สรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 ชวน ลูกศิษย์ทั่วประเทศ เสนอชื่อครูผู้มีคุณูปการต่อวงการศึกษา

29 ส.ค.2565-ที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) – มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ จัดงานแถลงข่าวการสรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ครั้งที่ 5 โดย นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า บทบาทของครูนับเป็นบทบาทที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่นักเรียนต้องเผชิญกับภาวะสูญเสียการเรียนรู้ หรือ Learning Loss จากการปิดสถานศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรายงานของยูเนสโก ร่วมกับยูนิเซฟ และธนาคารโลก พบว่า มีเด็กอย่างน้อย 1.6 พันล้านคน ใน 188 ประเทศที่สุ่มเสี่ยงต่อภาวะสูญเสียการเรียนรู้ มาตรการของกระทรวงศึกษาธิการคือการเปิดโรงเรียนอย่างปลอดภัย และ “ครู” ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการฟื้นฟูการเรียนรู้ของผู้เรียน ด้วย 3 มาตรการที่สำคัญคือ 1. ครูเป็นผู้ที่สามารถประเมินความรู้และทักษะของนักเรียนเพื่อการพัฒนารายบุคคล เพราะนักเรียนมาจากความพร้อมของครอบครัวและความสามารถในการเรียนรู้ที่ต่างกัน 2. ครูจะต้องมีทักษะในการสอนเสริมเพิ่มเติมความรู้ให้นักเรียน เช่น ใช้กระบวนการสอนเสริมนอกเวลาเรียน หรือการซ่อมเสริมพิเศษในช่วงปิดภาคเรียนเพื่อให้สามารถเติมเต็มความรู้ได้ทัน และ 3. ครูควรมองเห็นและระบุปัญหาทางจิตใจ อารมณ์ สังคมของนักเรียนซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากวิกฤติของโรคระบาดและผลกระทบทางเศรษฐกิจสังคม โดยสามารถให้คำปรึกษาในเบื้องต้น หรือส่งต่อไปยังหน่วยงานทางสาธารณสุข

“บทบาทครูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกู้วิกฤติภาวะสูญเสียการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งกำลังเผชิญสถานการณ์เช่นเดียวกันนี้ทั่วโลก จึงขอเป็นกำลังใจให้กับครู และเป็นโอกาสอันดีที่สังคมจะร่วมกันยกย่อง เห็นคุณค่าครูผู้อุทิศตนเป็นแบบอย่าง จึงขอเชิญชวนลูกศิษย์และคนในสังคมร่วมกันเสนอชื่อครูในรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรีในครั้งนี้”รมว.ศธ. กล่าว

ด้านนายกฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าวว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี เป็นรางวัลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักการศึกษา และเพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติแก่ครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ และมีคุณูปการต่อการศึกษา ในประเทศอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ โดยจะมีการสรรหาในทุก 2 ปีครั้ง ประเทศละ 1 รางวัล จากความร่วมมือของกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 11 ประเทศ สำหรับการคัดเลือกครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ปี 2565 ในส่วนของประเทศไทย กลไกการสรรหาจะงประกอบด้วย คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด และคณะกรรมการคัดเลือกส่วนกลาง เพื่อร่วมกันสรรหาครูผู้มีคุณสมบัติ เป็นครูผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงชีวิตศิษย์ และมีคุณูปการต่อวงการศึกษา โดยมีประสบการณ์สอนอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นครูหรือเคยเป็นครูผู้สอนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสถานศึกษาของรัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเคยเป็นครูนอกสถานศึกษาที่สอนผู้เรียนในวัยการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่เป็นครูสอนพิเศษเป็นอาชีพหลัก

