13ต.ค.2565-นพ. ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากมติการประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค แนะนำให้เด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี เข้ารับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) ฝาสีแดง เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกัน โดยจากข้อมูลสถานการณ์การติดเชื้อโควิด 19 พบว่า ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี พบอัตราป่วยสูงเป็น 1.5 เท่าของเด็กอายุ 5-9 ปี และพบอัตราการเสียชีวิตสูงเป็น 3 เท่าของเด็กอายุ 5-9 ปี เพื่อป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิต ผู้ปกครองจึงควรพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนตามกำหนด
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ (Pfizer) ฝาสีแดง จะฉีดให้เด็กตั้งแต่อายุ 6 เดือน – 4 ปี ซึ่งกำหนดให้ฉีดวัคซีน 0.2 ซีซี (3 ไมโครกรัม) จำนวน 3 เข็ม เข็มสองห่างจากเข็มแรก 1 เดือน และเข็มสามห่างเข็มสอง 2 เดือน หลังฉีดให้สังเกตอาการ 30 นาที และติดตามต่อจนครบ 1 เดือน โดยให้จัดจุดบริการแยกจากกลุ่มวัยอื่น เพื่อป้องกันความสับสนในการใช้วัคซีน
“เด็กทุกคนควรเข้ารับวัคซีน โดยเฉพาะเด็กที่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรครุนแรงหรือเสียชีวิต พร้อมทั้งได้มีการสื่อสารถึงเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และสาธารณสุขในเรื่องการบริหารจัดการวัคซีนไฟเซอร์สีแดง โดยให้ผ่านระบบสถานพยาบาล หรืออาจพิจารณาให้วัคซีนในศูนย์เด็กเล็กภายใต้กำกับของแพทย์ หรือตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานครเห็นสมควร เริ่มฉีดวัคซีนได้เมื่อมีความพร้อม โดยให้เป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก ไม่เสียค่าใช้จ่าย และการรับวัคซีนไม่เป็นเงื่อนไขในการไปโรงเรียน” นพ. ธเรศกล่าว
นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า วัคซีนดังกล่าวสามารถให้พร้อมกับวัคซีนอื่นๆ ในวันเดียวกันได้ หรือห่างกันเท่าใดก็ได้ สำหรับข้อกังวลเรื่องผลข้างเคียง สหรัฐอเมริกามีการฉีดและติดตามล้านกว่าโดส พบว่ามีผลข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต ไม่มีอาการแทรกซ้อนรุนแรงถึงเสียชีวิต ถือว่าปลอดภัยสำหรับเด็กเล็กและยังช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะ MIS-C จากการติดเชื้อด้วย โดยขณะนี้กรมควบคุมโรค ได้จัดส่งวัคซีนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่ง เพื่อให้กระจายต่อในพื้นที่ตามจำนวนที่มีการแจ้งความประสงค์ ขอเชิญผู้ปกครองที่สนใจพาบุตรหลานเข้ารับวัคซีนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ ณ สถานพยาบาลทั่วประเทศ ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานครกำหนด
“หมอประสิทธิ์” ย้ำเด็กเล็ก 6 เดือน – 4 ปี ควรมาฉีดวัคซีน เป็นกลุ่มเสี่ยงติดกันง่าย ทุกวันนี้ยังเจอเด็กเล็กเสียชีวิต อย่าคิดว่าผู้ใหญ่ฉีดมากแล้วจะปลอดภัย เหตุ้ชื้อกลายพันธุ์ตลอดเวลา ส่วน “สิงคโปร์” ติดเชื้อเพิ่ม เป็นสโลว์เบิร์น ปะทุขึ้แล้วลดลง ไม่แพร่ออกไปนอกประเทศ
ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา อดีตคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ถ้าผู้ปกครองยังกังวล การฉีดวัคซีนโควิดเด็กอายุ 6 เดือน – 4 ปี ว่า วัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็กเล็กได้ผ่านการรับรองของ อย.สหรัฐฯ และเริ่มให้ฉีดในกลุ่มเด็กเล็กในสหรัฐมาแล้ว และมีการใช้จำนวนมากในหลายประเทศ เนื่องจากกลุ่มเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยง ที่ติดเชื้อง่ายมาก ถ้าเด็กคนไหนมีภาวะอักเสบในอวัยวะต่างๆ หรือ มีภาวะMIS-C แล้วติดโควิด จะเสี่ยงเสียชีวิตมากยิ่งขึ้น และแม้ว่า สถานการณ์โควิดดูเหมือนสงบ แต่มีโอกาสก่อตัวขึ้นมาเมื่อไรก็ได้ เพราะมีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ความเห็นส่วนตัวมองว่า โควิดยังต้องอยู่กับเราไปอีก
“บางทีเราไปกังวลหรือกลัวกับคนที่ฉีดไปเพียงรายเดียวที่เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจากที่ฉีดเป็นหมื่นๆรายแล้วไม่เกิดผลข้างเคียงใดๆ ดังนั้นที่บอกว่าผู้ใหญ่ฉีดกันเยอะแล้ว ก็ยังเป็นห่วงว่าในอีก 5-6 ปีข้างหน้าไวรัสอาจจะกลับมาอีก เพราะโคโรนาไวรัสเคยโจมตีเรามาแล้วตั้งแต่เกิดโรคซาร์สปี 2002 ต่อด้วยเมอร์ส 2012 จนมาโควิด เชื้อกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ หากคนทั้งโลกภูมิคุ้มกันลดลง เชื้อกลายพันธุ์จนถึงจุดที่รุนแรงก็จะกลับมาระบาดได้ เช่น สิงคโปร์ พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม เป็นการระบาดที่เรียกว่าสโลว์เบิร์น (slow burn) จะประทุขึ้นและค่อยๆ ลดลง โดยเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ แล้วก็หยุดลง ไม่ได้เป็นการแพร่ระบาดไปทั้งโลก จึงไม่ค่อยน่ากังวล และสโลว์เบิร์นเป็นสิ่งที่าคาดการณ์ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้ “ศ.นพ.ประสิทธิ์กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่
ไข้หวัดนกโผล่ อเมริกันติดเชื้อ ป่วยขั้นรุนแรง
กรมควบคุมโรคเผย ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐรายงานผู้ติดเชื้อไวรัสไข้หวัดนก สายพันธุ์ H5N1 ที่รัฐลุยเซียนา
กรมควบคุมโรค เผย ชาวอเมริกันติดไวรัสไข้หวัดนกจากฝูงนกหลังบ้านเป็นรายแรก หนัก!นอนICU
กรมควบคุมโรค เผยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) รายงาน ผู้ติดเชื้อไวรั
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567