วงการแพทย์ไทยดังไกลระดับโลก 'หมอชูชัย' คนไทยคนแรก คว้ารางวัล ‘ผู้นำด้านสาธารณสุข’จากม.ฮาร์วาร์ด

'นพ.ชูชัย ศุภวงศ์' คนไทยคนแรก คว้ารางวัล ‘ผู้นำด้านสาธารณสุข’ จากม.ฮาร์วาร์ด สร้างชื่อวงการแพทย์ไทย ไกลระดับโลก จากผลงานโดดเด่นในการเป็นผู้นำการควบคุมการสูบบุหรี่ ด้านสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิ่งแวดล้อม ปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ระบบสุขภาพชุมชน

27ก.ย.2565 - เมื่อวันที่ 24 กันยายน ที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา ได้มีพิธีมอบรางวัล ให้กับนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท ซึ่งได้รับรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข (Leadership Award in Public Health Practice) จาก โรงเรียนสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health ) นับเป็นคนไทยคนแรก และ คนเอเชียคนที่ 3 ที่ได้รับรางวัลนี้ ซึ่ง รางวัลนี้ยกย่องผู้สำเร็จการศึกษา ที่เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในภาครัฐหรือเอกชน

สำหรับการมอบรางวัลครั้งนี้ มีผู้ได้รับรางวัลทั้งหมด 6 คน คือ สามคนแรก ได้รับรางวัล Alumni Awards of Merit เป็นรางวัลสำหรับศิษย์เก่าที่ทรงคุณค่า สำหรับ อีกสามรางวัล คือ Leadership in Public Health Practice Award เป็นรางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข คือ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ Emerging Leader in Public Health Award เป็น รางวัลผู้นำด้านสาธารณสุขอุบัติใหม่ Public Health Innovation Award เป็นรางวัล นวัตกรรมของนักวิชาชีพสาธารณสุข

โดยคณะกรรมการพิจารณาเห็นว่านพ.ชูชัย ศุภวงศ์ มีผลงานโดดเด่นด้านสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม และระบบสุขภาพแห่งชาติ โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ Bernard T. Lee เปิดเผยว่า ในฐานะประธานร่วมของคณะกรรมการ ปีนี้เป็นปีที่มีการแข่งขันอย่างสูงยิ่ง อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จในอาชีพที่โดดเด่นของนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ สร้างความประทับใจให้กับคณะกรรมการผู้พิจารณา ในหลายๆ ด้าน”

สำหรับวิดีทัศน์ นำเสนอในวันพิธีรับมอบรางวัล สาระสำคัญของผลงานนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่นำไปสู่การได้รับ รางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข (Leadership Award in Public Health Practice) Leadership Award in Public Health Practice : ยกย่องผู้สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health )ที่เป็นแบบอย่างที่โดดเด่นของการเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขในภาครัฐหรือเอกชน สิทธิมนุษยชน. การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม. ระบบสุขภาพแห่งชาติ.

เมื่อสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในทศวรรษ 70 นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ แสดงความมุ่งมั่นและความทุ่มเทอย่างแรงกล้า เพื่อทำให้ชีวิตของคนไทยทุกคนดีขึ้น ในช่วงสิบปีแรกหลังสำเร็จการศึกษา นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ได้เลือกปฏิบัติงานในโรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่ที่ยากลำบากของประเทศ

ตลอดสี่ทศวรรษที่ผ่านมา นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท คนปัจจุบัน ได้ทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพ คุณภาพชีวิตที่ดี และการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะแพทย์ผู้ดูแลรักษาสุขภาพคนในชนบท ในฐานะผู้สนับสนุนขับเคลื่อน(Advocate)นโยบายสาธารณะที่ดี(Healthy Public Policy)และในฐานะผู้นำด้านสาธารณสุขของไทย

ด้วยเหตุนี้เขาจึงเป็นที่รู้จักมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในฐานะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพและทรงอิทธิพลที่สุดของประเทศ

ตั้งแต่สำเร็จการศึกษาปริญญาโทด้านสาธารณสุขและปริญญาโทด้านอาชีวอนามัยจาก โรงเรียนสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard T.H. Chan School of Public Health ) เขามุ่งมั่นที่จะปฏิรูประบบสาธารณสุขและปฏิรูประบบและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย

ปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ใน คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเขาได้สร้างเครือข่ายของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เพื่อสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชนกว่า 700 แห่งทั่วประเทศในช่วงการระบาดของ COVID-19 มูลนิธิแพทย์ชนบทได้ระดมความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชน และประชาชนทั่วไป สนับสนุนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ให้โรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ ตลอดจนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ(รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ในบางพื้นที่โดยเฉพาะบริเวณชายแดนของประเทศ ส่งผลให้ผู้คนในชนบท ตลอดจนผู้ด้อยโอกาส ได้รับการดูแลรักษาและป้องกันที่มีประสิทธิภาพและทันสมัย

ในช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธานชมรมแพทย์ชนบท(พ.ศ.2529-2530) ชมรมแพทย์ชนบทได้แสดงบทบาทอยู่ในแนวหน้าในการรณรงค์นโยบายปลอดบุหรี่ทั่วประเทศ โครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จัดขึ้นทั่วประเทศ(พ.ศ2530)โดยมีส่วนร่วมของแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขจากโรงพยาบาลชุมชน มีผู้ลงชื่อสนับสนุนมากกว่า 6 ล้านคน โครงการนี้จึงกลายเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การออกกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่ ปกป้องผู้ไม่สูบบุหรี่ ห้ามโฆษณาบุหรี่และยาสูบทุกชนิด ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ขนส่งสาธารณะ และสถานที่ทำงานในร่ม และอื่นๆ

นับจากริเริ่มโครงการวิ่งรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมา จนมีผลต่อการขับเคลื่อนกฎหมายที่สำคัญสองฉบับ(คือ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ) และต่อมาในปี พ.ศ. 2560 ยังได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนผลักดันกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบที่ทันสมัยในปัจจุบัน คือพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์เป็นที่รู้จักกันว่าเป็นหนึ่งในผู้นำการควบคุมการสูบบุหรี่ในประเทศไทย ความพยายามเหล่านี้นำไปสู่การได้รับรางวัลจากองค์การอนามัยโลก World No Tobacco Day 2008 Award (WNTD 2008 Award) ในปี พ.ศ.2551

ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 นพ.ชูชัยฯมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและสิทธิของชุมชนในการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพ ดังนั้น จึงได้บัญญัติ การประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (Health Impact Assessment: HIA) เป็นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเครื่องมือในการปกป้องชุมชน ปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ นับแต่นั้นมา การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพสิ่งแวดล้อมจึงถูกนำไปใช้เป็นครั้งแรกภายใต้การปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลาย

ในปีพ.ศ. 2560ได้มีการบัญญัติเรื่องการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และต่อมารัฐสภาได้ผ่าน พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 และ กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้งคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ทำให้คนไทยทุกคนได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงระบบสุขภาพปฐมภูมิหรือระบบสุขภาพชุมชน อย่างทั่วถึงในอนาคตอันใกล้

ทั้งนี้ เกิดจากการขับเคลื่อน การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ ของ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่แสดงบทบาทนำในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ58 ตลอดจน สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.)

สุดท้ายนี้ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ยังคงเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพของประเทศไทย ในฐานะประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบท และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ กระทรวงสาธารณสุข ได้ประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิหรือระบบสุขภาพชุมชน โดยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข(สวรส) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ(สช.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล(สรพ. ) และ มูลนิธิสุขภาพแห่งชาติ(มสช.) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิ หรือ ระบบสุขภาพชุมชน ในเกิดผลสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ จะทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีความเข้มแข็ง และระบบสุขภาพไทยทั้งระบบมีความยั่งยืน

ด้วยผลงานนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ในกว่าสี่ทศวรรษที่ผ่านมาดังกล่าวโรงเรียนสาธารณสุข มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด จึงยกย่อง เชิดชู นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็น ผู้นำด้านสาธารณสุขประจำปี 2022 (Leadership Award in Public Health Practice)

ด้าน นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กล่าวผ่านวิดีทัศน์ ว่า นับว่าเป็นเกียรติประวัติอย่างยิ่งที่ได้รับรางวัลอันทรงคุณค่า รางวัลผู้นำด้านสาธารณสุข ก่อนอื่นกระผมขอแสดงความขอบคุณต่อคณะกรรมการผู้พิจารณาที่ให้การยอมรับและเห็นคุณค่าต่องานด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ที่กระผมได้ทำมากว่าสี่ทศวรรษ

กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รางวัลแห่งเกียรติยศนี้ จะสร้างแรงบันดาลใจอย่างแท้จริงต่อแพทย์และบุคลากรด้านสุขภาพ โดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.)นับล้านคน ที่ปฏิบัติงานอยู่ในชุมชนชนบทขณะนี้ ให้ร่วมกันขับเคลื่อนผลักดันการปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิหรือระบบสุขภาพชุมชนต่อไป

ท้ายที่สุด ขอขอบพระคุณต่อศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดซึ่งเป็นแบบอย่างอันดีเลิศ คือ นายแพทย์อมร นนทสุต ผู้ล่วงลับ ศิษย์เก่า ผู้ริเริ่มและผู้นำทางความคิดในการวางรากฐานระบบสาธารณสุขมูลฐานของไทย

และด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างสุดซึ้งต่อสมเด็จพระบรมราชชนกฯ ศิษย์เก่าฮาร์วาร์ด พระองค์ทรงเป็นแรงบันดาลใจต่อพวกเราแพทย์ไทยทุกคนในการอุทิศตนเพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย

กระผมเชื่อมั่นว่า การเดินตามรอยเท้าของศิษย์เก่าฮาร์วาร์ดทั้งสองท่านดังกล่าวข้างต้น จะนำพาความสำเร็จมาสู่การปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและความยั่งยืนของระบบสุขภาพไทยทั้งมวล

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม.ชงนายกฯ ทบทวนปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบเป็นลูกโซ่

'กสม.' มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้คุ้มครองสิทธิเด็กลูกหลานแรงงานต่างด้าวอย่างเป็นระบบ ทบทวนมาตรการปิดศูนย์การเรียนรู้เด็กต่างด้าว ห่วงผลกระทบกว้างขวางเป็นลูกโซ่

ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิแพทย์ชนบทและอดีตเลขาธิการแพทยสภา นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ อดีตรองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เผยแพร่บทความ เรื่อง ขบวนการแพทย์ชนบท : การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีเนื้อหาดังนี้

รางวัลแมกไซไซ 2567 ขบวนการแพทย์ชนบท กับการพัฒนาระบบสุขภาพไทย

หนึ่งในองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ ที่มีบทบาทและชื่อเสียงในสังคมไทยมายาวนาน ที่นับจากก่อตัวมาจนถึงปัจจุบัน ก็มีเส้นทางการทำงานมาถึงห้าทศวรรษแล้ว นั่นก็คือ”ชมรมแพทย์ชนบท”

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง : วัฒนธรรมองค์กรของระบบสุขภาพไทย เอื้อต่อการสร้างและพัฒนาเครือข่ายแพทย์ชนบท นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์

'ขบวนการแพทย์ชนบทไทย' คว้ารางวัลแมกไซไซ ปี67 ยกย่องแพทย์หนุ่มสาว เชื่อมั่นพลังปฏิรูประบบสุขภาพ

ขบวนการแพทย์ชนบท(RURAL DOCTORS MOVEMENT) คว้ารางวัลแมกไซไซ ประจำปี2567 ยกย่องชื่นชมแพทย์หนุ่มสาวที่ทำงานในชนบทมาร่วม 50 ปี และเชื่อมั่นเป็นพลังขับเคลื่อนปฏิรูประบบสุขภาพปฐมภูมิและชุมชนไทย ประสบผลสำเร็จ พร้อมขยายผลแลกเปลี่ยนเพื่อนบ้านอาเซียนที่มีวัฒนธรรมชุมชนเดียวกัน

'หมอชูชัย' ชงยุทธศาสตร์แก้ PM2.5 หนุน HIA สร้างความเข้มแข็งชุมชนท้องถิ่น ภาคธุรกิจร่วมรับผิดชอบ

'หมอชูชัย' ชี้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่สำคัญ เกิดขึ้นต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง เสนอยุทธศาสตร์สนับสนุน HIA สร้างความเข้มแข็งอบจ.และชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ เรียกร้องภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบพัฒนาอย่างยั่งยืน