ไทยมีอัตรา 'การเสียชีวิตส่วนเกิน' จากการระบาดโควิดไม่มาก ชี้ผลจากฉีดวัคซีนเกิน 80%

10 พ.ย.2565- นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ดัชนีตัวหนึ่งที่ใช้วัดการเพิ่มหรือลดลงของการเสียชีวิตในแต่ละประเทศในภาพรวมเปรียบเทียบกับจำนวนที่คาดการณ์ คือ “อัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน” หรือที่เรียกว่า เอ็กซ์เซสเดธ (excess death) ซึ่งประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยใช้ประเมินผลกระทบของโควิด 19 ที่มีต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีหลายเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบบริการสุขภาพในระยะวิกฤตโควิด 19 การจำกัดการเดินทาง และความล่าช้าในการเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วย แต่ไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด 19

ในปี พ.ศ. 2563 มีตัวเลขผู้เสียชีวิตในประเทศไทยที่เกิดจากทุกสาเหตุรวมกันต่ำกว่าที่คาด เนื่องจากขณะที่เริ่มมีการระบาดของโควิด 19 ประเทศไทยใช้มาตรการปิดเมือง (Lockdown) ในหลายพื้นที่และมีการใช้มาตรการสาธารณสุขอื่นๆ ควบคู่ เช่น สวมหน้ากาก ล้างมือ งดกิจกรรมเสี่ยง ทำงานจากบ้าน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดอย่างได้ผลดี ส่งผลทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดน้อยลง แต่ปีพ.ศ.2564 พบว่าตัวเลขการตายส่วนเกินในประเทศไทยเพิ่มขึ้นไม่มากเปรียบเทียบกับตัวเลขคาดการณ์แสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของระบบสาธารณสุขของประเทศที่รองรับภาวะวิกฤตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทางด้านนพ. โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 สะสมกว่า 143 ล้านโดส เท่ากับประชาชนกว่า 57 ล้านราย ซึ่งข้อเท็จจริงคือประเทศไทยได้เริ่มมีการบริการฉีดวัคซีนลอตใหญ่ในครึ่งปีหลังของ พ.ศ. 2564 โดยวัคซีนไฟเซอร์เริ่มฉีดอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 4 ตุลาคม 2564 และในไตรมาสที่ 4 ได้มีการเร่งฉีดวัคซีนทุกชนิดจนครบ 100 ล้านโดส ในปลายเดือนธันวาคม 2564 ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการศึกษาอัตราการตายส่วนเกินในช่วงปี 2563-2564 พบว่า ปีพ.ศ. 2563 ภาพรวมจำนวนเสียชีวิตต่ำกว่าจำนวนที่คาดการณ์ ส่วนปีพ.ศ. 2564 มีการตายส่วนเกินเพิ่มขึ้น แต่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พ.ศ. 2564 เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นระยะที่ประเทศไทยประสบกับการระบาดรุนแรงจากไวรัสสายพันธุ์เดลตา

ดังนั้น การอ้างว่า การที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้นในปีที่ผ่านมามีความเกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนโควิด จึงไม่สมเหตุผล และไม่สอดคล้องกับช่วงระยะเวลาที่มีการฉีดวัคซีนจำนวนมาก อีกทั้งการศึกษาในประเทศอื่นยังไม่พบหลักฐานความสัมพันธ์กับวัคซีนโควิด ซึ่งหากย้อนทบทวนเหตุการณ์ช่วงกลางปี 2564 ที่มีการระบาดใหญ่ของโควิด 19 ทำให้ต้องระดมทรัพยากรทางการแพทย์และสาธารณสุขไปใช้ในการป้องกันควบคุมและรักษาโรคโควิด 19 อย่างเต็มที่ ทั้งกำลังคน เตียง การบริการตรวจหาเชื้อทางห้องปฏิบัติการ โรงพยาบาลหลายแห่งได้ปิดหน่วยรักษาโรคอื่นๆ รวมทั้งปิดห้องผ่าตัดหากมีแพทย์และพยาบาลติดเชื้อ ดังนั้น จึงเกิดผลกระทบต่อการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคต่างๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยรอผ่าตัดหรือรอเตียงนานขึ้น อาจทำให้อาการแย่ลงได้ อีกทั้งมีผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่ไม่กล้าไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลเพราะกลัวติดโควิด รอจนอาการหนัก เช่น ผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคปอด โรคไต ล้วนเป็นเหตุที่ทำให้มีอัตราการเสียชีวิตส่วนเกิน ซึ่งเป็นสภาพเช่นเดียวกันที่เกิดขึ้นกับอีกหลายๆ ประเทศทั่วโลก ไม่เกี่ยวข้องกับวัคซีนแต่อย่างใด

นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า ในทางตรงกันข้าม ข้อมูลคาดประมาณผลสัมฤทธิ์จากการฉีดวัคซีนโควิด 19 ของประเทศไทย ศึกษาโดยรศ.ดร.ชรินทร์ โหมดชัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ พบว่าการฉีดวัคซีนโควิด 19 ช่วยป้องกันการเสียชีวิตในประเทศไทยจำนวนกว่า 4.9 แสนราย โดยปีพ.ศ. 2564 ป้องกันได้ประมาณ 382,600 ราย และในปีพ.ศ. 2565 ป้องกันได้ประมาณ 107,400 ราย การที่ประเทศไทยสามารถปกป้องไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโควิดได้จำนวนมาก เนื่องจากมีนโยบายการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพตรงเป้าหมาย กำหนดให้ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับวัคซีนก่อน เร่งรัดฉีดวัคซีนในพื้นที่ระบาดรุนแรง ซึ่งหากไม่มีมาตรการฉีดวัคซีนโควิด 19 คาดได้ว่าจะมีผู้ติดเชื้อโควิดเสียชีวิตอีกเป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าระยะนี้ ผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ส่วนใหญ่ยังเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับหรือได้รับวัคซีนไม่ครบชุด และแม้อาการของโรคโควิดในเด็กมักไม่รุนแรง แต่ยังมีเด็กเล็กเสียชีวิตจากโควิดเป็นระยะและประวัติไม่ได้รับวัคซีนโควิด จึงขอให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่าการศึกษาและหลักฐานต่างๆ บ่งชี้ไปทางเดียวกันว่าวัคซีนมีประโยชน์ และไม่ควรปล่อยให้เด็กๆเกิดการติดเชื้อตามธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตได้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

กรมควบคุมโรค เผย ชาวอเมริกันติดไวรัสไข้หวัดนกจากฝูงนกหลังบ้านเป็นรายแรก หนัก!นอนICU

กรมควบคุมโรค เผยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) รายงาน ผู้ติดเชื้อไวรั

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน