กสศ. และโออีซีดี เปิดผลการวิจัย PISA for Schools การประเมินเพื่อพัฒนาในระดับสถานศึกษาครั้งแรกของไทย ผลวิจัยระบุทักษะอารมณ์และสังคม มีความสัมพันธ์ต่อผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ พบ “เด็กช้างเผือก” จากครัวเรือนยากจน แต่สามารถอยู่ในกลุ่มที่ทำคะแนนได้สูงสุด 25% เพราะมีทักษะอารมณ์สังคมสูง
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า PISA for Schools หรือ PISA-based Test for Schools (PBTS) ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายในการสุ่มกลุ่มตัวอย่างทางสถิติเพื่อวัดระดับความสำเร็จของการศึกษาระดับประเทศ หรือระดับนานาชาติ เหมือนอย่างการสอบ PISA ซึ่งจัดสอบทุก 3 ปี แต่ PISA for Schools เป็นเครื่องมือประเมินเพื่อพัฒนาชั้นเรียนและสถานศึกษา และสามารถขยายผลพัฒนาโรงเรียนอื่นที่มีสภาพแวดล้อมใกล้เคียงกัน รวมถึงนำไปสู่งานวิจัยต่อเนื่องเพื่อผลลัพธ์ในการเปลี่ยนแปลงนโยบายการศึกษาของประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่สำคัญที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ โออีซีดี ได้เชิญประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 15 ประเทศทั่วโลกที่มีโอกาสร่วมวิจัยพัฒนาเครื่องมือ PISA-based Test for Schools นี้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเครื่องมือการประเมินผลเพื่อการพัฒนาในชั้นเรียน เพื่อให้สถานศึกษาสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องด้วยข้อมูลเครื่องมือดังกล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า กสศ. ทดลองใช้ PISA for schools ใน 66 โรงเรียน ครอบคลุมนักเรียน 2,459 คน พบเด็กช้างเผือก (Resilient Student) ซึ่งเป็นนักเรียนจากครัวเรือนยากจนที่มีรายได้น้อยที่สุด 25% ของประเทศสามารถทำคะแนนอยู่ในกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด 25% บนของประเทศ จำนวนหนึ่งของเด็กกลุ่มนี้ พบว่ามีคุณลักษณะด้าน ทักษะอารมณ์และสังคม (social and emotional skill) อยู่ในระดับสูงตรงกัน และเมื่อวิเคราะห์โดยใช้เครื่องมือ PISA for Schools พบว่าเมื่อควบคุมให้ปัจจัยอื่นๆ คงที่แล้ว ปัจจัยที่ทำให้นักเรียนช้างเผือกมีผลสมรรถนะที่ดีกว่าเพื่อนแตกต่างจากนักเรียนจากครัวเรือนยากจนทั่วไปคือ การมีระดับทักษะอารมณ์ สังคมสูง โดยบทบาทของผู้ปกครอง โรงเรียน มีผลอย่างมากที่ช่วยให้ระดับทักษะอารมณ์สังคมของเด็กกลุ่มนี้มีมากขึ้น
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) กล่าวว่า จากผลทดสอบ PISA for Schools ทำให้ค้นพบว่า SEL มีความสัมพันธ์กับคะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่าน โดยเด็กที่มีการควบคุมตัวเองได้ดี มีความอยากรู้อยากเห็น หรือมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะมีผลการเรียนที่ดีตามมา ข้อค้นพบตรงนี้นำเรามาสู่การสำรวจพบ ‘เด็กช้างเผือก’ หรือเด็กที่มีเศรษฐฐานะในระดับ 25% ล่างสุด แต่สามารถทำคะแนนได้สูงอยู่ใน 25% บนสุดของกลุ่มทดสอบ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้เราไปถึงแนวทางในการพัฒนาเด็กคนอื่น ๆ ในภาพรวมได้
“จากเด็กเข้าสอบทั้งหมด มี 76 คน ที่มีคะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มวิชา และมี 5 คนที่คะแนนสูงสุดในทั้งสามวิชา เด็กเหล่านี้คือเด็กช้างเผือกที่ได้รับทุนเสมอภาค ซึ่งมาจากครอบครัวที่ยากจนที่สุด ซึ่ง PISA for Schools เผยให้เห็นพื้นภูมิว่ามีทักษะทางอารมณ์สังคมที่โดดเด่นในหลายเรื่อง เช่น มีการควบคุมตนเอง กล้าแสดงออก และมีทักษะสังคมที่สูงกว่าเด็กกลุ่มอื่น ส่วนความอยากรู้อยากเห็น และความเห็นอกเห็นใจก็มีในระดับค่อนข้างสูง แม้ยังเป็นรองเด็กที่มาจากครอบครัวที่เศรษฐฐานะดีที่สุด”
ดร.ภูมิศรัณย์ ย้ำด้วยว่า ในอีกเรื่องที่ค้นพบ เด็กช้างเผือกกลุ่มนี้จะมีการสนับสนุนจากผู้ปกครองในหลายด้าน เช่น การเสริมความมั่นใจ การศึกษาการฝ่าฟันความยากลำบากทำให้เห็นว่าแม้มาจากครอบครัวยากจนที่สุด หรือผู้ปกครองมีระดับการศึกษาที่ไม่สูง แต่หากเขาได้รับการสนับสนุนด้านต่างๆ โดยเฉพาะการศึกษา การให้กำลังใจจากผู้ปกครอง เด็กก็สามารถไปสู่ความสำเร็จทางวิชาการได้
