3ส.ค.2565-จากการที่มีการวิจารณ์ถึงการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ว่า ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ร้อยละ 20 เท่านั้น อีกร้อยละ 80 ผู้ปกครองจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเรียนฟรี 15 ปี ไม่มีอยู่จริง เป็นการเรียนฟรีทิพย์ และการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวครั้งนี้เป็นการหาเสียงทางการเมือง ทั้งยังกล่าวว่า การเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นการเพิ่มเงินที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับเงินเดือน ค่าตอบแทนของครูและบุคลากรทางการศึกษา การเพิ่มเงินอุดหนุนเป็นการบรรเทาภาระของผู้ปกครองได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาสำคัญของประเทศได้ โดยเฉพาะความยากจน และความเหลื่อมล้ำ ปัจจุบันมีคนยากจนเพิ่มมากขึ้นเกือบร้อยละ 20 ถือเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุดนั้น
นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (รองปลัด ศธ.) ในฐานะโฆษก ศธ. ได้กล่าวว่า ศธ. ต้องขอขอบคุณที่มีการหยิบยกเรื่องเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนขึ้นมาพูดคุยอีกครั้ง ซึ่งถ้ามองเรื่องการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนด้วยใจเป็นธรรม จะเห็นถึงความพยายามของ ศธ. ที่จะดูแลการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ต้องใช้ความพยายามในเรื่องนี้มากว่า 10 ปี กว่าเรื่องนี้จะสำเร็จ ในผ่านการผลักดันของรัฐมนตรีหลายท่าน และมาประสบผลสำเร็จในสมัยนางสาวตรีนุช เทียนทอง ซึ่งอาจารย์ควรให้คุณค่ามากกว่าวิพากษ์วิจารณ์ หรือโยกไปเป็นประเด็นอื่นๆ สิ่งที่น่าชื่นชมอีกประเด็นคือการที่ปัจจุบัน รัฐบาลมีภาระหนักในการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาของประเทศหลายด้านเช่นปัญหาโรคระบาดโควิด 19 ปัญหาความขัดแย้งสังคมโลกกระทบระบบเศรษฐกิจประเทศ แต่รัฐบาลก็ยังพิจารณาเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวให้นักเรียนในรอบสี่ปีนี้ถึง 8,066 ล้านบาท ซึ่งถ้ามองด้วยใจเป็นธรรมเราควรชื่นชมในการให้ความสำคัญของการศึกษาของรัฐบาลด้วยซ้ำ เราไม่ได้มีการปรับเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนมานานกว่า 10 ปี โดยปรับครั้งล่าสุดในปี 2553 ขณะที่ปัจจุบันราคาสินค้าเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งการเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนฯครั้งนี้จะช่วยแบ่งเบาภาระรายจ่ายของนักเรียน จำนวนกว่า 11.5 ล้านคน และลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ครอบครัวนักเรียนยากจนลงได้ รวมทั้งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของสถานศึกษาในการจัดและพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย
“ศธ. ขอยืนยันว่า การเพิ่มขึ้นเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐาน นี้ทำขึ้นเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2566-2569″โฆษก ศธ.กล่าว
นายวีระ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นว่าการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน เพิ่มขึ้นน้อยมาเมื่อเทียบกับเงินเดือน ค่าตอบแทนครูและบุคลากร และการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียน ไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมได้นั้น ตนมองว่าเราไม่ควรนำสองเรื่องนี้มาเปรียบเทียบกัน เพราะครูและบุคลากรของ ศธ. มีมากกว่า 6 แสนคน เงินเดือนและค่าตอบแทนก็เป็นงบประจำที่ต้องจ่ายเป็นปกติ จะนำเปรียบเทียบกับการเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวได้อย่างไร และเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนที่เพิ่มขึ้นก็คงไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ทั้งหมดดั่งอาจารย์ว่าก็จริง แต่นี้คือความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการที่จะช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครอง และยังเป็นปัจจัยที่สถานศึกษาได้รับเพิ่มในการจัดการศึกษาและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน