20 ต.ค.2565-นางสาวสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวเกี่ยวกับกฎหมายกัญชาว่า ตามที่รัฐบาลได้ประกาศใช้พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดให้สามารถนำกัญชาไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้ และต่อมามีประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 ส่งผลให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 และไม่อยู่ภายใต้มาตรการควบคุมการใช้สารเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) เกินร้อยละ 0.2 โดยนับแต่ประกาศฉบับดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา
ต่อมาพบว่ามีรายงานการใช้กัญชานอกเหนือจากการใช้ทางการแพทย์ และรายงานผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกี่ยวเนื่องจากการใช้กัญชาออกมาเป็นระยะ ทำให้หลายภาคส่วนมีความห่วงกังวลถึงผลกระทบจากการใช้กัญชา โดยเฉพาะในเด็กและเยาวชน สตรีตั้งครรภ์ และบุคคลที่มีโรคประจำตัวบางโรค รวมถึงผลกระทบในด้านอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัยในการขับขี่ยานพาหนะหรือการทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักร ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้
โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการจัดทำกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคจากการใช้กัญชา กัญชง ที่ไม่เหมาะสมและอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ นางสาวสุภัทรา กล่าวอีกว่า กสม. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกำหนดให้ทุกส่วนของกัญชา กัญชง ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการบริโภคกัญชาได้อย่างแพร่หลาย และการใช้กัญชาที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ยังเกี่ยวเนื่องกับสิทธิเด็ก กสม.จึงได้จัดการประชุมหารือและรับฟังความคิดเห็น เรื่องสิทธิด้านสุขภาพกับสถานการณ์การใช้กัญชาในประเทศไทยขึ้น เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 โดยมีผู้แทนจากภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ศูนย์พิษวิทยารามาธิบดี มูลนิธิเมาไม่ขับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันกัญชาทางการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) และกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วม
คณะกรรมการกสม. อธิบายต่อว่า เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้กัญชา บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวข้องและหลักสิทธิมนุษยชนแล้ว กสม. เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 55 และมาตรา 61 กำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องเสริมสร้างให้ประชาชน มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค รวมทั้งต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไก ที่มีประสิทธิภาพในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคด้านต่าง ๆ เช่น การรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริง และความปลอดภัยในการบริโภค นอกจากนี้ อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กยังกำหนดให้รัฐภาคีต้องดำเนินมาตรการ ที่เหมาะสมในการคุ้มครองเด็กจากการใช้สิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งรวมยาเสพติด รวมทั้งสารที่มีพิษต่อจิตประสาทอื่น ๆ ด้วย
“ทั้งนี้ ในกรณีการคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะเด็กเยาวชน และสตรีตั้งครรภ์ จากการใช้กัญชา นั้น กสม. เห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดมาตรการและออกกฎหมายลำดับรอง เพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากการใช้กัญชาหลายฉบับ แต่มาตรการส่วนใหญ่ ไม่มีกลไกบังคับใช้ ที่ชัดเจนและไม่ครอบคลุมเพียงพอที่จะสามารถป้องกันผลกระทบจากการใช้หรือการบริโภคกัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาได้อย่างมีประสิทธิผล “นางสาวสุภัทรากล่าว
นอกจากนี้จากการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้กัญชา ปรากฏรายงานผลกระทบจากการใช้กัญชาของประชาชน รวมถึงเด็กและเยาวชน ผ่านทางสื่อต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความรู้ความเข้าใจ และการได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องไม่เพียงพอต่อการใช้กัญชาปลอดภัยด้วย ดังนั้น กสม. จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน รวมทั้งข้อเสนอแนะในการจัดทำกฎหมายต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี(ครม.) สรุปได้ดังนี้
1.ในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครม. ควรมอบหมายให้ สธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการบังคับใช้ มาตรการคุ้มครองสุขภาพตามประกาศต่าง ๆ ให้เกิดประสิทธิผล เช่น การปกป้องคุ้มครองเด็กเยาวชน สตรีตั้งครรภ์หรืออยู่ระหว่างให้นมบุตร และบุคคลที่มีความเปราะบางด้านสุขภาพ การควบคุมการผลิตและจำหน่ายหรือใช้กัญชา กัญชงที่ไม่ใช่ทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด ทั้งปริมาณที่ใช้ในอาหาร เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ การควบคุมลักษณะบรรจุภัณฑ์และฉลากต้องไม่มีลักษณะจูงใจเด็กและเยาวชนในการบริโภค ต้องให้ข้อมูลส่วนผสมของกัญชา กัญชง โดยละเอียด เป็นต้น
นอกจากนี้ ควรมีการพัฒนาองค์ความรู้ เครื่องมือ และสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพ กำหนดมาตรการควบคุมคุณภาพการปลูกกัญชา กัญชง พัฒนากลไกการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์การใช้ ทั้งในสถานพยาบาล สถานศึกษาและชุมชน เชื่อมโยงฐานข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะ และสนับสนุนให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการควบคุมการปลูกและการใช้ประโยชน์จากกัญชา
2.ในการจัดทำกฎหมายรัฐสภาควรพิจารณา ให้มีกฎหมายระดับพ.ร.บ.ที่รวบรวมมาตรการเกี่ยวกับการใช้กัญชา กัญชงให้อยู่ในฉบับเดียวกัน และควรพิจารณาให้มีมาตรการในการคุ้มครองด้านสุขภาพและควบคุมการใช้กัญชา กัญชงในกฎหมาย เช่น การควบคุมให้มีสาร THC ในปริมาณที่เหมาะสม ในเรื่องบรรจุภัณฑ์และฉลาก ต้องมีการให้ข้อมูลและคำเตือนด้านสุขภาพ การกำหนดการห้ามโฆษณาเพื่อขาย/วางจำหน่าย การกำหนดพื้นที่ห้ามสูบกัญชาและบทกำหนดโทษ
“นอกจากนี้ ครม.ควรมอบหมายให้ สธ. และกระทรวงคมนาคมปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการใช้กัญชา กัญชง เช่น ระดับของการสูบหรือบริโภคเท่าไหร่ ในการห้ามขับขี่ยานพาหนะและการห้ามทำงานกับเครื่องจักร ทำงานในที่สูง หรือทำงานในลักษณะอื่นที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุ การกำหนดให้มีการตรวจจับระดับการสูบ/บริโภคกัญชาขณะขับขี่ยานพาหนะเช่นเดียวกับการตรวจจับแอลกอฮอล์ รวมทั้งพัฒนากฎหมายห้ามการขับขี่ยานพาหนะ และการทำงานกับเครื่องจักรในลักษณะอื่น ที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุในขณะที่บริโภคกัญชา กัญชงไว้เป็นการเฉพาะ”กรรมการกสม.สรุป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'สนธิญา' ยื่น 'กสม.' สอบ 'ทักษิณ' ละเมิดสิทธิ์ หานักร้องเป็นหมา
ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) นายสนธิญา สวัสดี เดินทางยื่นหนังสือ พร้อมหลักฐานภาพข่าวการหาเสียงนายก องค์การ
เปิดฉบับเต็ม! รายงานกสม. มัดเรือนจำพิเศษกรุงเทพ-รพ.ตำรวจ เลือกปฏิบัติช่วยทักษิณ
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน รายงานผลการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน เรื่อง "การเลือกปฏิบัติและสิทธิของผู้ต้องขัง กรณีร้องเรียนว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้รับสิทธิรักษาพยาบาลดีกว่าผู้ต้องขังรายอื่น" กรณีผู้ร้อง(ปกปิดชื่อ) ผู้ถูกร้อง เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ที่ 1โรงพยาบาลตำรวจที่ 2
กสม.แถลงค้าน ปิดศูนย์เรียนรู้เด็กข้ามชาติ ชี้สถานศึกษาในพื้นที่ ยังไม่มีความพร้อม
ตามที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุราษฎร์ธานีประกาศปิดศูนย์การเรียนมิตตาเย๊ะ บางกุ้ง ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี
'ทวี' ขึงขัง! สั่ง 'กรมคุก' ตามดู 'นช.ทักษิณ' รักษาตัวชั้น 14 ละเมิดสิทธิผู้ต้องขังภาพรวมหรือไม่
ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ส่งเรื่องให้
เอาแล้ว! ป.ป.ช.รับข้อมูล กสม. พิจารณา ปมเอื้อ ‘ทักษิณ’ รักษาตัวชั้น 14
เรื่องนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ข้อเท็จจริงรวบรวมพยานหลักฐานของคณะทำงานไต่สวนที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและทบทวนพยานหลักฐาน ซึ่งสุดตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ส่งรายงานการพิจารณาของกสม.มาให้ป.ป.ช.เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
กสม. ชงแก้กม. ให้ผู้ติดยาเสพติดได้บำบัดรักษา โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิ
'กสม.' ชงแก้ไข กม. ให้ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาได้ โดยไม่จำกัดสิทธิว่าเป็นผู้กระทำผิด ตามหลักสากล 'ผู้เสพคือผู้ป่วย'