ในจัดการประชุม Global Mobile Broadband Forum – 5G Leads the Stride ครั้งที่ 13 ที่ผ่านมา โดยบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) และ Global TD-LTE Initiative (GTI) ภายในงานมีการเสวนาที่น่าสนใจในหัวข้อ “โรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G แห่งแรกในอาเซียน เพื่อสร้างพิมพ์เขียวสำหรับโรงพยาบาลอัจฉริยะแห่งอนาคตของประเทศไทย” โดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่จะเป็นการขับเคลื่อนด้านการแพทย์เข้าสู่ยุคดิจิทัลในอนาคต
ศ.นพ.อภิชาติ อัศวมงคลกุล คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในปัจจุบันเทรนด์เทคโนโลยีในปี 2022 ก้าวไกลไปมาก ทำให้การโอนย้ายข้อมูลมีความสะดวกด้วยการทำผ่าน Metaverse และ Web3 ที่จะมากำหนดทิศทางของอินเทอร์เน็ตใหม่ มีโปรแกรมต่างๆ สามารถที่จะควบคุม ปรับแต่ง และทำระบบอัตโนมัติ ทำให้การเดินทางระหว่างโลกดิจิทัล และโลกทางกายภาพมีต่อเนื่องและราบรื่น หรือสามารถทำงานด้วยข้อมูลจาก AI และ การประมวลต่างๆ แม้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
สำหรับ รพ.ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ถือเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่เก่าแก่ของไทย ซึ่งให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยมีผู้ป่วย OPD เข้ามารักษามากกว่า 10,000 คน/วัน และมีบุคลากรเฉลี่ยในโรงพยาบาลราวๆ 20,000 คน นอกจากมีความเชี่ยวชาญในด้านบริการทางการแพทย์ และการศึกษาวิจัยต่างๆ ด้วยวิสัยทัศน์ที่ก้าวสู่การเป็นสถาบันทางการแพทย์แห่งชาติภายใน 5-6 ปีข้างหน้า โรงพยาบาลได้มีการนำเทคโนโลยี 5G ในการช่วยเหลือผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็ว นั้นหมายความว่าเราจะต้องใช้ข้อมูลของผู้ป่วยในการบำบัดรักษา และคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้น พร้อมกับการให้บริการไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่สถานที่ใดเพื่อให้เข้าถึงบริการทางการแพทย์ และมีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาประยุกต์ใช้ทางด้าน Healthcare ซึ่งในอนาคตอาจจะถือเป็นพิมพ์เขียวในการพัฒนาโรงพยาบาลอัจฉริยะในประเทศไทย
การมุ่งสู่ความเป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะของรพ.ศิริราช ศ.นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในตอนนี้ได้มีการทำโครงการ โรงพยาบาลอัจฉริยะ 5G เฟสที่1 ในการนำเทคโนโลยี 5G, Cloud, AI และ Digital Disruption มาประยุกต์ใช้ในการป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาพ โดยมีผู้ป่วยที่อยู่ในระบบดังกล่าวแล้ว 30 ราย ส่วนในเฟสที่ 2 ได้มีการวางแผนในการสร้างศูนย์ปฏิบัติการทางด้าน Healthcare ที่จะมีการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งหมดแบบเรียลไทม์ เพื่อให้การบริหารจัดการได้ดียิ่งขึ้น โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ดูแลผู้ป่วย ซึ่งในเดือน พ.ย. จะมีการสร้างศูนย์กลางทางด้านสุขภาพ ระบบดิจิทัล เพื่อศึกษาวิจัยทางด้านการแพทย์ ทางรพ.ยังได้มุ่งหวังในการสร้างแพทย์สมัยใหม่ ที่ได้มีเพียงความรู้ทางด้านการแพทย์ แต่จะมีความรู้ทางด้านวิศวกรรม ไบโออินฟอร์เมติกส์ และทางด้านดิจิทัลควบคู่กันไป จึงได้มีการนำเทคโนโลยี VR คือการจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง ในการสอนนักศึกษาแพทย์ ส่งผลต่ออนาคตในการทำการวิจัยวิธีการรักษา บำบัด ที่ดีสำหรับผู้ป่วย พร้อมกับการใช้ข้อมูลทางชีวภาพให้เพิ่มขึ้น
“ดังนั้นโรงพยาบาลจะต้องมีการปรับตัวในการนำเทคโนโลยีมาใช้ โดยยึดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง อย่าง Medicine Delivery ระบบบริการผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่มีแผนก ER อัจฉริยะ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย วางแผนการรักษาล่วงหน้า และส่งไปยังโรงพยาบาลเพื่อรักษาได้ยังทันท่วงที ดังนั้นในอนาคตเราจะสามารถสร้างศูนย์กลางการแพทย์ของชาติได้ โดยมีการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้ ในการสร้างศูนย์การแพทย์ หรือวิทยาการ แอพพลิเคชั่นทางด้านการแพทย์ต่างๆ และมีส่วนสำคัญในการสร้างโครงข่ายโรงพยาบาลอัจฉริยะเพื่อผู้ป่วยทุกคน”ศ.นพ.อภิชาติกล่าว
เคน หู ประธานกรรมการบริหารหมุนเวียนตามวาระของหัวเว่ย ได้ให้มุมมองต่อเทคโนโลยี 5G การเปลี่ยนแปลงและการเติบโตว่า การเติบโตของเทคโนโลยี 5G เป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าเทคโนโลยีมือถือรุ่นก่อนๆ ในเวลาเพียง 3 เกิดเครือข่าย 5G มากถึง 200 เครือข่าย มีผู็ใช้มากกว่า 700 ล้านคนทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงใหม่ๆด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การดูวิโอด้วยความละเอียดสูง การใช้แอพพลิเคชั่นในการตัดต่อวิดีโอ หรือความคืบหน้าด้านบริการ 5GtoB ในการให้บริการ 5G ในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในด้านอุตสาหกรรมการขุดเจาะน้ำมัน ด้านเหมืองแร่ในการขุดเจาะ การผลิตและการขนส่ง ซึ่งสร้างรายได้อย่างมหาศาล ซึ่งบริการ 5GtoB จะกลายมาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนในภาคอุตสาหกรรม อย่างในประเทศไทยก็ได้มีการสนับสนุนโครงการโรงพยาบาลอัจฉริยะ ซึ่งจะมีบริการให้กับผู้ป่วยทั้งผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยนอก เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างมีคุณภาพ การประมวลผลวิเคราะห์โรค รวมไปถึงการวิจัยต่างๆทางการแพทย์ สิ่งสำคัญในการให้บริการ 5G คือคุณภาพ ความรวดเร็วสำหรับผู้บริโภคที่จะมีประสบการณ์ในการใช้บริการ 5G ที่ดีในอนาคต
ศาสตราจารย์คลินิก นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวเสริมว่า สำหรับโรงพยาบาลอัจฉริยะในเฟสที่ 1 จะประกอบด้วย 9 โครงการย่อย ได้แก่ 1. ระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์(Smart EMS) 2. ระบบห้องฉุกเฉินอัจฉริยะ ด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย 5G และระบบปัญญาประดิษฐ์( Smart Emergency Room) 3. ระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่าย 5G (Pathological diagnosis system with 5G and artificial intelligence) 4.ระบบผู้ช่วยการดูแลและสร้างเสริมสุขภาพรายบุคคล สำหรับผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ ผ่านเครือข่าย 5G (5G AI Platform for NCD) 5.ระบบทำนายปริมาณการใช้และการจัดการสินค้าคงคลัง ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านเครือข่าย 5G(Smart Inventory Management) 6. ระบบเวชระเบียนกลางด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน( Permission based block chain for personal health record)
7. ระบบขนส่งกลางด้วยรถไร้คนขับ 5G(Smart Logistic with 5G Self-Driving car) 8. จัดหาอุปกรณ์ติดตั้งระบบ Multi-access Edge computing (MEC) และ 9. จัดหาติดตั้งระบบ Hybrid Cloud ซึ่งในเฟสนี้จะเป็นการวางต้นแบบระบบเรียบร้อยแล้ว คาดว่าประชาชนจะได้สัมผัสอย่างเป็นรูปธรรมในปี 2566 อย่าง โครงการที่มีคนไข้เข้ารับการรักษา คือ โครงการระบบการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา ผ่านเครือข่าย 5G โดยการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยาชิ้นเนื้อของคนไข้ เทคนิคแบบเดิมคือใส่สไลด์แก้วเพื่อส่องกล้อง แต่เมื่อมีเทคโนโลยีการสแกนสไลด์แก้วด้วยดิจิทัลเพื่อให้ได้ภาพถ่าย แบบคมชัดทำให้สามารถวินิฉัยได้รวดเร็วขึ้น เชื่อมโยงกับการใช้ระบบ 5G ในการส่งข้อมูลคนไข้ ภาพสแกน ให้กับแพทย์อีกคนที่จะช่วยยืนยันการวินิจฉัยที่อาจจะอยู่ไกลได้ทันที รวมไปถึงการทดลองใช้ระบบ AI ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคนไข้ ที่จะช่วยในการประมวลผลทำนายโรคที่จะเกิดในคนไข้ได้
ผอ.รพ.ศิริราช กล่าวอีกว่า อีกโครงการระบบการแพทย์ฉุกเฉินอัจฉริยะ ก็คือ มีการติดตั้งบนรถพยาบาลฉุกเฉิน ที่มีการเชื่อมเครือข่าย 5G โดยที่ไม่ต้องมีแพทย์นั่งไปพร้อมกับรถ แต่ข้อมูลอาการของคนไข้จะถูกส่งเป็นภาพไปยังแพทย์ที่เตรียมพร้อมอยู่ในรพ. ผ่านระบบ VR เพื่อส่งคำสั่งการรักษาเบื้องต้น ซึ่งทางหัวเว่ยได้มีส่วนเข้ามาช่วยวางระบบ 2 ด้าน คือ ในด้านนำเทคโนโลยี 5G มาวางระบบในอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และด้านการพัฒนา Digital Health Hub ที่จะเป็นห้องทดลองค้นคว้า ในการสร้างสตาร์ทอัพเกี่ยวการแพทย์ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 2 เดือนนับจากนี้
“ส่วนในเฟสที่ 2 จะมีการขยายผลแนวคิดโรงพยาบาลอัจฉริยะไปสู่โรงพยาบาลเครือข่าย หรือขยายไปยังระบบการแพทย์ปฏิบัติการอื่นๆในโรงพยาบาลอย่างทั่วถึง ซึ่งการวางระบบเทคโนโลยีและดิจิทัล และการเปลี่ยนเครื่องมือแพทย์ที่จะครอบคลุมทั้งวงจรอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 ปี ” ผอ.รพ.ศิริราช กล่าว
ผอ.รพ.ศิริราช กล่าวอีกว่า ดังนั้นอาจจะสรุปได้ว่าการมีโรงพยาบาลอัจฉริยะ คือการสร้างระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีความฉลาดให้บริการคนไข้สะดวก รวดเร็ว เช่น การลงทะเบียนการรักษาแบบออนไลน์ ไม่จำเป็นที่จะต้องลงทะเบียนแค่ในโรงพยาบาล และการใช้คนน้อยน้อยลง เพิ่มการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ลดการทำงานแพทย์ในบางส่วนที่เทคโนโลยีสามารถช่วยได้ ทำให้แพทย์ได้ใช้เวลาทำงานในการรักษาอย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นการวิถีการให้บริการในการดูแลรักษาคนไข้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอไอเอสคว้าคลื่น 700 MHz จาก NT มูลค่า 14,866 ล้านบาท
AIS ปิดดีลคลื่น 700 MHz รับโอน 5 MHz จาก NT มูลค่า 14,866 ล้านบาท หนุนบริการ 5G ครอบคลุมพื้นที่ในต่างจังหวัด พร้อมเซ็นสัญญาให้ NT เช่าใช้อุปกรณ์โครงข่าย และโรมมิ่ง
นายกฯ ปลื้ม Ericsson ยกไทยเป็นตลาดผู้นำด้าน 5G ในภูมิภาค
นายกฯ ยินดี Ericsson ยกไทยเป็นตลาดผู้นำด้าน 5G ในภูมิภาค รายงานระบุ มีความพร้อมของบริการ 5G ครอบคลุมประชากรกว่า 80% และมีแนวโน้มเติบโตอย่างแข็งแกร่ง สะท้อนผลสำเร็จตามนโยบายรัฐบาล