“การสรรหาครูในครั้งนี้จะเปิดให้ผู้มีสิทธิเสนอชื่อครูมาจาก 5 กลุ่ม คือ 1. ลูกศิษย์ที่เป็นศิษย์เก่า อายุไม่น้อยกว่า 25 ปี 2. สถานศึกษาขั้นพื้นฐานโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 3. สมาคม มูลนิธิ องค์กรซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลและมีภารกิจส่งเสริมการเรียนรู้ 4. คณาจารย์ในระดับอุดมศึกษา รวมกันไม่น้อยกว่า 3 คน ทั้ง 4 กลุ่มนี้เสนอชื่อครูมาที่คณะกรรมการคัดเลือกระดับจังหวัด หรือ www.PMCA.or.th และกลุ่มที่ 5 คือ องค์กรที่มีการพิจารณาคัดเลือกครูทั้ง 7 แห่ง โดยจะมีการเปิดรับการเสนอชื่อได้นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึง ต.ค. 2565 และจะมีการพิจารณาตัดสินในวันที่ 18 เม.ย. 2566 เพื่อเข้ารับพิธีพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ในวันที่ 17 ต.ค. 2566 ซึ่งรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จะประกอบด้วย เหรียญทอง เข็มเชิดชูเกียรติทองคำพระราชทาน เกียรติบัตร โล่ประกาศเกียรติคุณ และเงินรางวัล 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนในประเทศไทยมีรางวัลเพิ่มเติมได้แก่ รางวัลคุณากร 2 รางวัล รางวัลครูยิ่งคุณ 17 รางวัล และรางวัลครูขวัญศิษย์ เพื่อเชิดชูครูในแต่ละจังหวัด จึงถึงเวลาแล้วที่ลูกศิษย์ทั่วประเทศจะมาร่วมกันระลึกถึงครูที่เปลี่ยนแปลงชีวิตและทุ่มเททำงาน โดยเสนอชื่อครูมาที่ www.PMCA.or.th” ประธานกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี กล่าว

ด้านนายบูรพาทิศ พลอยสุวรรณ์ รองเลขาธิการคุรุสภา กล่าวว่า บทบาทของครูคุณภาพ ย่อมส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงของลูกศิษย์ให้มีคุณภาพ ซึ่งการปฏิรูปการเรียนรู้ที่สำคัญและไปถึงห้องเรียนได้เร็วที่สุดคือ การปฏิรูปครู การสรรหาครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จึงเป็นการสร้างค่านิยมของสังคมที่ร่วมกันเห็นคุณค่าครูที่มุ่งการเปลี่ยนแปลงที่ชีวิตลูกศิษย์เป็นสำคัญ ทั้งนี้สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ในฐานะองค์กรร่วมให้การสนับสนุน ซึ่งนอกจากจะสนับสนุนการดำเนินงานสรรหาแล้ว จะมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายครูรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ทั้งในประเทศรวมทั้งในอาเซียนและติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เศรษฐา' สั่ง ศธ.เร่งแก้ไขปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา

นายกฯ ประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงฯ ย้ำเดินหน้าแก้ไขปัญหาเด็กหลุดระบบการศึกษา ช่วยกันปลูกฝังให้เกลียดชังยาเสพติด แนะแบ่งเงินรางวัลนำจับเป็น 2 ส่วน เพื่อสร้างแรงจูงใจการทำงานของเจ้าหน้าที่

ครม.ปรับเงื่อนไขชดใช้ทุนของ รร.วิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย

ครม.มีมติปรับเงื่อนไขการชดใช้ทุนหลังสำเร็จการศึกษาของนักเรียนทุนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยไปศึกษาต่อ ณ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น

"เพิ่มพูน" เดินหน้า "ปฏิวัติการศึกษาแก้ปัญหาประเทศ" อย่างเร่งด่วน เหตุกระแสโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ผศ. พิมล ศรีวิกรม์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานอนุกรรมการพิจารณาจัดการสนับสนุนสมาคมกีฬาจากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน

“รมช.สุรศักดิ์” ห่วงนักเรียน-เยาวชน “เล่นพนันบอล-สุขภาพแย่” ช่วงการแข่งขันบอลยูโร

เมื่อวันจันทร์ ที่ 17 มิถุนายน 2567 นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป หรือ ยูโร 2024 ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ โดยมีการจัดการแข่งขันระหว่างวันที่ 14 มิถุนายน - 14 กรกฎาคม ว่า กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้การนำของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.

"รมช.สุรศักดิ์​" เป็นประธานเปิดงาน“ความท้าทายของระบบการศึกษาไทยในยุค​ Digital Disruption”

เมื่อวันเสาร์ที่​ 15​ มิถุนายน​ 2567 นายสุรศักดิ์​ พันธ์เจริญวร​กุล​ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ​ เป็นประธานเปิดงานโครงการสัมมนาวิชาการ

“เพิ่มพูน”ประชุมขับเคลื่อนโยบาย ยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA ขอทุกหน่วยงานร่วมอนุรักษ์ "การไหว้ครู " ถือเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย

วันที่ 12 มิถุนายน 2567 พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่ากระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมประสานภารกิจกระทรวงศึกษาธิการ ครั้งที่ 22/2567 เมื่อ ว่า มีการประชุมขับเคลื่อนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา PISA โดย สสวท.