9ส.ค.2565-นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า ท่ามกลางความผันผวนและเปราะบางของ VUCA World และ BANI World ซึ่งผลการวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาก่อนหน้านี้ชี้ชัดว่าหากเราต้องการรักษาการเติบโตเศรษฐกิจเทียบเท่าปัจจุบัน คน/แรงงานของเราต้องเก่งขึ้น 2.2 เท่า และหากต้องพัฒนาประเทศให้มีอัตราการเติบโต มีรายได้ต่อหัวของจังหวัดเพิ่มขึ้น ประชากรต้องมีความสามารถมากกว่าปัจจุบันไม่น้อยกว่า 2.5 เท่า การแก้ปัญหาและการพัฒนาที่ยั่งยืน คือต้องเร่งพัฒนาคนและแรงงานให้โดดเด่น ทักษะที่จำเป็นสำหรับแรงงานในปัจจุบันและอนาคต และต้องทำควบคู่กัน 2 ด้าน ได้แก่ ระบบการศึกษา ต้องเร่งปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาคนสมรรถะสูงเพื่อยกระดับความสามารถให้สูงขึ้น และ การพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ กระจายความเจริญ และรายได้ และสิ่งหนึ่งที่ละเลยไม่ได้และต้องเร่งปรับตัวคือระบบและแนวทางการพัฒนาคนของประเทศเพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรค ในทางตรงข้ามระบบพัฒนาคนต้องเกื้อหนุนการพัฒนาคนให้มีขีดดความสามารถเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันได้
เลขาธิการ สกศ. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จากรายงาน “อนาคตการเรียนรู้จากสถานการณ์โควิด-19 (The Future of Learning in the Wake of Covid-19)” ชี้ว่า การเรียนรู้และการพัฒนาคนหลังสถานการณ์โควิด-19 จะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมแบบ 100% แต่จะถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน และหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ในอนาคตคือการผสมผสาน (Blended Learning is The Key โดยแนวโน้มการเรียนรู้จากนี้ต่อไป คือ ต้องเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนรู้และการพัฒนาคนใน 4 เรื่องหลัก และต้องทำให้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว คือ 1.เปลี่ยนจากการซื้อเนื้อหา (Buying Content) รูปแบบสำหรับคนจำนวนมากไปสู่ เนื้อหาแบบรายบุคคล (Personalized Content) มากขึ้น 2.เปลี่ยนจากการเรียนรู้แบบธรรมดาในห้องเรียน (Conventional Learning) ไปสู่การเรียนรู้แบบประสบการณ์ (Experiential Learning) 3.การเรียนรู้ความสามารถตามหน้าที่หรืองาน (Functional Competence) ไปสู่การพัฒนาทักษะของคน (Peaplo Skills) 4.เปลี่ยนจากการเรียนรู้จากฐานองค์ความรู้ (Knowledge Database) ไปสู่นิเวศแห่งการแบ่งปันความรู้ (Knowledge Sharing Ecosystem)
“ทั้ง 4 เรื่องที่ต้องปรับเปลี่ยนในระบบการพัฒนาคนนี้ ฟังแล้วเหมือนจะง่าย แต่ในทางปฏิบัติมีความซับซ้อนและต้องปรับเปลี่ยนเชิงระบบ เพราะต้องเกี่ยวพันไปถึงทั้งด้านหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน โครงสร้างพื้นฐานของการเรียนรู้ และนิเวศการเรียนรู้ ซึ่งล้วนต้องอาศัยเวลา ประเทศไทยจึงต้องเร่งปรับตัวรองรับการพัฒนาคนให้มีขีดความสามารถเท่าทันการเปลี่ยนแปลงและแข่งขันได้ก่อนจะส่งผลกระทบกับการพัฒนาเศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศอย่างรุนแรง”เลขาฯ สกศ.กล่าว