27 มิ.ย.65- ผศ.ดร. สมพิศ ขัตติยพิกุล คณบดีวิทยาลัยนานาชาติ ม.ศิลปากร กล่าวว่า จากสถานการณ์สภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยีปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อเราต้องเผชิญกับสถานการณ์ โรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลให้รูปแบบการดำรงชีวิต แนวคิดต่าง ๆ ในสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากดิจิทัล ดิสทรัปชั่นส์ทั่วโลก รวมทั้งความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีในยุคดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ทำให้ภาคการศึกษามีความตระหนักและให้ความสำคัญด้านการผลิตบัณฑิตที่สามารถตอบโจทย์และพัฒนาการประยุกต์การใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนและสามารถจัดเก็บบริหารจัดการข้อมูล (Data Scientist) รวมถึงการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI) การเพิ่มศักยภาพในการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เป็นต้น ดังนั้นการเรียนการสอนจึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพื่อตอบโจทย์และรองรับการแข่งขันทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมป้อนบัณฑิตที่มีศักยภาพสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และรองรับการเป็นเจ้าของธุรกิจอย่างมืออาชีพ
“จากการวิจัยทางการตลาดของบริษัท Zion พบว่า ภายในปี 2025 มูลค่าทางการตลาดของผู้ช่วยเสมือนดิจิทัลอัจฉริยะทั่วโลก หรือ AI จะมีมูลค่าสูงถึง 19.6 พันล้านดอลลาร์ แนวโน้มดังกล่าวบ่งชี้ได้ว่าตลาดงานด้าน AI ยังมีความต้องการอยู่เป็นจำนวนมากตามปริมาณความต้องการของผู้ใช้ในอุตสาหกรรมประเภทนี้ จากแนวโน้มดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าบทบาทของเทคโนฯ มีความสำคัญที่บัณฑิตสามารถต่อยอดในการทำงานและทำธุรกิจในยุคนี้”
ล่าสุด วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากรเปิดหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาธุรกิจและเทคโนโลยี) ซึ่งหลักสูตรนี้เป็นการบูรณาการระหว่างภาคทฤษฎีและการปฏิบัติแบบพหุวิทยาการทางด้านธุรกิจผสมผสานกับเทคโนโลยี โดยความร่วมมือระหว่างคณะของมหาวิทยาลัยศิลปากร ประกอบด้วยวิทยาลัยนานาชาติ คณะวิทยาการจัดการ และ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมกันกับ Paris School of Technology and Business (PST&B) สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในการร่วมพัฒนาหลักสูตร และจัดการเรียนการสอนร่วมกัน
ดร. อาร์มอง แดร์คี ผู้อำนวยการ และผู้ก่อตั้ง Paris School of Technology and Business กล่าวต่อว่า สำหรับ Paris School of Technology and Business (PST&B) เป็นสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในเครือข่ายของ Galileo Global Education ผู้นำสถาบันอุดมศึกษาในยุโรป ซึ่งในปัจจุบันมีสถาบันการศึกษาในเครือข่ายมากกว่า 55 สถาบัน 86 วิทยาเขต ใน 13 ประเทศ และมีจำนวนนักศึกษากว่า 180,000 คนPST&B เป็นสถาบันการศึกษาที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล และได้รับรางวัล “Grand Prix de l’Innovation PédagogiqueEduniversal” สำหรับหลักสูตรปริญญาตรีและปริญญาโทประจำปี พ.ศ. 2564-2565 ที่ผ่านมาทางวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากรมีความร่วมมือในการเปิดเรียนการสอนกับ Paris School of Business ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของกลุ่ม Galileo Global Education ด้วยเช่นกันมานานกว่า 5 ปี สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ Paris School of Technology and Business (PST&B) จัดตั้งขึ้นเพื่อพลิกเกม (Game changer) ในระดับอุดมศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาผู้นำด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตสู่โลกดิจิทัล
ผศ.ดร. สมพิศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้มีการเรียนการสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจสาขาวิชาการจัดการโรงแรม และสาขาวิชาการจัดการสินค้าลักซ์ชัวรี่ และด้านการออกแบบสื่อสารดิจิทัล ที่ผลิตบัณฑิตป้อนสู่ภาคธุรกิจให้สามารถแข่งขันกับตลาดแรงงานมาตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี สำหรับจุดแข็งที่สำคัญของการเรียนในหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตสาขาวิชาธุรกิจและเทคโนโลยี (หลักสูตรนานาชาติ) นักศึกษาสามารถจบการศึกษาได้ภายใน3 ปี และได้รับปริญญาตรี 2 ใบ จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร และ Paris School of Technology and Business สาธารณรัฐฝรั่งเศสโดยจะได้รับความรู้ความเข้าใจทางด้านการจัดการธุรกิจและเทคโนโลยี หลักสูตรสอนเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรนี้จะสามารถทำงานได้ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ และสามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติได้ พร้อมกันนี้นักศึกษายังมีโอกาสในการเดินทางไปศึกษาแลกเปลี่ยนที่สาธารณรัฐฝรั่งเศสเป็นเวลา 1 เทอม ซึ่งนักศึกษาสามารถใช้สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้จากสถาบันร่วมและยังเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านภาษาและวัฒนธรรม พร้อมยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์ระดับนานาชาติให้แก่นักศึกษาในหลักสูตรอีกด้วย ซึ่งหลักสูตรนี้จะมาช่วยในการขับเคลื่อนและ เพิ่มขีดความสามารถกับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย
“ทั้งนี้ผู้ปกครองและนักศึกษาที่มีความสนใจหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (สาขาวิชาธุรกิจและเทคโนโลยี) ของวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยศิลปากร ด้วยความพร้อมและประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปี และการทำงานร่วมกับภาคการศึกษาระดับโลก รวมทั้งการให้ความสำคัญกับประสบการณ์ระดับนานาชาติกับนักศึกษาที่เรียนรู้ปฎิบัติจริง และการดูแลนักศึกษาใกล้ชิด พร้อมมั่นใจว่าบัณฑิตของเราที่จบการศึกษาจะไม่ตกงาน และสามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศด้วย” ผศ.ดร. สมพิศ ขัตติยพิกุล กล่าวทิ้งท้าย