22 พ.ค.65-นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวถึงการลงโทษโดยตัดผมนักเรียน ว่า ไม่มีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ฉบับใดที่ให้อำนาจครูลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผม ซึ่งระเบียบ ศธ.ว่าด้วยการไว้ทรงผมของนักเรียน พ.ศ.2563 ในข้อ 7 ก็กำหนดให้สถานศึกษาโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสถานศึกษา หรือ คณะกรรมการบริหารโรงเรียน วางระเบียบเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนที่มีความเฉพาะเจาะจงได้ เช่น โรงเรียนที่สอนเกี่ยวกับนาฏศิลป์ ซึ่งมีการจัดการเรียนการสอนที่ต้องการไว้ทรงผมนักเรียนในรูปแบบเฉพาะ เป็นต้น ทั้งนี้ หลักการที่ต้องยึดถือในการวางระเบียบ คือ ความเหมาะสมในการพัฒนาบุคลิกภาพที่ดีของนักเรียน และการมีส่วนร่วมของนักเรียน สถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนท้องถิ่น ดังนั้น ตราบใดที่การไว้ทรงผมของนักเรียนไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามระเบียบของสถานศึกษา หรือ ของกระทรวงฯ แล้วการลงโทษนักเรียนย่อมไม่สามารถทำได้
นางสาวตรีนุช กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาถึงวิธีการลงโทษที่เป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่า ด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 แล้ว ก็ยิ่งไม่พบว่ามีข้อไหนที่ให้คุณครูสามารถลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผมแม้แต่ข้อเดียว ซึ่งตามข้อ 5 ของระเบียบฯ มีโทษเพียง 4 สถานเท่านั้น คือ ว่ากล่าวตักเตือน, ทำทัณฑ์บน,ตัดคะแนนความประพฤติ และทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อีกทั้งการลงโทษตามระเบียบฯดังกล่าวก็มีเจตนาเพียงเพื่อให้ครูใช้แก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียน หรือ นักศึกษา ให้รู้สำนึกในความผิด และกลับมาประพฤติตนในทางที่ดีต่อไป ไม่ใช่การลงโทษด้วยวิธีรุนแรง หรือ แบบกลั่นแกล้ง หรือลงโทษด้วยความโกรธ หรือด้วยความพยาบาท ตามที่ข้อ 6 ของระเบียบฯ นี้ ได้บัญญัติห้ามไว้อยู่ ดังนั้นขอให้ทุกท่านเข้าใจตรงกันว่า การลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผม รวมถึงการใช้ความรุนแรงอื่น เช่น การใช้ไม้เรียว การหยิก ตบ ตีร่างกาย หรือ การประจานให้อับอาย ฯลฯ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิทั้งทางร่างกายและจิตใจของนักเรียนแล้ว การลงโทษด้วยวิธีการเหล่านั้นไม่สามารถทำได้ เพราะขัดต่อระเบียบของ ศธ.และผิดกฎหมายด้วย
“ แม้การสร้างระเบียบวินัยจะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักเรียน และเป็นหน้าที่ที่ครูจะต้องทำให้เกิดขึ้น แต่ดิฉันไม่คิดว่าการลงโทษนักเรียนด้วยการตัดผม หรือ การใช้ความรุนแรงอื่นที่กระทำต่อเนื้อตัวร่างกาย หรือ จิตใจของนักเรียน จะช่วยให้เด็กๆเกิดความตระหนักรู้ในบทบาทและหน้าที่ที่ตัวเอง ยิ่งถ้าเราเข้าใจว่า‘ระเบียบวินัย’ นั้น ไม่ได้หมายถึง การทำให้ทุกคนมีลักษณะเหมือนกัน แต่หมายถึง การทำให้ ‘แต่ละคน’ รู้จักวางตัว และเลือกใช้พฤติกรรมที่เหมาะสมกับบุคคลอื่นในสังคม การลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรงยิ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการสร้างระเบียบวินัย ทั้งนี้ หากพ่อ แม่ ผู้ปกครอง หรือนักเรียน พบเห็นการลงโทษนักเรียนที่ไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งมาที่ระบบ MOE Safety Center ผ่าน 4 ช่องทาง ดังนี้ Application MOE Safety Center , www.MOESafetyCenter.com , LINE @MOESafetyCenter หรือที่ call center โทร. 0-2126-6565”รมว.ศธ. กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กสม. ทำข้อเสนอแนะเรื่อง 'ทรงผมนักเรียน' ชี้ต้องรับฟังความเห็นและเน้นการมีส่วนร่วม
กสม. ทำข้อเสนอแนะเรื่องทรงผมนักเรียน ชี้การกำหนดระเบียบทรงผมต้องรับฟังความเห็นและเน้นการมีส่วนร่วมของเด็ก
ป.ป.ช. เปิดกรุสมบัติ 'อิทธิพล-ตรีนุช' กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายอิทธิพล คุณปลื้ม กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม โดยนายอิทธิพล แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 81,162,381 บาท มีหนี้สินทั้งหมด 543,016 บาท
ตอกหน้า! ‘ตรีนุช’ บอกสพฐ.ไฟเขียวยืดหยุ่นชุดลูกเสือ-เนตรนารี ตั้งแต่กลางปี65
โรงเรียนในสังกัด สพฐ. ของกระทรวงศึกษาธิการทั่วประเทศ ได้มีการยืดหยุ่นการแต่งชุดลูกเสือ-เนตรนารี-ยุวกาชาด ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 ที่ผ่านมา
พระเอกมา ‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผม ขู่ ลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ
‘พิธา’ โดดป้องนักเรียนถูกครูใช้กรรไกรเดินกล้อนผมกว่าร้อยคนจนแหว่งและเสียทรง ตั้งคำถามว่า ‘ทรงผม’ เกี่ยวอย่างไรกับการเรียนรู้ ชูนโยบายก้าวไกล กฎโรงเรียนต้องไม่ขัดหลักสิทธิมนุษยชน ต้องมีมาตรการลงโทษครูที่ละเมิดสิทธิ