รศ.สายัณ พุทธลา รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา(มบส.) เปิดเผยว่า ตามที่ผศ.ดร.ลินดา เกณฑ์มา อธิการบดี มบส.ได้มอบหมายให้ทางศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี จังหวัดสุพรรณบุรีจัดทำโครงการศูนย์การเรียนรู้ การวิจัย และพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับการเรียนรู้สมุนไพร ศาสตร์พระราชา และการสร้างเสริมฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงวัย และประชาชนทั่วไปในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี2564 ใน 10 อำเภอ โดยทางศูนย์การศึกษาอู่ทองฯ ได้เข้าไปช่วยชาวบ้านตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ คือการวิเคราะห์ภูมิประเทศต่างๆของแต่ละพื้นที่ว่ามีความสมบูรณ์ในการปลูกพืชสมุนไพรอะไรได้บ้าง ซึ่งพบว่าสมุนไพรพื้นบ้านที่น่าสนใจและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้เป็นอย่างดี เช่น ขมิ้น มะกรูด กระชาย ขิง ข่าและตะไคร้ เป็นต้น จากนั้นได้เชิญตัวแทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของหมู่บ้านเข้ามาทำงานร่วมกันด้วยการเป็นต้นแบบในการนำร่องปลูกผลผลิตที่เน้นพืชสมุนไพรเป็นหลัก
ด้าน ผศ.ดร.ปณิตา แจ้ดนาลาว ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาอู่ทองทวารวดี กล่าวว่า ทางศูนย์การศึกษาอู่ทองฯได้เร่งดำเนินงานโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเรื่องการปลูกและแปรรูปสมุนไพรพื้นบ้าน เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทั้งในครัวเรือนและส่งให้แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ นำไปใช้ในการรักษาโรค ที่สำคัญยังเป็นการสนองนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยาเป็นอีกหน่วยงานหลักในการผลักดันจังหวัดสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองสมุนไพร ส่วนการทำงานของศูนย์การศึกษาอู่ทองฯ ในปีงบประมาณ 2565 นั้นได้มีการสานต่อโครงการศูนย์การเรียนรู้ฯ มีการติดตามผลการดำเนินงานที่เข้าไปส่งเสริมว่าเป็นอย่างไร มีปัญหาอะไรบ้าง ผลปรากฏว่าชาวบ้านพอใจที่ทางศูนย์การศึกษาอู่ทองฯ ได้เข้าไปให้ความรู้และส่งเสริมการปลูกสมุนไพรทำให้ได้ผลผลิตดีขึ้น รวมถึงยังได้มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร เพื่อใช้ในครัวเรือน เช่น สบู่ ยาหม่อง เครื่องสำอาง และเครื่องดื่ม เป็นต้น แต่ชาวบ้านก็มีความกังวลเรื่องการตลาดว่าพืชสมุนไพรที่ผลิตออกมานั้นจะขายได้หรือไม่ และอยากให้เราช่วยวางแผนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องด้วย
โดยมบส. จะทำบันทึกความร่วมมือ เอ็มโอยูร่วมกับทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสุพรรณบุรีในเร็ว ๆ นี้ เพื่อช่วยส่งเสริมการปลูกสมุนไพรให้มีมาตรฐาน รองรับภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการวัตถุดิบจากสมุนไพร การแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากสมุนไพร และทางจังหวัดพร้อมให้ใช้โลโก้น้องเหน่อ มาเป็นแบรนด์ในการทำตลาดเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์
“นอกจากนี้ ทางคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มบส.ได้จัดตั้งศูนย์วิจัยกัญชาและกัญชง เพื่อศึกษาและดำเนินงานวิจัยยา โดยการนำสมุนไพรเศรษฐกิจอย่างกัญชา กัญชงมาผสมผสานกับสมุนไพรพื้นบ้าน เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคด้วย เราตั้งใจที่จะทำอย่างเต็มที่ ในปี 2566 หวังว่าจะได้รับงบฯจากทางจังหวัดสุพรรณบุรีที่จะมาสานต่องานต่างๆ ทั้ง10 อำเภอ หากไม่ได้รับงบฯจากทางจังหวัด ก็พอจะมีงบฯจากมหาวิทยาลัยที่จะมาดำเนินงานบ้างในการพัฒนาพื้นที่อำเภออู่ทอง เพื่อปักหมุดนำร่องให้เห็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบก่อน” ผศ.ดร.ปณิตา กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
’ชัยภูมิเมืองสมุนไพร’ ต้นแบบพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืน
จังหวัดชัยภูมิเมืองเกษตรกรรม ที่มีความสำคัญในแง่การปลูกพืชสมุนไพร เป็นแหล่งรวบรวมสมุนไพรพันธุ์ดีและพันธุ์พื้นบ้าน เกษตรกรใช้ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมา
'พญาตู่' เหยียบสุพรรณบุรี 9 ธ.ค.พบปะชาวนา
โฆษกรัฐบาล เผยพญาตู่เหยียบสุพรรณบุรี 9 ธ.ค. เตรียมมอบเงินมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามโครงการประกันรายได้