'ตรีนุช' เผยศธ.ไทยสานความร่วมมือกระทรวงศึกษาสิงคโปร์ พัฒนาครู และผู้เรียน โดยสิงคโปร์เสนอแพลตฟอร์ม กับไทยนำไปใช้กับ รร.ที่ห่างไกล

19 ต.ค.2565-นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยว่า จากที่ตนพร้อมด้วยนายอรรถพล สังขวาสี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และคณะ ได้เป็นผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 12 ที่โรงแรม MELIA Hanoi กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ตน กับ นาย Chan Chun Sing รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของประเทศสิงคโปร์ ได้เจรจาหารือความร่วมมือทวิภาคีระหว่างกระทรวงศึกษาธิการประเทศไทย กับกระทรวงศึกษาธิการประเทศสิงคโปร์ โดยไทยได้หารือเกี่ยวกับการจัดการฝึกอบรมให้แก่ครูไทย รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มสำหรับการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล เนื่องจากสิงคโปร์มีแพลตฟอร์ม Model school ที่สนับสนุนการเรียนได้ทุกวิชาและพร้อมที่จะช่วยอบรมให้กับไทยได้

“ การศึกษาของไทยมีความแตกต่างหลากหลายตามแต่ละบริบทพื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบทห่างไกล โดยกระทรวงศึกษาธิการของไทยก็มีการออกแบบแพลตฟอร์มการเรียนที่ช่วยลดช่องว่างในการจัดการเรียนการสอน ควบคู่ไปกับนโยบายลดอัตราการหลุดจากการศึกษา (Drop out) เพื่อนำเด็กกลับมาเข้าสู่ห้องเรียนและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดิฉันจึงได้หารือกับสิงคโปร์ในประเด็นดังกล่าว” นางสาวตรีนุช กล่าว

นางสาวตรีนุช กล่าวต่อไปว่า ทางสิงคโปร์ ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษในเรื่องระบบการศึกษาของประเทศไทย โดยเฉพาะกระบวนการผลิตครู การฝึกอบรมครู การจัดสวัสดิการของครู การสับเปลี่ยนหรือเคลื่อนย้ายครู และการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหาร รวมถึงขอให้ไทยสานต่อความร่วมมือระหว่างกันในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนต่าง ๆ เช่น โครงการแลกเปลี่ยนนักเรียน โครงการค่ายนักเรียนไทย-สิงคโปร์ (STEP Camp) ทุนการศึกษาของสิงคโปร์ และโครงการฝึกอบรมครูสาขาต่าง ๆ ซึ่งได้หยุดชะลอไปในช่วงโควิด-19 แต่ตอนนี้สถานการณ์ได้คลี่คลายแล้ว จึงควรมีการดำเนินการต่อ ตลอดจนพัฒนาแพลตฟอร์มที่ครูสามารถแลกเปลี่ยนและเข้าถึงสื่อการเรียนการสอนที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาห้องเรียนด้วย โดยสิงคโปร์มีโปรแกรมที่พร้อมจะให้การสนับสนุนการฝึกอบรมของไทย เช่น การฝึกอบรมพื้นฐาน โปรแกรมฝึกงานด้านอุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เป็นต้น ซึ่งในการหารือครั้งนี้ไทยได้เสนอความร่วมมือเพิ่มเติมในโครงการอบรมครูอาชีวศึกษาสาขาอุตสาหกรรมการบิน (Aerospace) สาขาอุตสาหกรรมการเกษตร (เกษตรสมัยใหม่) สาขาหุ่นยนต์ (Robotic) ฯลฯ ซึ่งทางสิงคโปร์ยินดีให้การสนับสนุนและได้เสนอการจัดการฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้น 3 – 6 เดือน โดยจะให้ประสานการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศโดยเร็ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เซียนการศึกษา “วิษณุ เครืองาม” เสนอตั้งกรรมการนวัตกรรมทางการศึกษา Active Learning พร้อมภาครัฐสานต่อเพื่อการศึกษาในอนาคต

ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านของรัฐบาล แนวทางการพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนในประเทศไทยยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับความต่อเนื่อง หลักสูตร Active Learning จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอย่างจริงจัง

เชิญชวนน้องๆ กลุ่มมัธยมศึกษา (เทียบเท่า) ร่วมประกวดสื่อสร้างสรรค์ "Digi Camp ค่ายเยาวชนไทยรู้เท่าทันสื่อ" ปี 2

ถ้าคุณเป็นเยาวชนที่สนใจ...การใช้สื่อโซเชียลมีเดียบนโลกอินเทอร์เน็ตในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การโพสต์ และการแชร์ข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในฐานะผู้รับสาร ผู้ส่งต่อ