สปสช.แจ้งความ 9รพ.ที่บอกยกเลิก เหตุเบิกค่าบริการไม่ตรงความเป็นจริง พร้อมแจงระบบดูแลผู้ป่วยของรพ.9 แห่ง

19 ก.ย. 2565 – สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แถลงข่าว “สปสช.ไม่ลอยแพผู้ป่วย แจงความพร้อมรองรับ หลังยกเลิกสัญญา รพ.เอกชน 9 แห่ง” โดยทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยถึงกรณีที่ สปสช.ได้ยกเลิกสัญญาบริการ จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ รพ.มเหสักข์, รพ.บางนา 1, รพ.ประชาพัฒน์, รพ.นวมินทร์, รพ.เพชรเวช, รพ.ผู้สูงอายุกล้วยน้ำไท 2, รพ.แพทย์ปัญญา, รพ.บางมด และ รพ.กล้วยน้ำไท ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป ว่า การยกเลิกสัญญาดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) และคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร (อปสข.กทม.) ที่ให้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน เรียกเงินคืน แจ้งสภาวิชาชีพ ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการเอกชนทั้ง 9 แห่งดังกล่าว เนื่องมาจากผลการตรวจสอบของคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข พบเอกสารหลักฐานว่า หน่วยบริการเอกชนทั้ง 9 แห่งมีการเบิกค่าคัดกรองเมตาบอลิกไม่ตรงกับข้อเท็จจริง จึงเป็นที่มาการยกเลิกสัญญาเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ และหน่วยบริการรับส่งต่อในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ รพ.ทั้ง 9 แห่งนี้ ดูแลประชากรปฐมภูมิ 220,313 คน ข้อมูลจากปี 2564 ทั้งปี และปี 2565 (9 เดือน) พบว่ามีประชากรใช้บริการ 99,947 คน คิดเป็น 45.36% ดูแลประชากรรับส่งต่อ 696,103 คน ในจำนวนนี้จากข้อมูล 6 เดือนล่าสุดพบว่า มีประชากรใช้บริการ 18,200 คน หรือประมาณร้อยละ 2.61% ขณะเดียวกันมีผู้ป่วยโรคเรื้อรังจำนวน 22,246 คน สปสช.ได้เตรียมความพร้อมรองรับ ดังนี้

1.กลุ่มผู้ป่วยในที่ยังนอนรักษาตัวอยู่ที่ รพ.ทั้ง 9 แห่ง รักษาต่อไปเช่นเดิม จนกว่าจะสิ้นสุดการรักษา โดย รพ.จะยังได้รับค่าใช่จ่ายในการรักษาพยาบาลจาก สปสช. 2.กลุ่มผู้ป่วยที่มีนัดรักษาหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ได้แก่ นัดผ่าตัดต่างๆ หญิงตั้งครรภ์ใกล้คลอดที่มีนัดทำคลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่มีนัดรังสีรักษาและเคมีบำบัด ผู้ป่วยที่มีนัดตรวจอัลตร้าซาวด์ นัดตรวจซีทีสแกน (CT Scan) นัดตรวจ MRI ผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเร่งด่วน ในวันที่20 ก.ย. 2565 สปสช.นัดหมายประชุมกับ รพ.เอกชนทั้ง 9 แห่ง ให้รักษาตามที่ได้นัดหมายต่อไป รวมถึงกรณีที่ผู้ป่วยถูกส่งต่อจาก รพ.ทั้ง 9 แห่งนี้ไปรักษาที่อื่น เช่น นัดตรวจและฟังผลอัลตร้าซาวด์อีก รพ.หนึ่ง ก็ใช้สิทธิได้เหมือนเดิมไปก่อนจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 โดยเบิกจ่ายค่ารักษาจาก สปสช. ตามประกาศเหตุอันสมควร เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ป่วย และในระหว่างนี้ หากมีนัดหมายต่อไป สปสช.ได้ประสาน รพ.แห่งใหม่ไว้เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับรักษาต่อเนื่อง และจะประสานผู้ป่วยโดยตรงต่อไป

3.กลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง ฯลฯ ที่มีนัดตรวจติดตามอาการและรับยาต่อเนื่องหลังวันที่ 1 ตุลาคม 2565 ไปรักษาที่คลินิกชุมชนอบอุ่น คลินิกเวชกรรม และศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านที่ไหนก็ได้ ทั้งนี้ สปสช.จัดเตรียมรายชื่อหน่วยบริการเพื่อให้ทราบว่าไปที่ไหนได้บ้าง ผู้ป่วยสามารถไปติดต่อที่หน่วยบริการดังกล่าวได้เอง หรือ โทร.มาที่สายด่วน สปสช. 1330 กด 6 เพื่อสอบถามรายชื่อหน่วยบริการใกล้บ้านที่สามารถไปรักษาได้และให้สายด่วน 1330 ประสานการรักษาต่อได้

4.ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยวัณโรคที่ต้องรับยาต่อเนื่อง ไปรักษาที่ไหนก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง หรือโรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน ในส่วนของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ท่านสามารถไปรับยาและตรวจติดตามอาการได้ที่หน่วยบริการที่ให้บริการได้ เช่น ศูนย์บริการสาธารณสุข ศูนย์การแพทย์บางรัก (คลินิกบางรัก) สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) และพริบตา แทนเจอรีน สหคลินิก เป็นต้น

5.ผู้ป่วยไตที่มีนัดฟอกไตกับทั้ง 9 รพ.เอกชนนี้ และผู้ป่วยที่มีนัดผ่าตัดหัวใจ สวนหัวใจใส่บอลลูน ใส่สเต็นท์ ยังคงรับบริการได้ตามนัดเหมือนเดิม เนื่องจากการยกเลิกสัญญาไม่ได้รวมถึงการให้บริการด้านฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และบริการด้านการทำหัตถการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน

ส่วนกรณีผู้ที่ยังไม่ป่วยหรือไม่ใช่ผู้ป่วยรักษาต่อเนื่องนั้น ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ระหว่างนี้ขอให้ท่านตรวจสอบสิทธิการรักษา ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ 1.ผู้ที่สถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้น (หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ) และสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ (หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป) เป็น 1 ใน 9 รพ.เอกชน ขอให้ลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการแห่งใหม่ที่อยู่ในเขตพื้นที่หรือใกล้บ้าน ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่น 214 แห่ง และหน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาลต่างๆ โดยลงทะเบียนเลือกผ่านทางแอปพลิเคชัน สปสช. หรือในกรณีที่ไม่มีหน่วยบริการในเขตพื้นที่ใกล้บ้าน ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างการเร่งจัดหาหน่วยบริการเพิ่มเติมแล้ว ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หากเกิดภาวะเจ็บป่วยท่านก็ยังใช้สิทธิบัตรทองรักษาได้ โดยเข้ารับบริการที่ทุกหน่วยบริการปฐมภูมิทุกแห่งในระบบบัตรทอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2.ผู้ที่สถานพยาบาลเข้ารับการรักษาเบื้องต้น (หน่วยบริการปฐมภูมิ/ประจำ) เป็นคลินิกเอกชนหรือศูนย์บริการสาธารณสุข ที่ไม่ใช่ รพ. 9 แห่งนี้ และมีสถานพยาบาลที่รับการส่งต่อ (หน่วยบริการรับส่งต่อทั่วไป) ระบุว่า เป็น 1 ใน 9 รพ.เอกชน เมื่อเจ็บป่วยท่านยังคงเข้ารับการรักษาได้ตามรายชื่อสถานพยาบาลที่เข้ารับการรักษาเบื้องต้นตามสิทธิได้เช่นเดิม กรณีที่จะต้องถูกส่งต่อไปรักษายังสถานพยาบาลอื่น สปสช.ได้ประสานงานให้ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ได้จัดหาเพิ่มให้

นอกจากนั้น สปสช.มีบริการทางเลือกใหม่เตรียมรองรับไว้ ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ไม่ว่าจะเป็นการรักษาด้วยระบบการแพทย์ทางไกล การคัดกรองโรคและดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อยกับร้านขายยา คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาล ที่ผู้ป่วยสิทธิบัตรทองไปรักษาได้ ซึ่งจะเปิดนอกเวลาเพื่อบริการผู้ป่วย โดยวันที่ 21 กันยายน 2565 นี้ สปสช.มีประชุมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น 214 แห่ง และหน่วยบริการเฉพาะด้านในพื้นที่ กทม. เช่น ด้านเวชกรรม 40 แห่ง ด้านกายภาพบำบัด 9 แห่ง ด้านการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 9 แห่ง ด้านทันตกรรม 29 แห่ง และร้านยา 517 แห่ง เพื่อหารือการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้ต่อไป ซึ่งหลังจากนี้จะประชาสัมพันธ์ขั้นตอนการไปรักษาพยาบาลให้ทราบต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอเหรียญทอง' แจกแจงแนวคิดจ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง ชี้ช่วยลดความแออัดผู้ป่วยรพ.รัฐ

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า โครงการ 'จ่ายเงินเอง ราคาบัตรทอง แอดมิตไม่ต้องเสียเงิน ทุกเขตทั่วราชอาณาจักรไม่ต้องใช้ใบส่งตัว'

ตีปี๊บ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของไทย

รัฐบาล ประกาศ '30 รักษาทุกที่' เต็มรูปแบบ ด้วยโอกาสของคนไทยนับจากนี้ ต้องมีชีวิตดี สุขภาพดี เริ่มแล้วครอบคลุมทุกพื้นที่ 77 จังหวัดของประเทศไทย