คณะปกป้องศธภ.-ศธจ.ตบเท้าเข้าศธ.ขอมีส่วนร่วมดัน พ.ร.บ.การศึกษา

คณะปกป้อง ศธภ.-ศธจ. ตบเท้า เข้า ศธ. ขอมีส่วนร่วมดัน พ.ร.บ.การศึกษา ยัน ศธภ.-ศธจ. ทำหน้าที่จัดการศึกษาภายในจังหวัดได้อย่างมีเอกภาพ ด้าน “โฆษก ศธ.” เผย เรื่องโครงการ ควรพิจารณาในลูกหมายลูก หวั่น การยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษา สะดุด

2พ.ค.65-ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ… มีมติเสียงข้างมากให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จำนวน 5 ฉบับ ซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีคำสั่งที่ 19/2560 เรื่องการปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ลงวันที่ 3 เมษายน 2560 ด้วย ซึ่งจะส่งผลถึงการยุบสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) นั้น

ที่หอประชุมคุรุสภา – มีกลุ่มตัวแทนศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) และบุคลากรภายในสำนักงาน ศธภ.-ศภธ. ประมาน 100 คน เดินทางมาร่วมหารือแนวทางการเข้าไปมีส่วนร่วมในการผลักดันพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ และพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการ ศธ. ร่วมกับนายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) นายวีระ แข็งกสิการ รองปลัด ศธ. และนายธนู ขวัญเดช รองปลัด ศธ. โดยได้มีการยื่นหนังสือถึงนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ซึ่งมีนายวิสิทธิ์ ใจเถิง หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง พร้อมมีการมอบดอกกุหลาบเพื่อเป็นกำลังใจให้แก่นางสาวตรีนุชด้วย จากนั้นจะเดินทางไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเดินทางไปยื่นหนังสือที่รัฐสภา ถึงนายตวง อันธะไชย ประธานกรรมาธิการฯ

ด้านนายณัทชัย ใจเย็น ศึกษาธิการจังหวัดนนทบุรี (ศธจ.นนทบุรี) ในฐานะตัวแทนคณะปกป้องศธภ.และศธจ. กล่าวว่า พวกเราต้องการให้กำลังใจ นางสาวตรีนุช ในการที่จะผลักดันร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ให้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่จะทำให้การศึกษาชาติมีระบบมากขึ้น โดยในส่วนของ ศธภ.และศธจ.ได้มีข้อเสนอที่จะสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวและการศึกษาในระดับพื้นที่ให้เข้มแข็งได้อย่างไรบ้าง สำหรับประเด็นที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติพ.ศ..ได้พิจารณาลงมติดังกล่าวนั้น พวกเราก็รับฟังและติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด แต่พวกเรามั่นใจว่า ศธภ.และศธจ.ได้ทำหน้าที่จัดการศึกษาภายในจังหวัดได้อย่างมีเอกภาพแน่นอน ทั้งนี้ศธภ.ถือเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาจากหน่วยกลางลงสู่ภาคและจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการกำกับติดตามงานอย่างใกล้ชิด ทำให้หน่วยงานในระดับพื้นที่สนองนโยบายต่างๆ ได้เร็ว ขณะที่ ศธจ.เป็นหน่วยงานที่ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการศึกษาของศธ.แบบเดิมในส่วนภูมิภาค จากการจัดการศึกษาในระดับพื้นที่ที่ไม่สามารถเชื่อมโยงสัมพันธ์กันทั้งในเชิงการดำเนินงานและการบริหารจัดการ เนื่องจากในจังหวัดหนึ่งมีสถานศึกษาทั้งในและนอกสังกัด ศธ.จำนวนมาก รวมถึงประเด็นสำคัญการบริหารงานบุคคลของข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาในการสรรหา บรรจุ แต่งตั้ง และโยกย้าย โดยใช้กลไกของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดสามารถดำเนินการได้อย่างโปร่งใส สุจริต และเป็นธรรมตามหลักธรรมาภิบาล

ด้านนายวีระ ในฐานะโฆษก ศธ. กล่าวว่า จากที่ตนได้มีการหารือร่วมกับกลุ่ม ศธภ.และศธจ.แล้ว พบว่ากลุ่มดังกล่าวต้องการมาผลักดันเรื่องพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ….ให้ประสบผลสำเร็จตามเจตนารมย์ของการปฏิรูปการศึกษา โดยในส่วนของการปรับโครงสร้าง ศธ.นั้น ตนมองว่าควรที่จะนำมาพิจารณาในการจัดทำกฎหมายลูกตามลำดับต่อไปมากกว่า ซึ่งจะมีคณะทำงานเข้ามาดูแลอีกครั้ง ขณะนี้เราควรที่จะมุ่งยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาชาติให้เสร็จ อีกทั้งนี้การที่มีมติเกี่ยวกับเรื่องในลักษณะนี้ จะเป็นการสร้างความขัดแย้งในระดับหน่วยงาน อาจจะส่งผลให้การยกร่างพ.ร.บ.การศึกษาฯ ดำเนินการไม่ได้อย่างสะดวก ซึ่งนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ได้รับทราบเรื่องนี้แล้ว และมอบหมายให้ สป.และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) บูรณาการแก้ปัญหาทำความเข้าใจร่วมกัน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เอกชัย' หนุนอีกเสียงต้องมี 'ศธจ.'กระจายอำนาจ ให้แต่ละจังหวัด ไม่ขึ้นส่วนกลาง ชี้4-5ปีมีแต่แย่งอำนาจ ไม่มีใครออกมารับผิด คุณภาพการศึกษา

สถานการณ์ที่เรื้อรังมาตลอดเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมาระหว่างเขตพื้นที่และศึกษาจังหวัด เมื่อมีการโอนอำนาจการบริหารงานบุคคลไปที่ศึกษาจังหวัด มีแต่การยื้อแย่ง ความรับผิดชอบเรื่องอำนาจบริหารงานบุคคลและอาจรวมถึงการใช้งบประมาณบางประเภท แต่ผมยังไม่เคยเห็น ว่าจะมีกลุ่มใดออกมายื้อแย่งความรับผิดชอบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กที่ตกต่ำลงและขอรับผิดชอบ เหมือนที่จะขอรับผิดชอบการบริหารงานบุคคล