22 ก.ค. 2565 – ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวประเด็นการพบผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง (Mokeypox) ในประเทศไทยรายแรก ที่ จ.ภูเก็ต ว่าทางกรมควบคุมโรคได้รายงานผู้ติดเชื้อโรคฝีดาษลิงรายแรกเป็นข้อมูลเบื้องต้นไปวานนี้ (21 ก.ค.) ทั้งนี้ โรคฝีดาษลิงถูกประกาศเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังลำดับที่ 56 กำหนดอาการสำคัญคือ ไข้ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ มีตุ่มผื่นที่ผิวหนังลักษณะตุ่มน้ำหรือหนอง เกิดที่ศีรษะ อวัยวะเพศ ทวารหนักและร่างกายส่วนอื่น
นพ.โอภาส กล่าวว่า เมื่อประกาศแล้วจะมีมาตรการผ่านทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เจ้าพนักงานควบคุมโรคจัดทำแผนปฏิบัติการ และรายงานสถานการณ์เหตุสังเกตที่อาจระบาดขึ้น รวมถึงรวบรวมข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา โดยทาง จ.ภูเก็ต ได้ค้นหาผู้ป่วย ได้รับรายงานจากโรงพยาบาล (รพ.) แห่งหนึ่งว่า พบชายชาวไนจีเรีย อายุ 27 ปี มีอาการสงสัยเข้าได้กับโรคฝีดาษลิง มีตุ่มขึ้นที่ใบหน้า ลำตัว แขนขาและอวัยวะเพศ จึงได้เก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ รพ.จุฬาลงกรณ์ พบว่ามีผลบวกโรคฝีดาษลิง
“ขั้นตอนในการพบผู้ติดเชื้อโรคอุบัติใหม่รายแรกๆ เหมือนสมัยโควิด-19 เมื่อตรวจแล็บที่ 1 แล้วจะต้องยืนยันด้วยแล็บที่ 2 รายนี้ได้มีการยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ผลออกเมื่อวันที่ 19 ก.ค.65 ตรงกัน ขั้นตอนต่อไปจะต้องรวมข้อมูลผู้ป่วยรายนี้ ทั้งข้อมูลทางคลินิก ทางระบาด เสนอต่อคณะกรรมการวิชาการตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ เพื่อยืนยัน โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ได้มีการยืนยันจากคณะกรรมการฯ แล้ว จึงมีการแถลงข่าวทันที” อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุ
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการสอบสวนโรคผู้ป่วยรายแรก พบว่ามีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 2 รายเป็นเพื่อนกัน แต่ยังไม่มีอาการป่วย ผลตรวจแล็บไม่พบโรคฝีดาษลิง แต่ต้องสังเกตอาการหรือกักตัวแล้วแต่กรณีอีก 21 วันตามความเห็นของคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ภูเก็ต จากนั้นมีการค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม (Active Case Finding) ในจุดเสี่ยง เช่น สถานบันเทิง 2 แห่งที่ผู้ป่วยไปใช้บริการ พบ 6 รายมีอาการใกล้เคียง คือมีไข้ เจ็บคอ ซึ่งมีการส่งตรวจแล็บ 4 ราย ยังไม่พบการติดเชื้อ จึงต้องสังเกตอาการหรือกักตัวแล้วแต่กรณีอีก 21 วัน
นอกจากค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก ยังไปสอบสวนในห้องพักผู้ป่วย กำจัดเชื้อในห้อง ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ภูเก็ต จะแถลงรายละเอียด เวลา 11.00 น. อีกครั้ง โดยข้อมูลเบื้องต้น ยืนยันพบผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงรายแรกของไทย เป็นไปตามระบบเฝ้าระวังโรคของไทย และได้รายงานไปยังองค์การอนามัยโลก (WHO) ตามกฎอนามัยโลก 2015 แล้ว
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกได้ประชุมผู้เชี่ยวชาญเมื่อวันที่ 25 มิ.ย.65 เพื่อประเมินว่าจะประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินระดับโลกหรือไม่ แต่เบื้องต้นยังไม่มีการประกาศ ส่วนเกณฑ์ในการประกาศ เช่น เป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง แพร่ระบาดง่าย อาจจำเป็นต้องจำกัดการเดินทาง แต่ด้วยโรคฝีดาษลิงข้อมูลปัจจุบันพบว่าความรุนแรงไม่มาก การติดต่อเชื้อไม่รวดเร็ว จากข้อมูลที่พบผู้ป่วยตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค.65 พบผู้ป่วย 12,608 ราย กระจายตัวใน 66 ประเทศทั่วโลก แต่หากเทียบกับโควิด-19 ใช้เวลาไม่กี่เดือน พบผู้ติดเชื้อหลักล้านคน ดังนั้น โรคฝีดาษลิงมีอัตราเพิ่มขึ้นไม่มากนัก ยังพบมากในทวีปยุโรปและอเมริกา ประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือสเปน 2,835 ราย เยอรมนี 1,859 ราย สหรัฐอเมริกา 1,813 ราย อังกฤษ 1,778 ราย ขณะที่ ทวีปเอเชียพบผู้ป่วยในสิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย
