16 ส.ค.2565 คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) พร้อมเปิดตัวนวัตกรรมองค์ความรู้หลักสูตรบทเรียน Introduction course for Thrombectomy treatment in Acute Ischemic Stroke ซึ่งเป็นบทเรียนที่ให้ความรู้ด้านการรักษาโรคหลอดเลือดสมองด้วยนวัตกรรมใหม่ล่าสุด ผ่านแพลตฟอร์ม MDCU MedUMore ในรูปแบบ Virtual Reality(VR) เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้การรักษาโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นภาพเสมือนจริงและเกิดการเรียนรู้แบบไร้ขีดจำกัด
รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า ในปัจจุบันการเข้าถึงแหล่งความรู้ไม่ได้จำกัดอยู่ในเฉพาะห้องเรียนหรือห้องสมุด แต่คลังความรู้ในยุคปัจจุบันที่สำคัญและเข้าถึงง่ายที่สุดคือคลังความรู้ออนไลน์ และการใช้นวัตกรรมใหม่ๆ มาเป็นตัวช่วยในการรักษาผู้ป่วยให้ได้รับบริการที่มีคุณภาพและสะดวกยิ่งขึ้น การเรียนรู้ในปัจจุบันของนิสิตนักศึกษาแพทย์ จะต้องเรียนรู้และศึกษาอย่างต่อเนื่อง จึงได้สร้าง Online learning platform ในชื่อ MDCU MedUMore ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์และตอบสนองโลกแห่งการเรียนรู้ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พร้อมข้อมูลที่ครอบคลุม สามารถเรียนรู้และเข้าถึงได้จากทุกที่บนโลกนี้
รศ.นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า โดยหลักสูตรบทเรียน Introduction course for Thrombectomy treatment in Acute Ischemic Stroke เป็นองค์ความรู้ที่พัฒนาร่วมกันกับเมดโทรนิค จะถูกถ่ายทอดสู่แพลตฟอร์ม MDCU MedUMore เพิ่มมิติในการเรียนรู้ สามารถเข้าเรียนได้ผ่านระบบรองรับ Virtual Reality (VR) ซึ่งเป็นระบบที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นภาพเสมือนจริง และผู้เรียนได้สัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ทางการแพทย์อย่างไร้ขีดจำกัด ทั้งนี้ MDCU MedUMore ถือเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมองค์ความรู้ทางการแพทย์อย่างครบถ้วน ที่สามารถเข้าถึงและเข้าใจได้โดยง่ายรองรับสำหรับแพทย์ พยาบาล เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงภาคประชาชนทั่วไป
ด้านรานีวรรณ รามศิริ Vice President and Managing Director Thailand บริษัท เมดโทรนิค (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า นับเป็นความยินดีอย่างที่ได้ร่วมพัฒนานวัตกรรมที่เป็นองค์ความรู้จัดทำหลักสูตรในการเรียนรู้โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ผ่านระบบ Virtual Reality (VR) ในรูปแบบภาพเสมือนจริง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและการเข้าถึงการเรียนรู้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ โดยเริ่มความความมือกับโรงพยาบาลจุฬาฯ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เพื่อให้ผู้เรียนได้สัมผัสและได้รับประสบการณ์เสมือนจริง
รานีวรรณ กล่าวเสริมว่า ในหลักสูตรโดยมีการเรียนรู้เกี่ยวหัตถการการใช้ขดลวดไปดึงเกี่ยวลิ่มเลือดที่อุดตันหลอดเลือดสมองออก (thrombectomy) ถือเป็นนวัตกรรมการรักษา ที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มีประสิทธิภาพสูง เป็นหัตถการที่ได้รับการส่งเสริมจากทางภาครัฐในการเบิกจ่ายอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นในการรักษา จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่บุคลากรทางการแพทย์จำเป็นที่จะต้องมีทักษะในการใช้เครื่องมือ เพื่อให้ผลการรักษาได้ผลลัพธ์ดีที่สุด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพัฒนาระบบสาธารณสุขไทยแบบยั่งยืน และเพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีสุขภาพของประชาชนไทยได้มากขึ้นในอนาคต
ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน หรือโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งเป็นสาเหตุของความพิการระยะยาว และการเสียชีวิตของประชากรจำนวนมาก จากข้อมูลขององค์กรโรคหลอดเลือดสมองโลก (World Stroke Organization) ล่าสุด พบว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมองทั่วโลกกว่า 80 ล้านคน โดยผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคนต่อปี และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 14.5 ล้านคนต่อปี นอกจากนี้ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมองในประชากรโลกพบว่า ทุก ๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน ซึ่งร้อยละ 80 ของประกรโลกที่มีความเสี่ยง สามารถป้องกันได้ สำหรับในประเทศไทยโรคหลอดเลือดสมองโลก เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อยและเป็นสาเหตุของความพิการและเสียชีวิตอันดับ1 เลยทีเดียว
ศ.พญ.นิจศรี กล่าวต่อว่า สำหรับการรักษาโรคหลอดเลือดสมองหัวใจสำคัญคือ เวลา ซึ่งในการรักษาหลักมีทั้งการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ และการใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรม คือการใช้อุปกรณ์เอาลิ่มเลือดในสมองออกมา(Mechanical thrombectomy)โดยแพทย์จะทำหัตถการการใส่อุปกรณ์ผ่านสายสวนหลอดเลือด เพื่อไปนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกจากหลอดเลือดสมอง แพทย์จะทำหัตถการสอดใส่สายสวนเข้าไปทางหลอดเลือดแดง ผ่านบริเวณขาหนีบจนไปถึงตำแหน่งที่อุดตัน และนำเอาลิ่มเลือดที่อุดตันตามหลอดเลือดออกมา ซึ่งพบว่าผู้ป่วยใช้เวลาพักฟื้นที่โรงพยาบาลเพียงไม่กี่วันก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
“แต่การรักษานี้ยังไม่แพร่หลายนัก ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ทั้งจำนวนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ หรือ โรงพยาบาลที่มีความสามารถและความพร้อมที่เพียงพอ ดังนั้นคาดว่าหลักสูตร Introduction course for Thrombectomy treatment in Acute Ischemic Stroke จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งบุคลากรทางการ แพทย์ฝ่ายต่าง ๆ ที่สนใจศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการรักษาโรคหลอดเลือดสมอง เพื่อการทำหัตถการ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุดในการรักษา หรือการนำความรู้ไปอธิบายคนไข้และคนใกล้ชิดได้รับรู้ด้วย” ศ.พญ.นิจศรี กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการเรียนรู้โรคเลือดสมองด้วยระบบ VR ทางคณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ เชิญชวนมาสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้เสมือนจริง ลงทะเบียนและขอรับบริการได้ผ่านแพลตฟอร์ม MDCU MedUMore
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หมอธีระวัฒน์' แฉทฤษฎีสมคบคิด 'โควิด-19' กลายเป็นเรื่องจริงทั้งหมด
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อควา
'หมอธีระวัฒน์' ของขึ้น เชี่ยมั้ย! ใครจะมาพูดอะไร แ-่ง ต้อง declare ผลประโยชน์ทับซ้อน
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความ