30พ.ค.65-นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวถึงรูปแบบการพัฒนาครู ว่า ที่ผ่านมารูปแบบการพัฒนาครู วิธีการแบบเดิมๆ เน้นกระบวนการและการใช้งบประมาณ มากกว่าผลลัพธ์การอบรมและผลกระทบที่จะเกิดกับผู้เรียน ซึ่งตนคิดว่าสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาและเทคโนโลยีปัจจุบันแตกต่างจากอดีตเมื่อ 10 ปีที่แล้วอย่างมากมาย ดังนั้นหากเรายังคิดพัฒนาครู และรวมถึงผู้บริหารสถานศึกษาแบบเดิมๆ คงหวังผลสัมฤทธิ์การพัฒนาที่จะส่งผลถึงคุณภาพครู ผู้บริหาร และคุณภาพของผู้เรียนไม่ได้ ทั้งนี้ตนมองว่าเราเลิกพัฒนาครูแบบจับครูมาเข้าห้องอบรม เนื่องจากวิธีดังกล่าวเสียทั้งงบประมาณและเวลาของครู เพราะหลังจากฝึกอบรมเสร็จ ก็ไม่มีการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานที่ชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม
ดังนั้นจึงควรเปลี่ยนวิธีคิดในเรื่องการพัฒนาครู โดยการใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพราะโรงเรียนถือเป็นสถานที่พัฒนาครูที่ดีที่สุด และเน้นการพัฒนาวิชาชีพของครูอย่างต่อเนื่อง ให้ครูมีอิสระที่จะคิดและพัฒนาตนเองในเรื่องที่คิดว่าตนเองขาดความรู้ความสามารถ ทักษะหรือสมรรถนะ เพราะครูทุกคนจะมี IDP (Individual Development Plan) อยู่แล้วนำมาต่อยอดเชื่อมต่อกันให้เป็นรูปธรรมโดยใช้ PLC เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาวิชาชีพอย่างจริงจัง และหน่วยงานต้นสังกัดของครู มีหน้าที่หลักในการสำรวจหาความต้องการพัฒนาวิชาชีพของครูในแต่ละปีงบประมาณ แล้วจัดทำการวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น จัดลำดับความต้องการตามความจำเป็นเพื่อจัดสรรงบประมาณการพัฒนา การจัดหา การสนับสนุนสื่อการเรียนรู้ ทรัพยากรการเรียนรู้ให้ครูเข้าถึงเพื่อเรียนรู้ในเวลาที่ครูมีเวลาว่างและจัดสรรเวลาเรียนรู้เองได้ รับผิดชอบตนเองได้ไม่ต้องถูกเกณฑ์มาเข้าอบรมในวันเวลาที่ครูไม่พร้อมไม่สะดวกแต่ผู้จัดสะดวก หรือมาตามคำสั่ง
“หลักคิดการพัฒนาครู ผู้บริหารสถานศึกษา รวมถึงผู้บริหารการศึกษาที่สำคัญ คือ ต้องพร้อมที่จะเรียนรู้ มีความสนใจ มีความต้องการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง และมีความสุขที่จะเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเอง จัดสรรเวลาเรียนรู้เองได้ ไม่ต้องถูกเกณฑ์ถูกสั่งมาเข้าอบรม ถึงเวลาที่ ศธ.ต้องเปลี่ยนแนวคิดการพัฒนาโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาตามความสนใจของครู ผู้บริหาร และ ศธ.มีหน้าที่ในการพัฒนาและจัดหา platform ต่างๆ ที่จะใช้เป็นเครื่องมือเข้าถึงแหล่งความรู้ เพื่อให้ครู ผู้บริหารเข้าถึงได้ง่ายสะดวก เลิกเน้นกระบวนการ แต่เน้นที่ผลลัพธ์การพัฒนาและผลกระทบด้านคุณภาพการปฏิบัติหน้าที่ที่เกิดขึ้น”ประธาน กมว.กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เอกชัย' หนุนอีกเสียงต้องมี 'ศธจ.'กระจายอำนาจ ให้แต่ละจังหวัด ไม่ขึ้นส่วนกลาง ชี้4-5ปีมีแต่แย่งอำนาจ ไม่มีใครออกมารับผิด คุณภาพการศึกษา
สถานการณ์ที่เรื้อรังมาตลอดเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาระหว่างเขตพื้นที่และศึกษาจังหวัด เมื่อมีการโอนอำนาจการบริหารงานบุคคลไปที่ศึกษาจังหวัด มีแต่การยื้อแย่ง ความรับผิดชอบเรื่องอำนาจบริหารงานบุคคลและอาจรวมถึงการใช้งบประมาณบางประเภท แต่ผมยังไม่เคยเห็น ว่าจะมีกลุ่มใดออกมายื้อแย่งความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กที่ตกต่ำลงและขอรับผิดชอบ เหมือนที่จะขอรับผิดชอบการบริหารงานบุคคล