สธ.จัดโครงการ 'ฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติในหลวงฯ72พรรษา' ฟันเทียม72,000 คนรากเทียม 7,200คน

27 ก.ค. 2565- ที่ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข แถลงข่าวโครงการ “ฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” โดยมี นพ..ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิงท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และนพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าว

นพ. โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้สืบสานโครงการพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการแก้ปัญหาให้ผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปาก ให้ได้รับฟันเทียมทั้งปากแก่คนไทยทุกสิทธิมาตั้งแต่ปี 2548 และเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว จะมีพระชนมายุ 72 พรรษา ในปี พ.ศ. 2567 กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต จัดทำโครงการเฉลิมพระเกียรติ “ฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษา 28 กรกฎาคม 2567” เพื่อให้ผู้ที่สูญเสียฟันทั้งปาก ให้ได้รับฟันเทียม และรากฟันเทียม สามารถรับประทานอาหารได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี โดยโครงการนี้มีเป้าหมายใส่ฟันเทียมจำนวน 72,000 คน และฝังรากฟันเทียมจำนวน 7,200 คน ในระยะเวลา 2 ปี คือ 2566-2567 ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการฝังรากฟันเทียม ซึ่งเป็นที่ยึดเกาะของชุดฟันเทียม เนื่องจากรากฟันเทียมที่มีคุณภาพดี เช่น จากยุโรปมีอัตราค่าบริการรากละ 55,000 – 100,000 บาท และในเอเชียมีอัตราค่าบริการรากละ 25,000 – 40,000 บาท

นพ. ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้ขับเคลื่อนและพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพและความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะการบริการด้านสุขภาพช่องปาก โดยพัฒนาระบบการดูแลเรื่องการสูญเสียฟันทั้งปากจนไม่สามารถบดเคี้ยวอาหารได้ ซึ่งขณะนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ยังมีความจำเป็นต้องใส่ฟันเทียมทั้งปาก 270,000 ราย ซึ่งอยู่ในสิทธิประโยชน์ทุกสิทธิ ทั้งบัตรทอง ข้าราชการ และประกันสังคม ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดต่อรับบริการได้ที่โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลศูนย์ทุกแห่ง ของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการฝังรากฟันเทียมรองรับฟันเทียมทั้งปาก เป็นเทคโนโลยีทางทันตกรรมขั้นสูง เพื่อเพิ่มคุณภาพการใช้งานฟันเทียมทั้งปากให้แน่นขึ้น มีความจำเป็นประมาณร้อยละ 10 ของผู้ใส่ฟันเทียมทั้งปาก ขณะนี้มีโรงพยาบาลที่มีความพร้อม มีทันตแพทย์ สามารถให้บริการได้ในโรงพยาบาล ประมาณ 180 แห่งทั่วประเทศ

นพ. สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สุขภาพช่องปากเป็นปัญหาที่ยังคง พบได้สูงในคนไทยทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะวัยทำงานตอนปลายและผู้สูงอายุ หากโรคในช่องปากไม่ได้รับการดูแลตั้งแต่เด็ก และมีการสะสมโรค จะทำให้ปัญหามีความรุนแรงซับซ้อนขึ้น จนนำไปสู่การสูญเสียฟัน ซึ่งข้อมูลจากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพระดับประเทศทุก 5 ปี ของกรมอนามัย พบว่า ผู้สูงอายุ 60 – 74 ปี มีฟันแท้เฉลี่ย 18 ซี่ต่อคน และเมื่ออายุ 80-85 ปี ลดลงเหลือเพียง 10 ซี่ต่อคน และมีผู้สูงอายุที่สูญเสียทั้งปาก ร้อยละ 8.7 โดยบางส่วนได้รับการใส่ฟันเทียมไปแล้ว การสูญเสียฟันทั้งปาก ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน สุขภาพร่างกาย และคุณภาพชีวิตชัดเจน กรมอนามัยจึงได้ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ เห็นความสำคัญของการมีสุขภาพช่องปากที่ดี มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสาร ควบคู่กับการสื่อสารผ่านเครือข่ายแกนนำชุมชน เพื่อนำไปสู่การมีพฤติกรรมสุขภาพที่ดี สามารถดูแล เฝ้าระวังอนามัยช่องปากตนเอง และเข้ารับบริการเมื่อจำเป็น เพื่อเก็บรักษาฟันให้ใช้งานได้ตลอดชีวิต

นพ. สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ โดยสถาบันทันตกรรมเป็นหน่วยประสานการดำเนินงานรวมถึงพัฒนาศักยภาพทันตบุคลากรในสถานพยาบาลทุกระดับ ซึ่งบุคลากรกลุ่มนี้หากได้รับการเพิ่มศักยภาพในการฝังรากฟันเทียม จะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการให้กับประชาชนได้อย่างครอบคลุม และสะดวกมากขึ้น โดยจะมีการจัดบริการใส่ฟันเทียมและรากฟันเทียม ในสถานพยาบาลทุกระดับในเขตสุขภาพต่างๆ และหน่วยงานเครือข่ายบริการจํานวน 301 แห่งทั่วประเทศ ตลอดจนดูแลต่อเนื่องในผู้ป่วยที่ได้รับบริการไปแล้วได้อย่างมีคุณภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุให้มีฟันเทียม และรากฟันเทียมที่สามารถใช้งานได้ดี กินข้าวได้อร่อย เพื่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป สมดังปณิธานของกรมการแพทย์ที่ว่า “ทําดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต”

ศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุช ผู้อำนวยการหน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า ปี 2546 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีกระแสพระราชดำรัสว่า “คนเราเวลาไม่มีฟัน กินอะไรก็ไม่อร่อย ทำให้ไม่มีความสุข จิตใจก็ไม่สบาย ร่างกายก็ไม่แข็งแรง” หน่วยทันตกรรมพระราชทานจึงสนองกระแสพระราชดำรัส โดยพัฒนาให้มีการใส่ฟันเทียม ในหน่วยทันตกรรมเคลื่อนที่ และพระราชทานรถใส่ฟันเทียมเคลื่อนที่คันแรกของประเทศไทย ต่อมาในปี 2547 พบว่า ผู้สูงอายุสูญเสียฟันทั้งปากจำเป็นต้องใส่ฟันเทียม ทั้งปากถึง 300,000 คน ซึ่งส่งผลต่อการเคี้ยว กัด กลืนอาหาร ส่งผลต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิต ทั้งด้านกายภาพ อารมณ์ และสังคม แต่ขณะนั้นสามารถใส่ฟันเทียมทั้งปากได้เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ บางแห่งเท่านั้น รวมแล้วจัดบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากทั้งประเทศได้ปีละ 2,000 ราย หน่วยทันตกรรมพระราชทานในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้ร่วมมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคีเครีอข่ายที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา โดยกรมอนามัยเป็นหน่วยประสานการดำเนินงาน ทั้งพัฒนาระบบบริการ ระบบส่งต่อ และพัฒนาศักยภาพทันตแพทย์ทั่วประเทศ ทั้งนี้ ทุกโรงพยาบาลสามารถ ใส่ฟันเทียมทั้งปากได้ เฉลี่ยปีละกว่า 35,000 รวมตั้งแต่ปี 2548 ผู้สูงอายุได้รับการใส่ฟันทั้งปากแล้ว รวม 720,000 ราย

นพ. จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนภายใต้โครงการฟันเทียม รากฟันเทียม เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 72 พรรษาครั้งนี้ โดย สปสช. ตระหนักถึงปัญหาผู้สูงอายุที่ไม่มีฟันให้ได้รับการดูแล รวมถึงผู้ที่อายุต่ำกว่า 60 ปี ที่จำเป็นต้องใส่ฟันเทียม จึงได้บรรจุบริการฟันเทียม ทั้งกรณีการใส่ฟันเทียมทั้งปากและการใส่ฟันเทียมบางส่วนที่ถอดได้ เป็นสิทธิประโยชน์ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เริ่มตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ข้อมูลบริการฟันเทียม ปี 2564 มีประชาชนที่เข้าบริการใส่ฟันเทียมทั้งปากแบบถอดได้ และบริการใส่ฟันเทียมบางส่วนแบบถอดได้ รวมจำนวนทั้งสิ้น 62,717 คน แต่การใส่ฟันเทียมในผู้ป่วยบางรายเป็นเรื่องที่ยาก โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีฟันมาเป็นระยะเวลานาน จนกระทั่งสันกระดูกขากรรไกรส่วนล่างแบน จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดใส่รากฟันเทียมที่มีค่าใช้จ่ายสูงเพื่อยึดติดฟันเทียม ดังนั้น ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 ได้อนุมัติเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์การผ่าตัดใส่รากฟันเทียมสำหรับผู้ที่ไม่มีฟันทั้งปากที่มีข้อบ่งชี้ และมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2565 ให้กับคนไทย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'สมศักดิ์' ฟุ้งปีหน้า 'รัฐบาลอิ๊งค์' ฉลุย อีก 2 ปีครึ่ง พท. กลับมายิ่งใหญ่

'สมศักดิ์' มองทิศทางการเมืองปี 68 มั่นใจรัฐบาลแพทองธาร เดินไปได้ไร้ปัญหาสะดุดล้ม พรรคร่วมไม่ถึงขั้นแตกหัก ฟุ้งอีก 2 ปีครึ่ง เพื่อไทยกลับมายิ่งใหญ่

โควิดพุ่ง! ติดเชื้อใหม่รอบสัปดาห์ 3,039 ราย ดับ 1 คน 'เชียงใหม่' ป่วยสูงสุด

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 รายสัปดาห์ว่า ระหว่างวันที่ 22 - 28 ธันวาคม 2567 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่

'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน

'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน