกราคม-ตุลาคม 2565 ในกลุ่มที่มีอัตราป่วยสูง คือ 1.กลุ่มเด็กอายุ 0-4 ปี เมื่อนำไปเทียบกับเด็กโตอายุ 5-9 ปี พบอัตราการป่วยมากกว่า 1.5 เท่า และป่วยตายมากกว่า 3 เท่า เนื่องจากเป็นวัยที่ยังไม่ได้รับการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และ2. กลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งอัตราผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนพื้นที่ 5 จังหวัดที่พบอัตราจำนวนผู้ป่วยสูงสุดได้แก่ สระบุรี รองลงมาคือ อุบลราชธานี ยโสธร ปราจีนบุรี และแม่ฮ่องสอน ขณะนี้ยังไม่ได้มีการระบุเชื้อที่เป็นสาเหตุการก่อโรคที่ชัดเจน ส่วนอัตราการตายใน 5 จังหวัดสูงสุดได้แก่ สมุทรสงคราม สุราษฎร์ธานี จันทบุรี พัทลุง และชลบุรี

“ได้มีการติดตามสถานการณ์ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบอย่างใกล้ชิด และพร้อมเฝ้าระวังการแพร่ระบาด รวมทั้งการรณรงค์เสริมสร้างภูมิคุ้มกันก่อนช่วงฤดูหนาวที่อาจจะเป็นปัจจัยการแพร่ระบาดเพิ่มสูงขึ้น จึงได้มีการประกาศแจ้งเตือนให้ระมัดระวังโรคและภัยสุขภาพไปยังหน่วยงานในพื้นที่ เช่น สำนักงานป้องกันควบคุมโรค 12 แห่ง และสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง ในการเตรียมการดูแล อาทิ 1.เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของโรคในพื้นที่ ในกรณีมีการแพร่ระบาดจองโรคติดต่อ โดยมีทีมเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว(SRRT) เข้าไปดำเนินการสอบสวน ควบคุม และป้องกัน รวมไปถึงสื่อสารความเสี่ยงให้ความรู้แก่ประชาชน” นพ.โสภณ ระบุแนวทางการป้องกันโรค

ด้าน นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ กล่าวถึงทิศทางการใช้วัคซีนว่า โดยโรคปอดอักเสบสามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีนขณะนี้ ได้แก่ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ วัคซีนโควิด-19 ที่เป็นเครื่องมือสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อ สามารถลดความรุนแรงของโรคได้ ในปี 2566 ประเทศไทยก็ยังคงมีให้บริการการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ฟรี ในเด็ก ผู้สูงอายุ และหญิงตั้งครรภ์ ส่วนวัคซีนโควิด-19 ก็สามารถฉีดฟรีในประชาชนทุกคนตามโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ และมีเพียงพอ

นพ.นคร กล่าวว่า สำหรับวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบหรือวัคซีนนิวโมคอคคัส เตรียมวางแผนที่จะบรรจุในรายการวัคซีนพื้นฐานสำหรับเด็กเล็กของสธ. คาดว่าอาจจะอยู่ในระหว่างปี 2567 เพื่อเพิ่มโอกาสเข้าถึงวัคซีนที่จำเป็นของเด็กไทย ส่วนวัคซีนชนิดอื่นๆ ที่ไม่ใช่วัคซีนโควิด-19 ในภาวะปกติตามแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค จะมีประเมินจากภาระของโรค คือ จำนวนผู้ป่วย สาเหตุของเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรค เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการนำมาใช้

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ กล่าวเสริมถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบว่า มาจากหลายปัจจัย ทั้งการติดเชื้อทางเดินหายใจ, เชื้อแบคทีเรีย, เชื้อไวรัส และเชื้อรา โดยเชื้อที่พบส่วนใหญ่จะเกิดจากแบคทีเรียนิวโมคอคคัส(Streptococcus pneumonia) ที่พบการระบาดมากในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว อย่างการเป็นหวัด เชื้อไวรัสอาจจะไม่ลงไปที่ปอดทันที แต่ส่วนใหญ่จะทำให้ทางเดินหายใจส่วนบนขรุขระเป็นเหตุให้เชื้อเก่าที่เกาะอยู่ในคอลงไปที่ปอด ทำให้เป็นปอดอักเสบ เป็นต้น หรือการมีโรคร่วม ไม่ว่าจะเป็นโรคเบาหวาน โรคความดัน โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต รวมไปถึงสถาพแวดล้อมที่มีฝุ่น ที่กระตุ้นให้เชื้อแรงขึ้นได้ และเมื่อเกิดขึ้นในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งมีความเสี่ยงในการเสียชีวิตที่สุดในโลก โดยหากปล่อยไว้ไม่รักษา อาการอาจจะลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดหรือสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบและเกิดการเสียชีวิต

รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวอีกว่า ส่วนสาเหตุการติดเชื้อ เช่น การหายใจเอาเชื้อเข้าปอดโดยตรง การแพร่กระจายทางกระแสเลือด การสำลักอาหารหรือการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื่อปะปน จะมีอาการไข้ ไอ เสมหะ หายใจหอบเหนื่อย หายใจลำบาก คลื่นไส้ อาเจียนหรือท้องเสีย รวมทั้งอาจจะมีอาการซึม สำหรับวิธีการป้องกันคือ หมั่นล้างมือทำความสะอาดและดูแลสุขอนามัย หลีกเลี่ยงการไปสถานที่แออัด หลีกเลี่ยงมลภาวะทางอากาศ และที่สำคัญคือการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ หรือวัคซีนโควิด-19 เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน สู่เป้าหมายในการลดป่วยและลดการเสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’  ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้

เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป