'IMD'ขยับการศึกษาไทยสูงขึ้น3อันดับ สูงสุดในรอบ5ปี

สะท้อนทิศทางการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น เผยต้องร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้นช่วยยกระดับกำลังคนสมรรถนะสูงสู่ตลาดแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง

21มิ.ย.65-นายอรรถพล สังขวาสี เลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวว่า ตามที่มีรายงานผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดย World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2565 พบว่า ประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 33 จาก 63 เขตเศรษฐกิจ มีอันดับลดลง 5 อันดับ ซึ่งทาง สกศ. ได้ศึกษาข้อมูลพบว่าปัจจัยด้านเศรษฐกิจได้รับผลกระทบมากที่สุดจากผลกระทบสะสมจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีข่าวดีเช่นกันเพราะอันดับ IMD การศึกษาของประเทศไทย ขยับมาอยู่ที่อันดับ 53 จากเดิมอยู่ที่อันดับ 56 ในปี 2564 ทะยานขึ้น 3 อันดับ และเป็นอันดับดีที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งภาพสะท้อนสำคัญต่อการชี้ทิศและขับเคลื่อนการศึกษาของประเทศไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดียิ่งขึ้น

นายอรรถพล กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สกศ. ยังได้รายงานข้อมูลสำคัญไปถึงสำนักงาน IMD สวิตเซอร์แลนด์โดยตรง ส่งผลให้รายงานข้อมูลมีความครอบคลุมมากขึ้นในหลากหลายมิติและลงลึกรายละเอียดที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยข้อมูลที่น่าสนใจตัวชี้วัดการศึกษาของไทยมีอันดับที่ดีขึ้น 12 ตัวชี้วัดจากทั้งหมด 19 ตัวชี้วัด และมีพัฒนาการมากที่สุด 2-3 ตัวชี้วัด ได้แก่ งบประมาณด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.7 ของ GDP ทะยานขึ้น 10 อันดับ คือ อันดับที่ 49 จากเดิมอันดับ 59 รองลงมาดัชนีผลสัมฤทธิ์ของการอุดมศึกษา ขยับเป็นร้อยละ 34 ดีขึ้น 4 อันดับ คือ อันดับที่ 45 จากเดิมอันดับ 49 รวมทั้งดัชนีงบประมาณด้านการศึกษาเมื่อเทียบกับนักเรียนในทุกระดับการศึกษาที่รัฐบาลไทยทุ่มงบฯ เพิ่มขึ้น ส่งผลที่ดีขึ้น 3 อันดับ คือ อันดับที่ 53 จากเดิมอันดับ 56


นอกจากนี้ ยังมีตัวชี้วัดด้านการศึกษาที่มีอันดับดีที่สุด ไม่ว่าจะเป็น อัตราส่วนนักเรียนต่อครู 1 คนที่สอนในระดับประถมศึกษา ซึ่งเป็นตัวเลขที่ยืนยันความทุ่มเทของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันอันดับ IMD การศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้นไป อย่างไรก็ตาม เรายังต้องการความร่วมมือจากเสาหลักเศรษฐกิจทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย รวมทั้งหอการค้าต่างประเทศ และผู้ประกอบการอุตสาหกรรมภาคธุรกิจและเอกชน เพื่อผลักดันระบบการศึกษาที่มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น

นายอรรถพลกล่าวอีกว่า ก้าวต่อไปของ สกศ. ในการชี้ทิศและพัฒนาการศึกษาไทยที่ดียิ่งขึ้นไปอีก สิ่งสำคัญที่ต้องเร่งขับเคลื่อน 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บฐานข้อมูล ด้านการศึกษาที่มีความสมบูรณ์และสะท้อนตัวชี้วัดการศึกษาที่มีความครอบคลุมมากที่สุด ซึ่งจำเป็นต้องบูรณาการฐานข้อมูลร่วมกันทั้งจากองค์กรหลักของ ศธ. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ 2.การกระชับความร่วมมือกับภาคผู้ประกอบการ/เอกชน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน และร่วมออกแบบนโยบายการศึกษาในโลกยุคใหม่ที่ต้องรวดเร็วและทันท่วงทีต่อการเปลี่ยนแปลง โดย สกศ. ต้องเรียนรู้ร่วมกับภาคเอกชนเพื่อช่วยยกระดับกำลังคนสมรรถนะสูงเติมเต็มคนคุณภาพสู่ตลาดแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจพาประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางรวดเร็วยิ่งขึ้น และยังต้องส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่มีความสามารถที่จะยืดหยุ่นและปรับตัวทั้งเรื่องการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ 21 เพราะแรงจูงใจการศึกษาที่เปลี่ยนไป และอันดับ IMD คือเครื่องมือสำคัญช่วยปรับนโยบายการศึกษาของไทยที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่มากขึ้น

เพิ่มเพื่อน