พบธุรกิจชุมชนที่เข้าร่วม 630 แห่ง และได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดของโควิด สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ราบรื่น 94% ภายใน 45 วัน
11พ.ย.2564-นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.)สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่าภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 บพท.ได้ประสานความร่วมมือกับ 20มหาวิทยาลัย ในการใช้องค์ความรู้ตลอดจนทักษะด้านการวิจัย เข้าไปผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นครอบคลุม 73จังหวัดทั่วประเทศ โดยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนระเบิดปัญหาอุปสรรค และความต้องการของตัวเองออกมาเพื่อร่วมกันแสวงหาทางแก้ไข ด้วยการสร้างนวัตกรรมความรู้ใหม่ ที่ผู้ประกอบการสามารถวิเคราะห์ปัญหาและสามารถหาทางเลือกที่เหมาะสมให้กับธุรกิจของตัวเอง สำหรับเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ธุรกิจชุมชนในท้องถิ่นอย่างได้ผล โดยผ่านแพลตฟอร์มแผนงานการพัฒนาธุรกิจชุมชน (Local Enterprise-LE)
นายบัณฑิต อินณวงศ์ หัวหน้าแผนงานการพัฒนาธุรกิจชุมชน บพท.กล่าวว่า บพท.กับคณาจารย์และคณะนักวิจัยจาก 20 มหาวิทยาลัย ได้เข้าสำรวจข้อมูลธุรกิจชุมชนที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 630แห่งระหว่างวันที่ 1-15 ก.พ.2564 และพบว่าธุรกิจกว่าร้อยละ 61.6 มีรายได้ลดลง ขณะที่ธุรกิจ ร้อยละ 42.3 ต้องลดรายจ่าย และธุรกิจ ร้อยละ 46.6 เผชิญปัญหาต้นทุนในการดำเนินกิจการ ส่วนธุรกิจ ร้อยละ 36.5 เผชิญกับความเสี่ยงในการดำเนินกิจการเพิ่มขึ้น
ภายใต้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 นายบัณฑิต กล่าวว่าได้พบปัญหาอุปสรรคสำคัญที่สุดของธุรกิจชุมชน โดยมีธุรกิจเอสเอ็มอีในชุมชนจำนวนไม่น้อยที่เสี่ยง จะต้องปิดกิจการเพราะปัญหาสภาพคล่องไม่เพียงพอส่วนใหญ่คาดว่าจะประคองธุรกิจให้อยู่รอดได้ในช่วงเวลา 6 – 7.5 เดือนเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างแรงต่อการจ้างงานงานในท้องถิ่น คือการขาดสภาพคล่องทางการเงิน และขาดความรู้ในการจัดการทางการเงิน เพื่อดำเนินธุรกิจ ดังนั้นทีมวิจัยจึงสร้างเครื่องมือประเมินสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ ในรูปของแอพพลิเคชั่นที่เรียกว่า “LE Financing”
สำหรับใช้เป็นเครื่องมือประเมินสุขภาพทางการเงินของธุรกิจชุมชนได้ทั่วประเทศโดยให้ผู้ประกอบการกรอกข้อมูลผ่านระบบและตอบคำถามที่มีการออกแบบไว้ในขั้นตอนแรกจะเป็นการประเมินจากอาการของโรคการเงิน มีการประเมินสัดส่วนทางการเงินใน 4 ส่วนที่เกี่ยวข้อง 4 ด้าน ได้แก่ รายได้ กำไร สภาพคล่อง และภาระหนี้ของธุรกิจซึ่งเป็นตัวจักรสำคัญที่ช่วยให้มองเห็นปัญหาในการดำเนินธุรกิจของตัวเอง กระตุ้นความต้องการแก้ไขจากนั้นนักวิจัยจะเข้าไปให้คำแนะนำในการแก้ปัญหาได้อย่างถูกต้องทั้งนี้ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจชุมชนทำให้เห็นความสำคัญของการเริ่มจากส่วนที่ชุมชนสามารถแก้ไขได้ก่อนใน
ลำดับแรกคือเรื่องของรายได้และสภาพคล่อง โดยให้มีการบันทึกแผนการเงินของธุรกิจผ่านแอพลิเคชั่น LE Financing จากการประเมินสุขภาพทางการเงินของธุรกิจ ในระยะเวลาประมาณ 10 วัน พบว่าสภาพคล่องของภาคธุรกิจปรับตัวดีขึ้นจำนวนของธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ขยับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47 มาอยู่ที่ร้อยละ 65 และจำนวนธุรกิจชุมชนที่ประสบปัญหาในระดับวิกฤตลดลงจากร้อยละ 39 มาอยู่ที่ร้อยละ17 และเมื่อมีการทำโครงการต่อเนื่องพบว่าสัดส่วนของธุรกิจที่สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นเพิ่มเป็นร้อยละ 89 ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อดำเนินงานต่อเนื่องจนถึงวันที่ 45 พบว่าธุรกิจชุมชนที่อยู่ในระดับวิกฤติลดลงเหลือเพียงร้อยละ 6 เท่านั้น
นายบัณฑิต ยังเปิดเผยว่าการวิจัยในครั้งนี้ยังค้นพบปัจจัยที่เป็นกุญแจสำคัญ (Key Success Factors)ในความสำเร็จของผู้ประกอบการในท้องถิ่น ใน 3 ข้อที่สำคัญ ได้แก่ 1.การมีสุขภาพการเงินที่ดี คือ มีสภาพคล่องสูงพอที่จะดำเนินธุรกิจได้ มีหนี้สินในการดำเนินงานไม่มากจนกระทบต่อเงินหมุนเวียน 2.มีความสามารถในการประกอบการอย่างต่อเนื่อง และ 3.มีความสามารถในการเลือกทำกำไรที่ดี โดยในการดำเนินการกิจการในชุมชนอาจมีสินค้าที่มีความหลากหลายชุมชนต้องสามารถเลือกจำหน่ายสินค้าที่มีอัตรากำไรสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด
“การวิจัยนี้เกิดผลสำเร็จที่สำคัญคือการปรับเปลี่ยนกระบวนความคิดผ่านการวิจัยแบบมีส่วนร่วมระหว่างนักวิชาการกับผู้ประกอบการธุรกิจชุมชนในท้องถิ่น ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการคิดและกระบวนการทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและผลลัพธ์ที่ดีที่สุด”
สำหรับ 20 มหาวิทยาลัย ที่ร่วมมือกับ บพท.ในการสร้างภูมิคุ้มกันและเสริมความเข้มแข็งแก่ธุรกิจชุมชนเพื่อก้าวข้ามวิกฤตโควิด-19 ประกอบด้วยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มหาวิทยาลัยหัวเฉียว มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณมงคล มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยฟาฏอนี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา และมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไปแอ่วหละปูนกันเต๊อะ ยลมหานครโคมโลก !
ประเด็น "การเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล" ในไหล่ทวีป 26,400 ตารางกิโลเมตร ระหว่างไทย-กัมพูชา กลับมาเป็นเรื่องร้อนๆ ที่ถูกพูดถึงทางการเมืองอีกครั้ง