'มศว'มอบ'จุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย' ให้เอกชนต่อยอด สุดโดดเด่นลดไขมัน คอเลสเตอรอล ลดอักเสบ ชะลอวัย

เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2565 ที่่ผ่านมา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีและอนุญาตให้ใช้สิทธิ ผลงานเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ Bifidobacterium animalis TA-1 ซึ่งเป็นผลงานการพัฒนาสายพันธุ์ของ รองศาสตราจาร์ ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ และคณะนักวิจัย ให้กับบริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ กระตุ้นการใช้จุลินทรีย์โพรไบโอติกไทย ลดการนำเข้าโพรไบโอติกจากต่างประเทศ และเพิ่ม GDPให้ประเทศไทยได้ดุลการค้าจากโพรไบโอติกสู่การต่อยอดผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ช่วยสร้างสมดุลสุขภาพของคนไทยและลดภาระค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในอนาคต

นางนพรัตน์ สุขสราญฤดี ผู้ก่อตั้ง บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัดกล่าวว่า จากความร่วมมือในการลงนามสัญญากับทาง มศวเพื่อใช้สิทธิข้อมูลเทคโนโลยี จุลินทรีย์โพรไบโอติก (probiotics) สายพันธุ์Lactobacillus paracasei MSMC 39-1ซึ่งเป็นผลงานจากคณะนักวิจัยของ มศว ในปีที่ผ่านมาเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์วิโนน่าและได้มีการเปิดตัวพร้อมวางจำหน่ายไปเมื่อต้นปี. 2565 นับว่าประสบความสำเร็จและได้รับผลตอบรับที่ดีเยี่ยมจากผู้บริโภค เนื่องจากผลลัพธ์จากการบริโภคที่เห็นผลในแง่ของสุขภาพที่ดีขึ้นในหลายระบบ โดยไม่ต้องใช้ยา อาทิเช่น ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ต้านอักเสบปรับภูมิคุ้มกัน ลดสารต้านอนุมูลอิสระ เป็นต้น ทำให้เชื่อมั่นต่อความสามารถของนักวิจัยไทยและเชื่อมั่นในคุณภาพของจุลินทรีย์ โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย ในโอกาสนี้ วิโนน่า ในฐานะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยังคงมีเจตนารมณ์ร่วมกับคณะนักวิจัยของ มศว ที่อยากเห็นคนไทยมีสุขภาพร่างกายที่สมดุล สมบูรณ์แข็งแรง ด้วยการบริโภคจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีคุณภาพในปริมาณที่เหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงเกิดความร่วมมือครั้งใหม่ในการลงนามเพื่อรับไลเซนส์เพื่อใช้ผลงานจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ Bifidobacterium animalisTA-1สู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่จะช่วยสร้างสมดุลแก่สุขภาพในระยะยาวแก่ผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของแบรนด์วิโนน่าที่อยากช่วยให้คนไทยหลีกเลี่ยงการพึ่งพายา และลดสารเคมีเข้าในร่างกายเกินความจำเป็น


“ด้วยเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบันทำให้ในภาคอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของไทยมีผู้ประกอบการรายใหม่ ๆที่สนใจในการนำจุลินทรีย์โพรไบโอติกมาพัฒนาเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เชื้อจุลินทรีย์ โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย นอกจากจะช่วยเพิ่มดุลการค้าและลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แล้วจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย ซึ่งได้พัฒนาและทดสอบกับคนไทย จึงมีความคุ้นเคยกับคนไทยมากกว่า จึงมีศักยภาพและขีดความสามารถแข่งขันกับผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ และยังสามารถนำสายพันธุ์ของเราขยายตลาดไปยังกลุ่มเอเซียแปซิฟิกได้อย่างแน่นอน”นางนพรัตน์กล่าว

รศ. ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เปิดเผยว่า “ความร่วมมือครั้งนี้ บริษัท วิโนน่า เฟมินิน จำกัด ในฐานะพันธมิตรจากภาคเอกชนได้เข้ามาร่วมมือกับ มศว ในการลงนามสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีและอนุญาตให้ใช้สิทธิผลงานเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ Bifidobacterium animalis TA-1 โดย มศว มีนโยบายการส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม
อันเกิดจากองค์ความรู้ที่มีประโยชน์โดยการพัฒนาและทดลองของคณะนักวิจัย ซึ่งการเข้ามามีบทบาทของภาคเอกชนจะเป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญที่ทำให้องค์ความรู้ ที่ได้จากการวิจัยนั้นไม่สิ้นสุดเพียงแค่เป็นผลงานวิจัย เพราะด้วยศักยภาพด้านธุรกิจ อุตสาหกรรมและกลยุทธ์ทางการตลาดของภาคเอกชนนั้นจะช่วยผลักดันให้งานวิจัยขยายสู่ความเป็นรูปธรรมที่จับต้องได้และมีคุณค่าในเชิงพาณิชย์
จากผลงานวิจัยจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถไปถึงมือผู้บริโภคยิ่งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นการขยายขีดความสามารถในแข่งขันแก่สถาบันระดับอุดมศึกษาและในภาคอุตสาหกรรมของประเทศอีกด้วย

ด้าน รศ. ดร.มาลัย ทวีโชติภัทร์ สังกัดคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในฐานะเจ้าของผลงานวิจัยเชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกกล่าวว่า “เชื้อจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ Bifidobacterium animalis TA-1 เป็นจุลินทรีย์โพรไบโอติกสายพันธุ์ไทย ที่มีการพิสูจน์คุณสมบัติแล้วว่าเป็นโพรไบโอติกที่ดี และได้รับการอนุญาตจากองค์การอาหารและยา (อย. ) ซึ่งผ่านกระบวนการวิจัยและพัฒนาที่ได้มาตรฐานเพื่อหาข้อพิสูจน์ว่ามีคุณสมบัติจำเพาะที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย แม้จะพบว่ามีคุณสมบัติเด่นในการลดไขมันและคอเลสเตอรอล เป็นสายพันธุ์ที่ผู้บริโภคทุกเพศทุกวัยนั้นสามารถรับประทานได้โดยไม่ต้องกังวลถึงผลข้างเคียง เนื่องจากเชื้อจุลินทรีย์ โพรไบโอติก ไม่ใช่ยาหรือสารเคมี หากแต่เป็นสารอาหารตามธรรมชาติที่มีอยู่ในร่างกายของคนเราหากบริโภคในปริมาณที่พอเหมาะเพื่อเติมสมดุลของเชื้อจุลินทรีย์ย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพองค์รวม


รศ.ดร.มาลัย กล่าวว่า ส่วนตัวได้สนใจศึกษาจุลินทรีย์มาเป็นเวลา 20ปี ซึ่งในการทำงาน กว่าจะคัดได้สายพันธุ์ที่บริสุทธิ์ จากกว่าพันสายพันธุ์ ต้องผ่านการพิสูจน์แล้วว่ามีประโยชน์ต่อร่างกายจริงๆ โดยใช้เวลานาน 15ปี ในการทดลองวิจัย ซึ่งก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์ที่เป็นจุลินทรีย์ พวกโพรไบโอติกต่างๆ จะเป็นการนำเข้า ไม่ใช่จุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย เพราะจุลินทรีย์แต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับพันธุกรรมและอาหารที่กิน ที่แต่ละชาติจะมีความแตกต่างกัน ส่วนประโยชน์ของจุลินทรีย์ในภาพรวมมีมากมาย ซึ่งคนเราจะมีจุลินทรีย์ที่แมให้มา ตั้งแต่เกิดจนถึงตอนเด็กๆ ที่เยอะมาก แต่จุลินทรีย์เหล่านี้จะค่อยๆลดลงเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และเหลือน้อยลงเรื่่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น ดังนั้น เราจึงต้องเพิ่มจุลินทรีย์ในร่างกายเข้าไป เพื่อเป็นการป้องกัน เพิ่มภูมิในร่างกาย ซึ่งดีกว่าการใช้ยา เพราะยาใช้ไปนานๆอาจดื้อยาได้


“แรงบันดาลใจพัฒนาจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทย มาจากปัญหาสุขภาพของคนไทย ที่มีคนที่เป้นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCD เยอะมากทั้งความดัน เบาหวาน ซึ่งจุลินทรีย์ที่ศึกษา เราศึกษาโมเดล พวกอ้วนลงพุง โรคสะเก็ดเงิน และโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งสองโรคหลังนี้ปัญหาพื้นฐานมาจากการอักเสบในร่างกาย ซึ่งจุลินทรีย์ โพรไบโอติกส์ ของเรา มีคุณสมบัติช่วยลดไขมัน ลดคลอเรสเตอรอล ลดการเกิดการอักเสบ มีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ และชะลอวัย “


ในแง่การบริโภคจุลินทรีย์ รศ.ดร.มาลัยกล่าวว่า สำหรับคนร่างกายปกติ ไม่ได้เป็นกลุ่มที่เป็นมะเร็งและกำลังให้คีโม หรือพวกต้องกินยากดภูมิ สามารถรับประทานได้ โดยจุลินทรีย์ที่ได้รับ จะไม่ส่งผลกระทบกับตับ เพราะเป็นสิ่งที่มาจากร่างกายของเราเอง และช่วยในเรื่องการขับถ่าย การนอนหลับ

“โพรไบโอติกสายพันธุ์ที่เราพัฒนานี้ ได้มอบให้เอกชน 7 บริษัท นำไปพัฒนาต่อยอดกลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีจุลินทรีย์สายพันธุ์ไทยเป็นสารตั้งต้น ขึ้นกับความถนัด เชี่ยวชาญของแต่ละบริษัท ซึ่งรวมถึงบริษัท วิโนน่า ฯ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพของผู้หญิง” รศ.ดร.มาลัยกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘เฟิร์ส คณพันธ์’ สุดภูมิใจ! คว้าเกียรตินิยมอันดับ 2 ได้สำเร็จ

ขอแสดงความยินดีกับบัณฑิตป้ายแดง เฟิร์ส-คณพันธ์ ปุ้ยตระกูล นักแสดงวัยรุ่นสุดฮอต สังกัด GMMTV ที่กำลังมีผลงานออริจินัลซีรีส์ “NOT ME เขา...ไม่ใช่ผม” สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม เอกการจัดการธุรกิจไซเบอร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