สำหรับโรคฝีดาษลิง ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย มีข้อสันนิษฐานว่าเกี่ยวข้องกับการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โดยเฉพาะตุ่มหนองมีจำนวนไวรัสมาก ฉะนั้น การติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจไม่ใช่ลักษณะเด่นของโรคนี้ อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกมีคำแนะนำออกมาเมื่อวันที่ 19 ก.ค.65 ว่าให้มีการประเมินความเสี่ยงจากกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มที่เสี่ยงสูง ทางประเทศไทยจึงประกาศให้ 1.ผู้ที่สงสัยเข้าข่าย เข้าพบแพทย์เพื่อตรวจหาเชื้อ 2.ให้สถานพยาบาลทุกแห่งรวบรวมข้อมูลทางคลินิกทั้งผู้ป่วยยืนยันและผู้ป่วยสงสัย ส่งไปยังองค์การอนามัยโลกเพื่อประเมินสถานการณ์ 3.จัดระบบคัดกรองในสถานพยาบาลทุกแห่ง คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ เพื่อตรวจผู้ป่วยที่สงสัย และสอบสวนควบคุมโรค มีมาตรการแยกกักหรือกักตัวแล้วแต่กรณีในระยะฟักตัว 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์
“ต้องย้ำว่าโรคฝีดาษลิง ไม่มีความรุนแรงสูงมากนัก มี 2 สายพันธุ์หลัก คือแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง ผู้ป่วยรายแรกของไทยเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตกที่มีความรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งโรคนี้มีระยะดำเนินโรคไม่นาน โดยตุ่มหนองจะค่อยๆ แห้งและหายไป สำหรับประชาชน ต้องย้ำว่าโรคติดต่อการสัมผัสใกล้ชิด ไม่ได้ติดต่อง่าย มาตราป้องกันโควิดสามารถใช้ป้องกันได้เช่นกัน ทั้งล้างมือบ่อยๆ ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ผู้ที่มีอาการตุ่มหนอง และที่สำคัญคือไม่ตีตราผู้ติดเชื้อ หรือกลุ่มเสี่ยง เพื่อลดปัญหาทางสังคม” นพ.โอภาส กล่าว
เมื่อถามว่า มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษลิงในไทยหรือไม่ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคนี้ใช้การรักษาตามอาการ ตุ่มดูน่ากลัว แต่ความรุนแรงโรคไม่มากนัก ขณะนี้ยังไม่มียาต้านไวรัสโดยตรง ส่วนวัคซีนป้องกันมีการผลิตมาแล้วเตรียมใช้มีหลายบริษัท กรมควบคุมโรคได้สั่งจองไปเบื้องต้นแล้ว ทั้งนี้ วัคซีนโรคฝีดาษ (Smallpox vaccine) ที่องค์การเภสัชกรรมมีอยู่นั้น คาดว่านำมาใช้ได้ แต่ต้องดูข้อบ่งชี้ คือ 1.ประสิทธิภาพ 2.ผลข้างเคียง และ 3.ประเมินสถานการณ์ระบาด แต่ภาพรวมขณะนี้อาจยังไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนในวงกว้าง แต่อาจจำเป็นในกลุ่มเฉพาะ เช่น เจ้าหน้าที่ห้องแล็บที่สัมผัสเชื้อ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ต้องดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะพบว่ามีข้อมูลผลข้างเคียง เราต้องชั่งผลดีและผลเสีย
ส่วนที่มีรายงานข่าวระบุว่าผู้ป่วยรายแรกได้หลบหนีออกจาก รพ. นั้น นพ.โอภาส กล่าวว่า ข้อมูลรายละเอียดทางคณะกรรมการโรคติดต่อ จ.ภูเก็ต จะเป็นผู้ให้ข้อมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากรายงานการสอบสวนโรคผู้ป่วยชาวไนจีเรีย พบว่า สถานบันเทิง 2 แห่ง ที่ผู้ป่วยไปใช้บริการมีคนเข้าใช้บริการรวม 142 ราย นอกจากนั้น ยังมีการค้นหาผู้สัมผัสในโรงแรมที่พัก สถานบันเทิงแห่งอื่นเพิ่มเติม โดยผู้ป่วยมีตุ่มหนองบริเวณอวัยวะเพศ ใบหน้า ลำตัว แขน ขา เมื่อวันที่ 16 ก.ค.65.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กรมควบคุมโรค เผย ชาวอเมริกันติดไวรัสไข้หวัดนกจากฝูงนกหลังบ้านเป็นรายแรก หนัก!นอนICU
กรมควบคุมโรค เผยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ หรือ Centers for Disease Control and Prevention (CDC) รายงาน ผู้ติดเชื้อไวรั
'หมอยง' ชี้สถานการณ์โควิดเปลี่ยนตามกาลเวลา ปีนี้ยุติแล้ว แต่ไวรัสยังอยู่ต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า 5 ปี โควิด 19 กาลเวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน
'สมศักดิ์' ดึง สสส. ช่วย 'นับคาร์บ' ชวนคนไทยลดโรค NCDs ต้นเหตุคร่าชีวิตคนไทยชั่วโมงละ 45 คน ผจก.สสส.เดินหน้าพัฒนาฐานข้อมูลเชื่อมท้องถิ่นลดเสี่ยง
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุน สสส. คนที่ 1 กล่าวในการเป็นประธานประชุมกรรมการกองทุนฯ ครั้งที่ 8/2567 ว่า จากข้อมูลพบว่ามีผู้เสียชีวิตจาก NCDs 400,000 คนต่อปี คิดเป็นชั่วโมงละ 45 คน