24ก.ย.2565- ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ครั้งที่ 9/2565 เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2565 โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบการเตรียมความพร้อมด้านยาต้านไวรัสรักษาโรคโควิด-19 เสนอโดย รศ.ประสบศรี อึ้งถาวร ประธานคณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข โดยให้ยา วัคซีน เวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และชุดตรวจห้องปฏิบัติการสำหรับการตรวจคัดกรอง ตรวจยืนยัน และการดูแลรักษาที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ตามแนวทางเวชปฏิบัติฯ ของกรมการแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุขกำหนดทุกรายการ ให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ตามเกณฑ์การพิจารณาแบบ Green channel
ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากประกาศของทางสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 ในการเตรียมความพร้อมด้านยาต้านไวรัสรักษาโควิด-19 เพื่อรองรับการเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาตามสิทธิ โดยให้หน่วยบริการมีบริหารจัดการยาและเวชภัณฑ์ในระบบปกติ ตั้งแต่ 1 ก.ย. 2565
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์และแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จึงควรใช้เกณฑ์การพิจารณาแบบ Green channel ต่อไป ด้านคาดการณ์เป้าหมาย อัตราจ่าย และภาระงบประมาณ พบว่า งบประมาณที่ต้องใช้เป็นค่าบริการสำหรับโรคโควิด-19 รวมทั้งค่ายาสำหรับหน่วยบริการนอกสังกัดสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ระหว่างวันที่ 1-30 ก.ย. 2565 จำนวนประมาณ 25.966 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วย การจ่ายค่ายากรณีผู้ป่วยนอก 7.2 ล้านบาท และจ่ายค่าบริการและค่ายาผู้ป่วยใน 18.766 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ราคาค่ายาที่ใช้ในการคำนวณ เป็นราคาเบื้องต้นและอาจมีการปรับเปลี่ยนภายหลังได้อัตราราคายาจากสภาเภสัชกรรมแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของแหล่งงบประมาณที่ใช้ จะมาจากงบกองทุนฯ ปี 2565 สำหรับค่าบริการผู้ป่วยในทั่วไปที่เกินกว่าอัตราจ่ายเบื้องต้น เปลี่ยนมาจ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขสำหรับโรคโควิด-19 และค่าบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง
สำหรับแนวทางการจ่ายค่ายาต้านไวรัสรักษาโรคโควิด-19 จะเป็นไปตามข้อบ่งชี้การใช้ยาที่กรมการแพทย์กำหนด โดยจ่ายชดเชยเป็นเงิน (On top) ซึ่งจะกำหนดรายการยาเป็น Fee schedule หรือการจ่ายตามแต่ละประเภทบริการ ได้แก่ กรณีผู้ป่วยนอก จ่ายชดเชยค่ายา 4 รายการ ประกอบด้วย ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir) แพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir) กรณีผู้ป่วยใน จะจ่ายชดเชยเฉพาะรายการยาแพ็กซ์โลวิด (Paxlovid) โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาตามความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยบางราย
“การกำหนดการจ่ายแบบ on top สำหรับการใช้บริการสาธารณสุขโรคโควิด-19 มีแผนสิ้นสุดการจ่ายในปีงบประมาณ 65 นี้ โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป จะเป็นการจ่ายชดเชยตามสิทธิประโยชน์ในระบบปกติของกองทุนฯ เพื่อเป็นไปตามมาตรการเข้าสู่โรคประจำถิ่น” เลขาธิการ สปสช. ระบุ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยติดโควิดใหม่รอบสัปดาห์ 549 ราย ดับเพิ่ม 1 คน
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2567
โควิดกลับมาระบาดใหม่ ‘หมอมนูญ’ ขออย่าตื่นตระหนก รักษาตามอาการหายได้
เวลาผ่านไปโรคโควิดลดความรุนแรงลง โรคโควิดไม่น่ากลัวหมือนเมื่อ 3-4 ปีก่อน คนไทยไม่ต้องตื่นตระหนกตกใจกลัวโรคโควิดมากเกินไป
สายการบิน 'ลุฟท์ฮันซา' ต้องจ่ายค่าปรับกรณีเลือกปฏิบัติต่อผู้โดยสารชาวยิว
สายการบินลุฟท์ฮันซาต้องจ่ายค่าปรับจำนวน 4 ล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา เหตุเพราะในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดขอ