3 พ.ค.65-นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….. ได้พิจารณาลงมติเสียงข้างมากเห็นชอบร่างมาตรา 3 ให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งมีคำสั่งคสช.ที่ 19/2560 เรื่อง ปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของ ศธ. ว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ตนมองว่าควรที่จะคำนึงถึงคุณภาพของผู้เรียนเป็นหลัก ไม่ใช่คำนึงถึงเรื่องอำนาจการบริหาร ดังนั้นควรที่จะนำคุณภาพของผู้เรียนเป็นธงนำ อีกทั้งตนมองว่าปัจจุบันถึงเวลาแล้วที่จะให้จังหวัดที่มีศักยภาพมีความพร้อมด้านงบประมาณและการบริหารได้ดูแลรับผิดชอบการจัดการศึกษาของจังหวัดตัวเองได้ และการมีศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) นอกจากจะทำหน้าที่ประสานงานการศึกษาในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ ให้สามารถขับเคลื่อนงานการศึกษาไปได้อย่างตรงจุดและตามบริบทของพื้นที่ เพราะจังหวัดย่อมรู้ว่าจะพัฒนาเด็กในพื้นที่ของตนเองแบบไหนให้ตอบโจทย์พื้นที่ และยังเป็นพื้นฐานความพร้อมที่จะรับการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษาที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคต
“สถานการณ์ที่เรื้อรังมาตลอดเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาระหว่างเขตพื้นที่และศึกษาจังหวัด เมื่อมีการโอนอำนาจการบริหารงานบุคคลไปที่ศึกษาจังหวัด มีแต่การยื้อแย่ง ความรับผิดชอบเรื่องอำนาจบริหารงานบุคคลและอาจรวมถึงการใช้งบประมาณบางประเภท แต่ผมยังไม่เคยเห็น ว่าจะมีกลุ่มใดออกมายื้อแย่งความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กที่ตกต่ำลงและขอรับผิดชอบ เหมือนที่จะขอรับผิดชอบการบริหารงานบุคคล ต้องการมีอำนาจโยกย้ายบรรจุแต่งตั้ง ทำไมไม่มีใครพูดถึงคุณภาพเด็กที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษาทุกคน ซึ่งตนต้องการที่จะเห็นการยื้อแย่งความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาไม่ใช่ยื้อแย่งอำนาจการบริหารแบบที่ผ่านมา หากยังมีกรอบความคิดแบบเดิมๆ แล้วจะสร้างคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยในอนาคตได้อย่างไร เพราะการศึกษาคือการพัฒนาประเทศ”นายเอกชัยกล่าว
ประธานกมว. กล่าวต่อว่า ตนคิดว่าในอนาคตต้องกระจายอำนาจการจัดการให้จังหวัดรับผิดชอบโดยตรง หากจังหวัดที่มีความพร้อม อาจจะมีคณะกรรมการนโยบายการศึกษาของจังหวัดประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐ เอกชน หอการค้าจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานคณะกรรมการ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย ทิศทางการศึกษาของจังหวัดให้สอดคล้องกับนโยบายแห่งรัฐและเหมาะสมกับบริบทของจังหวัดและโรงเรียนใดที่มีความพร้อมก็ให้เป็นนิติบุคคลได้ ส่วน ศธจ.ไม่จำเป็นต้องเป็นข้าราชการอาจจะเป็นพนักงานราชการ จ้างนักบริหารมืออาชีพจริงๆ ให้เงินเดือนตอบแทนสูง ทำสัญญาจ้าง 4 ปี มีการกำหนดผลลัพธ์การบริหาร ตัวชี้วัดที่ชัดเจน และประเมินผลการปฏิบัติงานทุกปี มีการแจ้งผลประเมินและสิ่งที่ต้องปรับปรุงทำให้ได้ หากไม่สามารถทำได้ตามที่สัญญาไว้ก็ให้เลิกจ้างได้ และถ้าต้องการให้จังหวัดรับผิดชอบการศึกษาของจังหวัดได้เต็มที่แท้จริง และในส่วนของว่าเขตพื้นที่การศึกษาก็ควรเป็นอิสระจากส่วนกลางแต่ให้ขึ้นกับจังหวัด และจ้างผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษา ออกนอกระบบเช่นเดียวกันเป็นมืออาชีพบริหารจริงๆ ให้ค่าตอบแทนสูงๆ ทำสัญญา จ้างเป็นวาระ 4 ปี เงื่อนไขคล้าย ศธจ. มีการกำหนดผลลัพธ์ ตัวชี้วัดชัดเจน จังหวัดจะดูแลรับผิดขอบคุณภาพการศึกษาของจังหวัดได้อย่างแน่นอน งบประมาณลงที่โรงเรียนโดยตรงผ่านจังหวัดไม่ต้องผ่านส่วนกลางแบบอดีต ศธ. เป็นเพียงผู้กำกับ ติดตามประเมินผลการจัดการศึกษาตามนโยบายของรัฐและกำหนดทิศทางของประเทศ ไม่ใช่ไปกำกับการบริหารของพื้นที่แบบอดีตที่ผ่านมา
“ผมคิดว่าการจัดการศึกษาต้องมีผู้รับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็ก ถึงเวลาแล้วที่การศึกษาต้องการผู้บริหารการศึกษามืออาชีพ ไม่ใช่อาชีพผู้บริหารการศึกษาอย่างปัจจุบันที่ไม่สนใจรับผิดชอบใดๆต่อคุณภาพการศึกษาของเด็ก ซึ่งวิธีการนี้ผมเชื่อว่าจะได้ผู้บริหารมืออาชีพจริงๆ ที่มีความรู้ ความสามารถ มุ่งมั่นพัฒนา และต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาสร้างคุณภาพผู้เรียนได้อย่างแท้จริง”ประธาน กมว.กล่าว