'หมอยง' แจงการให้วัคซีนป้องกัน 'โรคมือเท้าปาก' เด็กเล็ก

22 ส.ค. 2565 – ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความว่า โรคมือเท้าปาก วัคซีนป้องกันโรค EV-A-71 (ต่อ)

ได้กล่าวมาแล้วว่าวัคซีนใช้ป้องกันไวรัส enterovirus A 71 เท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้เกิดโรคมือเท้าปาก และอาจจะทำให้เกิดความรุนแรง สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้

การติดเชื้อ EV 71 ไม่ใช่ว่าทุกคนจะเป็นสมองอักเสบหรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จะเป็นในเด็กเล็กต่ำกว่า 5 ปี และในจำนวนนี้ประมาณ 60 เปอร์เซ็นต์พบในช่วงอายุ 6 เดือนถึง 2 ปี หรือกล่าวว่าในเด็กเล็กโอกาสโรคจะรุนแรง มีอาการแทรกซ้อนพบได้มากกว่าเด็กโต

เมื่อย้อนไป 10 ปีที่ผ่านมา เราจะสูญเสียเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กทุกปี เป็นหลักหน่วยต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กเล็กที่มีอาการแทรกซ้อน สมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ น้ำท่วมปอด ในระยะหลังแนวทางการรักษาผู้ป่วย ดีขึ้นโดยการให้ IVIg

จากการศึกษาภูมิต้านทาน ต่อเชื้อไวรัส EV 71 สายพันธุ์ B5 ที่พบในประเทศไทย โดยทีมของเราที่ศูนย์ และเผยแพร่ในวารสารระดับนานาชาติ “วัคซีน” ในการติดตามระยะยาวของเด็กไทยถึง 4 ปี จะเห็นได้ชัดว่าเด็กแรกเกิดจะมีภูมิต้านทานต่อเชื้อ EV71 สายพันธุ์บี 5 แล้วประมาณ 80% โดยภูมิต้านทานนี้ส่งต่อมาจากมารดาที่มีภูมิต้านทานแล้วเป็นส่วนใหญ่ และภูมิต้านทานจะลดลงอย่างรวดเร็ว และเกือบจะวัดไม่ได้ที่อายุ 6-7 เดือน แล้วหลังจากนั้นเด็กไทยก็จะเริ่มติดเชื้อตามธรรมชาติ มีภูมิต้านทานต่อ EV71 สายพันธุ์ B5 เพิ่มขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ดังแสดงในรูป จึงเป็นเหตุให้เด็กในช่วงตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป มีโอกาสติดเชื้อและเกิดความรุนแรงของโรคได้

และเราได้ทำการศึกษาภูมิต้านทาน ต่อเชื้อ EV71 สายพันธุ์ B5 ในประชากรเด็กและผู้ใหญ่ที่จังหวัดขอนแก่น ดังแสดงในรูป รายงานนี้เผยแพร่ในวารสารนานาชาติ “J Biomed Sci” และแสดงให้เห็นการตรวจพบเชื้อก่อโรคมือเท้าปาก ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

ดังนั้นถ้าต้องการสร้างภูมิ ป้องกันการติดเชื้อ EV 71 จำเป็นที่จะต้องให้ในเด็กเล็กและให้มีภูมิขึ้น อายุ 6 เดือน

การศึกษาของวัคซีนเชื้อตาย EV71สายพันธุ์ C4 ประเทศจีน จะให้ที่อายุ 6 เดือนขึ้นไปและให้ 2 ครั้งห่างกัน 1 เดือน และมีการใช้ในประเทศจีนมาหลายปีแล้ว

ส่วนของไต้หวัน ที่เป็นสายพันธุ์ B4 ได้ทำการศึกษาระยะที่ 3 ในเวียดนาม ได้ผลดีโดยให้ตั้งแต่เด็กอายุ 2 เดือนขึ้นไป ขณะนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน