7มิ.ย.65-นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมกการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมมอบนโยบายให้แก่ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ ผ่านระบบวีดิโอคอนเฟอร์เรนท์ ว่า ตนได้สื่อสารทำความเข้าใจให้เขตพื้นที่รับทราบและนำไปสู่การปฏิบัติ คือ การเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 แบบ On site อย่างเต็มรูปแบบในโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายให้เด็กได้มาโรงเรียนอย่างปลอดภัย แต่ขณะเดียวกันเมื่อมีการเปิดภาคเรียนอย่างเป็นทางการมาได้ 1 เดือนแล้ว เราได้พบปัญหาในสถานศึกษา เช่น ความรุนแรงระหว่างนักเรียน การลงโทษนักเรียน ทรงผม เครื่องแบบนักเรียน เป็นต้น รวมถึงพบภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองที่มีมากขึ้น ซึ่งประเด็นปัญหาเหล่านี้มีความจำเป็นต้องมีการปรับทัศนคติกันใหม่ ตนจึงมอบแนวทางให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ติดตามและทำความเข้าใจให้แก่โรงเรียนในสังกัด เพราะทราบดีว่าที่ผ่านมาการเรียนในรูปแบบออนไลน์มากว่า 2 ปีอาจส่งผลให้พฤติกรรมระหว่างนักเรียนและครูยังไม่เข้าใจบริบทของการเรียนการสอนเท่าที่ควร ดังนั้นช่วงเวลา 3 เดือนของการเปิดภาคเรียน ตนจึงต้องการให้ครูตั้งหลักปรับบทบาทมาเป็นพ่อแม่คนที่สองด้วยการพักความเข้มข้นด้านวิชาการลง และสร้างบรรยากาศความสุขในห้องเรียนให้แก่เด็กด้วยการทำให้โรงเรียนเป็นบ้านแห่งความสุขให้ได้
นายอัมพร กล่าวต่อว่า ทั้งนี้นอกจากโรงเรียนจะเติมทักษะด้านวิชาการเพื่อลดภาวะการเรียนรู้ถดถอยแล้วนั้น แต่สิ่งสำคัญคือโรงเรียนจะต้องทำให้เด็กเรียนอย่างมีความสุขก่อน จากนั้นค่อยมีการต่อยอดการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบต่างๆ เพราะการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากันไม่ว่าจะเป็นเด็กที่มีความสามารถพิเศษ เด็กด้อยโอกาสทางการเรียนรู้ เราต้องต่อยอดการเรียนรู้ของเด็กกลุ่มต่างๆให้เกิดความเหมาะสมตามความถนัด นอกจากนี้ตนยังต้องการให้โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทุกช่วงวัย โดยให้โรงเรียนเป็นหน่วยพัฒนาคนของชุมชน เนื่องจากขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้ขับเคลื่อนโครงการโรงเรียนคุณภาพชุมชนขึ้น ดังนั้นการเป็นโรงเรียนคุณภาพชุมชนจะต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ทุกคนในชุมชน ซึ่งเขตพื้นที่จะต้องทำงานอย่างหนักในการสร้างความเข้าใจถึงการยกระดับคุณภาพโรงเรียนในชุมชนให้ได้ เพราะหากทำสำเร็จจะตอบโจทย์สังคมได้ว่าโรงเรียนทั่วประเทศมีคุณภาพเท่ากันทุกแห่ง
เลขากพฐ.กล่าวต่ออีกว่า สำหรับ โรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่แม้เด็กจะเหลือน้อยก็ไม่จำเป็นต้องไปยุบ แต่สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันกับโรงเรียนคุณภาพชุมชนได้ สำหรับข้อมูลโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนเด็กเป็นศูนย์กว่า 200 แห่งนั้น ซึ่งในประเด็นนี้ตนมองว่าเป็นภาพความสำเร็จ เพราะเป็นโรงเรียนที่คนในชุมชนไม่ประสงค์ให้ลูกหลานไปเรียนแล้ว แต่พ่อแม่ย้ายบุตรหลานให้ไปเรียนที่โรงเรียนคุณภาพชุมชนแทน ซึ่งการจะยุบโรงเรียนที่ไม่มีเด็กจะต้องมีการทำความเข้าใจกับคนในชุมชนและดูบริบทหลายอย่าง เนื่องจากโรงเรียนบางแห่งได้รับบริจาคมา หรือเป็นที่ดินของหน่วยงานอื่น รวมถึงสร้างบ้านช่วยกันสร้างมา ดังนั้นโรงเรียนเหล่านี้จะมีการสำรวจข้อมูลและอาจนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตามขณะนี้ภาพความสำเร็จของการบริหารจัดการโรงเรียนคุณภาพชุมชนได้เกิดขึ้น
” ผมจึงขอชู “สระแก้วโมเดล” ที่ประสบความสำเร็จให้เป็นตัวอย่างแก่เขตพื้นที่อื่นๆนำไปสู่การปฏิบัติขับเคลื่อนต่อไป”เลขาฯ กพฐ.กล่าว