อว.โชว์กลุ่มอาเซียน อุดมศึกษาไทย ก้าวกระโดด ปรับตัวเร็วช่วงหลังโควิด ริเริ่มลงทะเบียนข้ามสถาบันและ U2T

29 ก.ย.2565- นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารของเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (ASEAN University Network Board of Trustees) และการประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยในภูมิภาคอาเซียน ที่นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว ระหว่างวันที่ 27-28 ก.ย. 2565 ว่า มหาวิทยาลัยทั้งภูมิภาคอาเซียน ได้ปรับตัวอย่างชัดเจนในช่วงการระบาดและหลังโควิด-19 พร้อมที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของภูมิภาค โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของทุกประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้นำเสนอแนวคิดริเริ่มใหม่ ในการปฏิรูปการอุดมศึกษาอย่างก้าวกระโดดและมีความก้าวหน้าอย่างมาก ถือเป็นมิติใหม่ที่นำมาใช้เป็นครั้งแรกใน เช่น การลงทะเบียนเรียนข้ามสถาบัน ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ การปรับบทบาทของมหาวิทยาลัยให้เป็นกลไกในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบลฯ (U2T) เป็นต้น ซึ่งได้รับความสนใจโดยได้เสนอให้ขยายผลต่อจากระดับประเทศ เป็นระดับภูมิภาคอาเซียนด้วย

ปลัด อว. กล่าวต่อว่า การประชุมเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียนครั้งนี้ เป็นการประชุมเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี โดยมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว เป็นเจ้าภาพ ซึ่งในการหารือกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว ดร.อุดม พรคำเพ็ง ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทย ที่ได้สนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษาลาวให้มาศึกษาในประเทศไทย จำนวน 700 ทุน ตามที่ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว.ได้เดินทางมาลงนามเป็นทางการกับ สปป.ลาว โดยได้เข้าพบกับท่านนายกรัฐมนตรีของ สปป.ลาว เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เกิดความตื่นตัวอย่างมากและจะเป็นการพัฒนากำลังคนในระดับมหาวิทยาลัยครั้งสำคัญของลาว

นพ.สิริฤกษ์ กล่าวด้วยว่า สำหรับเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน หรือ AUN มีสมาชิกหลัก 30 มหาวิทยาลัยจากทุกประเทศในอาเซียน และมีสมาชิกสมทบกว่า 150 มหาวิทยาลัย โดยประเทศไทยมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.มหิดล, ม.สงขลานครินทร์, ม. บูรพา, ม.เชียงใหม่ และสมาชิกสมทบอีก 9 มหาวิทยาลัย ซึ่งในการประชุมอธิการบดีนั้น เห็นตรงกันว่ามหาวิทยาลัยต้องมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ ให้มีทิศทางที่สอดคล้องกับประเด็นสำคัญของประเทศและภูมิภาครวมทั้งต้องมีความเป็นเลิศ ทั้งด้านวิชาการ ด้านการใช้ประโยชน์ ด้านบริหารจัดการ และด้านข้อมูล และขณะนี้ มหาวิทยาลัยได้ปรับจากการให้ความรู้ทางวิชาการเพียงอย่างเดียวไปสู่การพัฒนาทักษะที่สำคัญ (skill development) และปรับจากความรู้ในศาสตร์ใดเพียงด้านเดียว ไปสู่การรู้แบบองค์รวมและบูรณาการ (interdisciplinary) นอกจากนี้ได้ขยายบทบาทจากการสอนนักศึกษาระดับปริญญาตรีเป็นการศึกษาสำหรับประชาชนตลอดช่วงอายุ รวมทั้งเพิ่มเติมหลักสูตรทั้งระยะสั้น ระยะกลาง หรือ non-degree ที่สอดคล้องกับความต้องการของภาคเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นด้วย

“ที่สำคัญจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยในอาเซียนนั้น พบว่า มหาวิทยาลัยไทยและในอาเซียนกำลังเนื้อหอม ทั่วโลกสนใจและอยากมาร่วมมือด้วย แนวทางการปฏิรูปอุดมศึกษาที่ประเทศไทยกำลังดำเนินการนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญในการปรับบทบาทของมหาวิทยาลัย ให้เป็นองค์กรนำในการพัฒนาประเทศและภูมิภาคให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของประชาชน” ปลัด อว.กล่าว

เพิ่มเพื่อน