29ต.ค.2565-ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) กล่าวถึงบริการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ไม่มีฟันทั้งปากในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2566 ตามโครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567 ว่า สิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สิทธิบัตรทองหรือสิทธิ 30 บาท) มีทั้งสิทธิทำฟันเทียมหรือที่เรียกง่ายๆ ว่าฟันปลอม และสิทธิการทำรากฟันเทียม โดยกรณีรากฟันเทียม คณะกรรมการ สปสช. ได้อนุมัติให้เป็นสิทธิประโยชน์ตั้งแต่ปี 2564 และเริ่มดำเนินการจริงตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา
ทพ.อรรถพร กล่าวต่อไปว่า ในกรณีของการทำฟันเทียมนั้น ขณะนี้ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ คือบัตรทอง ประกันสังคม และข้าราชการ ได้จัดให้เป็นสิทธิประโยชน์แล้ว แต่ในส่วนของรากฟันเทียม ขณะนี้ยังมีเฉพาะสิทธิบัตรทองและไม่ใช่ว่าจะสามารถทำได้ทุกคน แต่มีเงื่อนไขคือผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่สูญเสียฟันทั้งหมดของขากรรไกรบนและ/หรือขากรรไกรล่าง และมีการละลายตัวของกระดูกขากรรไกรมากจนไม่สามารถใส่ฟันเทียมตามวิธีปกติได้ หรือใส่ฟันปลอมทั้งปากแล้วหลวม/หลุดและทันตแพทย์ไม่สามารถแก้ไขได้แล้วจึงจะพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียม
ทพ.อรรถพร เน้นย้ำว่า การจะใส่รากฟันเทียมได้ ผู้ป่วยจะต้องทำฟันปลอมก่อน เพื่อที่ทันตแพทย์จะได้รู้ว่าเมื่อใส่ฟันปลอมแล้วสามารถใช้งานได้ บดเคี้ยวอาหารได้มากน้อยเพียงใด มีปัญหาอะไรหรือไม่ หากใส่แล้วไม่มีปัญหา สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ ก็ไม่จำเป็นต้องใส่รากฟันเทียม แต่หากใส่ฟันปลอมแล้วหลวม หลุดง่าย ไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทันตแพทย์จะทำการปรับแก้ จนกระทั่งไม่สามารถปรับแก้ได้แล้ว จึงจะพิจารณาให้ใส่รากฟันเทียม
“ขั้นตอนการรับสิทธิ ผู้ป่วยก็ไปรับบริการที่หน่วยบริการประจำตามปกติ หากหน่วยบริการนั้นรักษาไม่ได้ ทันตแพทย์จะแนะนำให้ไปรับบริการในหน่วยบริการที่สามารถผ่าตัดฝังรากฟันเทียมได้ ซึ่งขณะนี้มีหน่วยบริการที่สามารถผ่าตัดได้ประมาณ 100 กว่าแห่งทั่วประเทศ และการไปรับบริการก็ไม่จำเป็นต้องใช้ใบส่งตัวแต่อย่างใด”ทพ.อรรถพร กล่าว
ทั้งนี้ รากฟันเทียมที่ใช้สำหรับสิทธิบัตรทองนั้น จะเป็นรากฟันเทียมที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรม ซึ่งผลิตโดยบริษัทคนไทย โดยองค์การเภสัชกรรมจะเป็นผู้จัดซื้อแทน สปสช. จากนั้นสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย จะเป็นผู้จัดการกระจายรากฟันเทียมเหล่านี้ไปที่ Center ของแต่ละจังหวัด เมื่อมีการให้บริการเกิดขึ้น สปสช.จะจ่ายชดเชยค่าบริการแบบเหมาจ่าย 17,500 บาท/ราย และยังมีค่าติดตามการรักษาปีที่ 1 เหมาจ่าย 700 บาท/ครั้ง ปีที่ 2-5 เหมาจ่ายปีละ 2,800 บาท โดยมีการติดตามการรักษาอย่างน้อยปีละ 4 ครั้ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอเหรียญทอง' แจกแจงแนวคิดจ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง ชี้ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรพ.รัฐ
พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โครงการ 'จ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง แอดมิตไม่ต้องเสียเงิน ทุกเขตทั่วราชอาณาจักรไม่ต้องใช้ใบส่งตัว'
ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย
รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย