‘กนก’ จี้ ศธ. ต้องคืนครู ให้นักเรียนในชนบททันที

ส.ส.ปชป. ชี้สิ่งแรกที่ ศธ. โดยเฉพาะสพฐ. ต้องทำในทันที ไม่มีการผัดวันประกันพรุ่งอีกต่อไปก็คือ การปรับระบบ และหลักเกณฑ์ การจัดสรรอัตราตำแหน่ง และเงินเดือนของครู ให้เพียงพอ

13 มิ.ย.2565-นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “กนก วงษ์ตระหง่าน (Kanok Wongtrangan)” เรื่อง ศธ. ต้อง “คืนครู” ให้นักเรียนในชนบททันที ระบุว่า “วันนี้ ข้อเท็จจริง ที่เป็นความจริงของแผ่นดินและปวดร้าว คือ มีโรงเรียนที่เด็กต่ำกว่า 120 คน เป็นจำนวนนับหมื่นโรงเรียนจาก 30,000 กว่าโรงเรียน เด็กเหล่านี้บางแห่ง มีครู 2 คน 3 คน แถมไม่มี ผอ. ด้วย แต่มี 6 ชั้นเรียน หลับตานึกภาพเอาเองครับว่าแล้วคุณภาพ มันจะมีไหม ครู 2 คน ต้องสอน 6 ชั้นเรียน เป็นเวรกรรมของเด็กๆ เหล่านี้หรือครับ ที่ต้องมาเรียนหนังสือที่โรงเรียน ที่ไม่มีครูให้พวกเขา แล้วความเท่าเทียมทางการศึกษา ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติล่ะครับ อยู่ที่ไหนกัน

กระทรวงศึกษาธิการ ก็ไม่ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร จะยุบรวม หรือ จัดครูในแต่ละเขตพื้นที่การศึกษามากองรวมกัน แล้วจัดตารางเรียนร่วมกันในแต่ละเขต แล้วแชร์ครูไปสอนให้ครบชั้นเรียน ครบสาระวิชา จะทำอย่างไร ก็ไม่ทำ ผมเคยทำให้ดูมาแล้วที่อ่างทอง ซึ่งก็ได้ผล ผมยินดีที่จะให้ข้อเสนอแนะครับ อย่าปล่อยให้ปัญหาเหล่านี้ แก้ปัญหาด้วยตัวมันเอง สงสารเด็กครับ สงสารประเทศครับที่อนาคตจะมืดมนเพราะคุณภาพของคนจะด้อยลง ด้วยคุณภาพของการศึกษา”

นี่เป็นข้อความเพียงบางส่วนที่ “นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สื่อสารผ่านจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเรียกร้องการ “คืนครูให้นักเรียน” โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท จนกลายมาเป็นประเด็นบนพื้นที่สื่อออนไลน์ เมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา (24 พ.ค.)

ถ้าตามอ่านการสื่อสารของผม และฟังการอภิปราย ก็คงทราบดีว่า ผมสนใจในเรื่องนี้มาตลอด และเรียกร้องการแก้ไขปัญหาอันเหมาะสมมาอย่างต่อเนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น การออกมาชี้ประเด็นดังกล่าวนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นของท่านสมศักดิ์ และกระทุ้งไปยังกระทรวงศึกษาธิการให้ขยับเขยื้อนการแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ให้มีประสิทธิภาพ ต่อคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน จึงเป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วยอย่างจริงใจ และขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของท่านสมศักดิ์ในครั้งนี้อย่างเต็มกำลัง

ผมย้ำอยู่เสมอว่า นักเรียนในชนบทนั้น มีความเสียเปรียบนักเรียนในเมือง มากมายหลายด้านอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น เรื่องรายได้ของครอบครัว การเดินทางไปโรงเรียน รวมไปถึงเรื่องอาหารกลางวัน เป็นต้น ยิ่งถ้านักเรียนในชนบทเหล่านั้น มีฐานะที่ยากจน ก็ยิ่งเสียเปรียบมากขึ้นเป็นทวีคูณ แล้วท่ามกลางความเสียเปรียบของนักเรียนในชนบทห่างไกลเช่นนี้ ถ้าระบบและหลักเกณฑ์การบริหารจัดการโรงเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ ยังมาเพิ่มความเสียเปรียบที่สำคัญยิ่งให้นักเรียนชนบทเข้าไปอีก ในเรื่อง “จำนวนของครู” ที่ไม่เพียงพอต่อการรักษาคุณภาพทางการศึกษาขั้นต่ำไว้ได้ ก็เสมือนเป็นการทำลายอนาคตของนักเรียนเหล่านั้นไปโดยปริยาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมยอมไม่ได้ และแน่นอนว่า ท่านสมศักดิ์ ก็เช่นกัน 

ดังนั้น สิ่งแรกที่กระทรวงศึกษาธิการ โดยเฉพาะสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องทำในทันที ไม่มีการผัดวันประกันพรุ่งอีกต่อไปก็คือ การปรับระบบ และหลักเกณฑ์ การจัดสรรอัตราตำแหน่ง และเงินเดือนของครู ให้เพียงพอต่อการประกันคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กในชนบท

นอกจากนั้น ก็ต้องเสริมศักยภาพการเรียนการสอนให้กับโรงเรียนเหล่านั้น รวมไปถึงการดูแลเรื่องสุขอนามัยของนักเรียนทุกคนอย่างเหมาะสม และเท่าเทียมในทุกพื้นที่ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ก็เป็นเรื่องที่รอไม่ได้อีกเช่นกัน และผมก็พยายามสื่อสารไปยังกระทรวงศึกษาธิการ และสพฐ. อยู่เสมอ แต่ก็ดูเหมือนว่า จะยังไม่มีความคืบหน้าของการดำเนินการนัก แต่อย่างไรก็ตามผมจะยังคงเฝ้าติดตามต่อไป และจะคอยเสนอแนะอย่างต่อเนื่องเหมือนที่เคยทำมา เพราะเรื่องคุณภาพทางการศึกษา เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาในทุกๆ มิติของประเทศไทยอย่างแท้จริงครับ 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลเปิดช่องทางพิเศษ ปิดความลับผู้แจ้งจับครูละเมิดทางเพศในสถานศึกษา

รัฐบาลเปิดช่องทางพิเศษปกปิดความลับให้ผู้แจ้งปลอดภัย แจ้งจับหากพบครู-บุคลากรทางการศึกษาล่วงละเมิดทางเพศ ลงโทษวินัยขั้นร้ายแรงถึงที่สุด

เช็กเลย! ของเล่นประเภทไหนบ้าง ผู้ปกครองอย่าซื้อให้เด็ก

'คารม' เตือนผู้ปกครอง ระวังอย่าซื้อของเล่นที่เป็นอันตรายกับเด็ก พร้อมแนะเลือกของเล่นที่ช่วยเสริมทักษะการเรียนรู้-พัฒนาการ-จินตนาการ และผู้ปกครองควรแนะวิธีการเล่นของเล่นอย่างถูกต้อง

รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

กระทรวงศึกษาธิการ เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning

กระทรวงศึกษาธิการ สั่ง สพฐ. เร่งผลักดันการเรียนรู้แบบ Active Learning ให้ครอบคลุมทุกภาค ทุกโรงเรียน หวัง ส่งเสริมให้นักเรียนตั้งคำถามและหาคำตอบเอง แทนการท่องจำแบบเดิม