“ยิ่งผู้ปกครองสนับสนุนเรื่องการศึกษาเท่าไหร่ เด็กจะยิ่งมีความอยากรู้อยากเรียน มองโลกในแง่ดี เกิดความมั่นใจในการเรียน และเป็นการพัฒนาส่งเสริมทักษะอารมณ์สังคมของเด็กให้ดียิ่งขึ้นไปอีก หรือเมื่อมองไปที่ปัจจัยของโรงเรียน จะพบว่าบรรยากาศในห้องเรียนที่ดี มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีพฤติกรรมรบกวนในระหว่างการเรียนการสอน มีการเปิดกว้างทางความคิดเห็น ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ทักษะอารมณ์สังคมของเด็กพัฒนาแต่ถ้าโรงเรียนมีปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งกันสูง ทักษะอารมณ์สังคมของเด็กจะเป็นเชิงลบ”
ด้าน Dr.Joanne Caddy นักวิเคราะห์อาวุโสและหัวหน้าทีมวิจัยโครงการ PISA for Schools ประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า ท่ามกลางความไม่พร้อมด้านสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตัวนักเรียนและโรงเรียน การที่โรงเรียนให้ความสำคัญกับการปลูกฝัง Growth Mindset และบ่มเพาะ ทักษะทางอารมณ์และสังคมของเด็กอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้เด็กเพิ่มพูนทักษะความรู้ทางวิชาการได้ทัดเทียมกับเด็กรุ่นเดียวกันที่มีความพร้อมมากกว่าในหลายๆ ด้านได้
“Growth mindset หมายความว่า เด็กนักเรียน เชื่อว่า ตนเองมีความสามารถในการเรียนรู้ เมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหา เด็กจะเชื่อว่าตนเองจะหาหนทางเรียนรู้และก้าวไปข้างหน้าได้ ซึ่งตรงข้ามกับ fixed mindset ที่เด็กเชื่อว่าตนเองไม่มีทางเรียนรู้ได้เพราะไม่ฉลาด เพราะไม่มีพร้อมเหมือนคนอื่น Growth mindset จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเด็กได้รับการอบรมสั่งสอนเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์และสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องค่อยๆ ปลูกฝัง บ่มเพาะ และสั่งสม แนวทางการวัดก็คือการใช้แบบสอบถามให้เด็กได้คิดทบทวนกับตนเองว่า จะใช้วิชาที่เรียนแก้ปัญหาอย่างไร”
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า โครงการนี้จะนำไปสู่สิ่งที่มีคุณค่ามากกว่างานวิจัย โดยจะนำไปสู่การสร้างให้เด็กไทยเป็นนักเรียนช้างเผือกได้ทุกคน เพราะผลของ PISA for Schools จะทำให้เกิดห้องเรียนคุณภาพสูงเพื่อยกสมรรถนะของเด็กทุกคน และสิ่งที่สำคัญคือครูต้องช่วยศิษย์ ช่วยพัฒนาเด็กให้มีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 ด้านคือ มีค่านิยม เจตนคติ ทักษะ และความรู้ที่ผสมกลมกลืนกัน และต้องการกระบวนการเรียนรู้เชิงลึกหรือ Active Learning ให้เกิดขึ้นในห้องเรียนและในโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันสิ่งที่ครูไทยยังขาดอยู่คือเครื่องมือที่จะใช้ในการประเมินและปรับปรุงการทำหน้าที่และวิธีการสอนของครูให้กับนักเรียน ซึ่งในอนาคตถ้าเราสามารถพัฒนาเครื่องมือประเมินแบบ PISA ขึ้นมาเป็นของเราเอง เพื่อให้แต่ละโรงเรียนได้ประเมินตัวเอง ก็จะเกิดการปรับปรุงและพัฒนาวงจรการเรียนรู้ คุณภาพการศึกษาของเราก็จะพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯตื่น! สั่ง'กสศ.' อัดฉีดเงินช่วยเหลือเด็กนักเรียนหลุดจากระบบ
นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคั
ไม่ทิ้งเด็กเดินทางผิด ไว้ข้างหลัง! ผุดศูนย์เรียนรู้ ทักษะอาชีพ เปิดประตูชีวิตใหม่
“กสศ”.เปิดงานแนวรุกทางการศึกษา ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จับมือกรมพินิจฯ เจาะกลุ่มเด็กในกระบวนการยุติธรรม สร้างโอกาสทางการศึกษา เปิดเส้นทางชีวิตใหม่ ผุดศูนย์เรียนรู้ในศูนย์ฝึกอบรมฯ ทั่วประเทศ เผยตัวเลขเด็กกลับไปทำผิดซ้ำลดลงต่อเนื่อง
'เศรษฐา' คุย กสศ. ผนึกแสนสิริตั้งกองทุนการศึกษาเด็กลดเหลื่อมล้ำ บอกเสียใจไม่มีบริษัทอื่นทำต่อ
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกฯและรมว.คลัง ให้การต้อนรับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่เข้าพบเพื่อแสดงความยินดีที่ได้รับตำแหน่ง และหารือเกี่ยวกับการทำงานของ กสศ.
เปิดมุมมอง ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช วิเคราะห์ระบบการศึกษา 5 ประเทศ แนะ สมศ. ให้เน้นความสำคัญกับรูปแบบเน้นประเมินเพื่อการเรียนรู้
ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช วิเคราะห์ระบบการศึกษาใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ แคนาดา ฟินแลนด์ เซี่ยงไฮ้ (จีน) และออสเตรเลีย มีรูปแบบการศึกษาภายใต้เป้าหมายเดียวกันในการสร้างความเท่าเทียมทางการศึกษาควบคู่การพัฒนาทักษะเพื่อการดำรงชีวิตในอนาคต พร้อมแนะ สมศ.