'หมอโอภาส' เปิดใจรับตำแหน่งปลัดสธ.วันแรก 'โควิด 'เปลี่ยนระบบสาธารณสุขไทยก้าวไปไกล สร้างจุดแข็งรับมือวิกฤต

1 ต.ค.2565- นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขคนใหม่ ได้เข้าสักการะพระพุทธนิรามัย ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ศาลพระพรหม พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมชนกและสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระอนุสาวรีย์กรมพระยาชัยนาทนเรนทร พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระพุทธมหานวนาคปฏิมากร ก่อนเดินทางไปถวายสังฆทาน ร่วมกับคณะผู้บริหาร ณ วัดพุทธปัญญา จ.นนทบุรี หลังจากนั้น ให้สัมภาษณ์ว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขไทยเปลี่ยนไปจากเดิมค่อนข้างมาก เป็นบทเรียนในการจัดการ ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับความร่วมมือจากคนทั้งประเทศทำให้ผ่านพ้นวิกฤตไปด้วยดีทั้งจากฝ่ายนโยบาย ระบบสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็งในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค การรักษา โดยบุคลากรทางการแพทย์ทุกสังกัด การสนับสนุนจัดหายา วัคซีน การกระจายกำลังคน อสม. ที่สำคัญคือ ประชาชนมีความตื่นตัวทางสุขภาพและให้ความร่วมมืออย่างดี ถือเป็นจุดแข็งที่จะนำมาพัฒนาปรับปรุงระบบสาธารณสุขต่อไป รวมถึงการบรรจุบุคลากรสาธารณสุขเป็นข้าราชการ 4.5 หมื่นตำแหน่ง และการที่โรงพยาบาลหมดปัญหาหนี้สินและมีเงินบำรุงเพิ่มขึ้นจากการดำเนินงานโควิด 19 จะเป็นปัจจัยที่ช่วยพัฒนาระบบสาธารณสุขในระยะ 3 ปีต่อจากนี้

นพ.โอภาสกล่าวต่อว่า การทำงานจากนี้จะยึดนโยบายของรัฐบาล ทั้งแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูประบบสาธารณสุข รวมถึงนโยบายของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “Health for Wealth” สร้างสมดุลระหว่างสุขภาพและความมั่งคั่ง ซึ่งหมายถึงความมั่งคั่งทางสุขภาพ ที่เป็นต้นทุนที่สำคัญของประเทศ ซึ่งภาพรวมมี 5 เรื่อง คือ สร้างความเข้มแข็งทางสุขภาพของประชาชน, ความเข้มแข็งหน่วยบริการ, การดูแลผู้สูงอายุให้สุขภาพดี ทำงานได้เหมาะสมตามสภาพ, การพัฒนาระบบสาธารณสุข โดยใช้เงินบำรุงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของโรงพยาบาลระดับอำเภอ ช่วยกระตุ้นและหมุนเวียนเศรษฐกิจ และทำข้อมูลสุขภาพให้เป็นของประชาชนโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยพัฒนาให้เกิดประโยชน์กับประชาชน

“วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคมนี้ ที่จะมีการประชุมทางไกลถ่ายทอดนโยบาย จะขอให้โรงพยาบาลประเมินตนเองและศักยภาพทางการเงิน เพื่อนำมาใช้ลงทุนทำประโยชน์ให้ประชาชน เช่น สร้างอาคารจอดรถผู้มารับบริการ ปรับปรุงอาคารผู้ป่วย ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือติดตั้งโซลาร์รูฟ โซลาร์เซลล์ เพื่อประหยัดพลังงาน รักษาสิ่งแวดล้อม รวมถึงซ่อมแซมบ้านพักเพื่อเป็นสวัสดิการเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน เป็นต้น นอกจากนี้ โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลที่มีความพร้อม จะให้ตั้งกลุ่มงานดิจิทัลทางการแพทย์เพื่อพัฒนาการให้บริการประชาชน ให้ได้รับบริการสะดวกขึ้นลดความแออัดในโรงพยาบาล” นพ.โอภาสกล่าว

สำหรับการถ่ายโอน รพ.สต.ไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) นั้น กระทรวงเห็นด้วยกับการกระจายอำนาจ โดยประชาชนต้องไม่ได้รับผลกระทบ บริการต่างๆ ต้องได้รับตามเดิม ซึ่งได้สั่งการให้ตั้งศูนย์ติดตามการถ่ายโอนทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และกำชับให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลงนามกับนายก อบจ.ในการถ่ายโอน รพ.สต. เมื่อ อบจ.มีความพร้อมทุกด้าน โดยเฉพาะการจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขและลูกจ้าง รวมกว่า 9 พันคน หาก อบจ.ใดมีความพร้อมที่จะจ้างลูกจ้างต่อให้ดำเนินการถ่ายโอนได้ทันที ซึ่งสัปดาห์นี้คาดว่าจะมี อบจ.หลายแห่งที่พร้อมรับการถ่ายโอน รพ.สต. ระหว่างนี้ หากมีปัญหาใดๆ กระทรวงสาธารณสุขยินดีช่วย อบจ.แก้ไข เช่น เรื่องการบริการ ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจัดหน่วยบริการ พร้อมยาและเวชภัณฑ์ไปช่วยบริการ คาดว่าการถ่ายโอนจะเป็นไปอย่างราบรื่น

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอมนูญ’ เผยข้อมูลระบาดวิทยา พบ ‘โควิด-ไข้หวัดใหญ่’ ยังแพร่เชื้อต่อเนื่อง

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไข้หวัดใหญ่ยังมีต่อเนื่อง ไวรัสไข้หวัดใหญ่กำลังพุ่งสูงขึ้นตามฤดูกาล เข้าฤดูฝนแล้ว เชื้อไวรัสทางเดินหายใจทุกชนิดจะกลับมาระบาดหนักอีก

'หมอยง' ชี้ 'โควิด' ระบาดหนัก แต่รุนแรงลดลง เข้าใกล้ไข้หวัดใหญ่

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19