เคาะ'ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์’ หรือสายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เป็นบริการในระบบบัตรทอง

16 ต.ค.2565- ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 10/2565 เมื่อวันที่ 3 ต.ค. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบประกาศกำหนดให้ “ศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ” (ศบช.) โดยมูลนิธิสร้างสุขไทยเป็นสถานบริการอื่นตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เริ่มให้บริการปีงบประมาณ 2566 ตามการนำเสนอโดย ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานการให้บริการสาธารณสุข

ทั้งนี้ มติดังกล่าวสืบเนื่องตามผลการศึกษา “การประเมินความคุ้มค่าและภาระงบประมาณของบริการให้คำปรึกษาเลิกยาสูบของ ศบช. จัดทำโดย ดร.ภญ.ปฤษฐพร กิ่งแก้ว โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) พบว่าบริการของ ศบช. ทำให้คนเลิกบุหรี่สำเร็จกว่าร้อยละ 17 ของผู้มารับบริการ มีความคุ้มค่า ช่วยประหยัดต้นทุนทางสังคมได้ตั้งแต่ 525–10,333 บาทต่อผู้สูบหนึ่งราย ส่งผลให้ในการประชุมบอร์ด สปสช. ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 มีมติเห็นชอบให้บริการสายด่วนเลิกบุหรี่เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้จ่ายชดเชยบริการได้ภายหลังจากที่ ศบช. ได้ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) พร้อมให้จัดทำร่างประกาศกำหนดให้ ศบช. เป็นสถานบริการอื่นตามมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ศบช. อยู่ภายใต้การดูแลโดยมูลนิธิสร้างสุขไทย จดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิกับกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2551 และเริ่มให้บริการคำปรึกษาทางโทรศัพท์ สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 มาตั้งแต่ปี 2552 รับสนับสนุนงบประมาณจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และที่ผ่านมายังได้รับการรับรอง มาตรฐานระบบการให้บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ โดยกรมควบคุมโรคเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ในส่วนบุคลากรบริการ ศบช. ยังมีคุณสมบัติตามตามแนวปฏิบัติการบริการของสถานบริการสาธารณสุขอื่นตามที่ บอร์ด สปสช. ได้มีมติเมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2563 ได้แก่ บุคลากรด้านสาธารณสุขสาขาต่างๆ ที่ผ่านการอบรมณ์หลักสูตรของศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์ เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษา และมีเจ้าหน้าที่ที่มีวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ทำหน้าที่คัดกรองเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ และสร้างแรงจูงใจในการเข้ารับการบำบัด

“บริการสายด่วนเลิกบุหรี่ ภายใต้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับประชาชนไทยทุกคน จะเริ่มให้บริการในปีงบประมาณ 2566 นี้ โดยตั้งเป้าหมายผู้รับบริการเบื้องต้นที่ 21,400 คนต่อปี โดยทุกรายที่เข้ารับบริการต้องมีการแสดงเลขบัตรประชาชน 13 หลัก เพื่อพิสูจน์ตัวตน ในการนี้ สปสช. จะมีการกำกับติดตามผลงานการให้บริการร่วมกับกรมควบคุมโรค เพื่อเป็นการประเมินการดำเนินงานต่อไป” เลขาธิการ สปสช. กล่าว

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี! บอร์ด สปสช. เพิ่มงบแพทย์แผนไทย ช่วยผู้ป่วยบัตรทอง

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เห็นชอบวาระพิจารณา (ร่าง) หลักเกณฑ์