12 เม.ย.65-ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล – สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สนอว.) จัดการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นประธาน พร้อมกล่าวตอนหนึ่งว่า การดำเนินงานของ สนอว. ได้เกิดผลต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศอย่างชัดเจน ทั้งการเกิดขึ้นของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 การจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา รวมถึงการผลักดันแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา หรือ หลักสูตรแซนด์บอกซ์ ที่เปิดโอกาสให้สถาบันอุดมศึกษาได้พัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ การประชุมครั้งนี้ สนอว.จึงมีมติในเรื่องสำคัญ ดังนี้ 1.มอบหมายให้คณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา พิจารณากลั่นกรองการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาตามที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มอบหมาย 2. เห็นชอบข้อเสนอการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ และมอบหมายกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ( อว.) จัดทำแผนงานและมาตรการขับเคลื่อนและจัดตั้งสถาบันศิลปะโรงเรียนเพาะช่าง เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศ กลุ่มอุตสาหกรรมทัศนศิลป์ งานฝีมือและหัตถกรรม เพื่อให้ประเทศไทยสามารถอนุรักษ์และสืบสานศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งต่อยอดต้นทุนทรัพยากรสร้างสรรค์ที่หลากหลายและขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน
ข้อที่3 เห็นชอบในหลักการมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม 300% ระยะต่อไป มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี (2566-2570) โดยปรับปรุงให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และ 4. เห็นชอบต่อแผนดำเนินงานของภาคีความร่วมมืออวกาศไทยเพื่อพัฒนาและสร้างดาวเทียมสำหรับสำรวจและวิจัยจากวงโคจรรอบดวงจันทร์ หรือ TSC-2 เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนากำลังคนและขีดความสามารถของประเทศด้านเทคโนโลยีอวกาศ และสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งรวมไปถึงการใช้มูลค่าเพิ่มพลอยได้ที่ได้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ยกระดับขีดความสามารถของอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น วิศวกรรมอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ยานยนต์แห่งอนาคต อวกาศยาน การขนส่ง เกษตรอัจฉริยะ และเทคโนโลยีดิจิทัล
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.อว. กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบันอุดมศึกษากลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งภาควิชาการจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และกำลังคน ในระยะแรกจะขับเคลื่อนสถาบันศิลปะโรงเรียนเพาะช่างเป็นสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งสนอว. เห็นพ้องต้องกันว่าจะสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศได้ ด้วยไทยมีต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและศิลปวัฒนธรรมเป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติ สามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมไทยที่มีคุณภาพและมีมูลค่าได้กว่าแสนล้านบาทในแต่ละปี และกลายเป็นเป้าหมายเพื่อมาเรียนรู้และท่องเที่ยวของนักเดินทางจากทั่วโลกเป็นจำนวนมาก
ด้านนพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว. กล่าวถึงประเด็นการปรับปรุงมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 300% ว่า หลังจากนี้ อว. และกระทรวงการคลัง จะร่วมกันปรับปรุงมาตรการยกเว้นภาษีฯ ในระยะต่อไปให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ปรับเพิ่มเพดานงบประมาณโครงการในกรณีที่เคยมีโครงการผ่านการพิจารณามาแล้ว รวมทั้งให้เพิ่มเติมหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์หรือหน้าที่และอำนาจในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ตามกฎหมาย พระราชกฤษฎีกา หรือกฎกระทรวงที่จัดตั้งหรือแบ่งส่วนงาน หรือหน่วยงานด้านการให้ทุนตามที่ สนอว.กำหนด และเมื่อภาคเอกชนมีการสนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐที่มีภารกิจพัฒนากำลังคนด้าน ววน. หรือ กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา สามารถอยู่ในเงื่อนไขของการใช้มาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลนี้ได้ โดยจะเสนอให้กระทรวงการคลังดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ สนอว. ยังได้พิจารณาเห็นชอบร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ซึ่งเป็น (ร่าง) กฎหมายลำดับรองของพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 เห็นชอบ (ร่าง) ระเบียบคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมว่าด้วยจริยธรรมการวิจัยทั่วไป พ.ศ. …. และ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์ การวิจัยและข้อกำหนดจริยธรรมการวิจัยซึ่งมีปัญหากับหลักศาสนา วัฒนธรรม จารีตประเพณี หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พ.ศ. ….