'ตรีนุช' เผยไทยต้องเข้าสู่โหมดเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่ใช่เรียนครั้งเดียวพอ เพราะไม่ตอบโจทย์โลกยุคใหม่

31มี.ค.65- ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power กรุงเทพฯ – กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับธนาคารโลก ภาคีหน่วยราชการ และภาคเอกชน จัดเวทีนโยบาย “โควิด-19: ความท้าทายใหม่กับการพัฒนาทักษะและความพร้อมให้แก่ประชากรวัยแรงงานของไทย ”

โดยนางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวในหัวข้อ “เดินหน้านโยบายการเรียนรู้ตลอดชีวิตยกระดับทักษะแรงงานไทยสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน ” ว่า สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของบริบทโลกในมิติต่างๆ ได้ส่งผลให้เกิดความต้องการกำลังคนรูปแบบใหม่ที่มีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น สามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดงานที่สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ระบบการศึกษาและการเรียนรู้จึงต้องคำนึงถึงและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ดังกล่าว สำหรับสถานการณ์ด้านกำลังแรงงานของไทยในปัจจุบัน พบว่า ประชากรไทยที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เกิดปัญหาทางด้านช่องว่างของทักษะแรงงาน (Skill gap) และทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบอัตโนมัติ สร้างผลกระทบต่อรูปแบบของงาน การพัฒนาและยกระดับทักษะแรงงานให้ได้ทั่วถึง และต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานที่มีทักษะต่ำ ที่ขาดโอกาสการเข้าถึงการพัฒนาทักษะ เนื่องจากข้อจำกัดทางด้านการเงิน อุปกรณ์ และลักษณะงานที่ทำ ซึ่งไม่ส่งเสริมต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ จะมีเพียงแรงงานคนกลุ่มน้อยที่เป็นกลุ่มอาชีพเฉพาะทาง ผู้จบการศึกษาสูงกว่าขั้นพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในกรุงเทพฯ ที่ได้รับประโยชน์ในรูปของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นจากการพัฒนาทักษะเท่านั้น

ขณะเดียวกัน เด็กและเยาวชนที่ถูกสภาพทางสังคมบีบบังคับให้พ้นจากระบบการศึกษา เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาสการเข้ารับการศึกษาและ การฝึกอบรม ส่งผลกระทบต่อลักษณะการจ้างงาน และสูญเสียโอกาสในการสร้างรายได้ ดังนั้น การเรียนจากระบบการศึกษาเพียงครั้งเดียวเพื่อใช้งานตลอดชีวิต จึงไม่เพียงพอที่จะตอบโจทย์วิถีชีวิตใหม่ที่เปลี่ยนแปลงจากรูปแบบชีวิตสามช่วง (three-stage life) การศึกษา การทำงาน และการเกษียณ ไปสู่ รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (multistage life) ส่งผลให้คนต้องทำงานหลายอาชีพ รวมถึงองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องมีระบบส่งเสริมการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ที่เอื้อให้คนได้พัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 และมีความเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

ดังนั้น โครงการวิจัยสำรวจทักษะกลุ่มประชากรวัยแรงงานเพื่อพัฒนานโยบายด้านการศึกษา และการพัฒนาทักษะในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กสศ. ธนาคารโลก สำนักงานสถิติแห่งชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกำลังสำคัญในการสนับสนุนและส่งเสริม การดำเนินงานตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิต ซึ่งนอกจากจะเป็นการพัฒนาระบบฐานข้อมูล เพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีความเชื่อมโยงและบูรณาการตามแนวทางสากลแล้ว ผลของการวิจัยสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เชิงลึก เพื่อเป็นเข็มทิศในการกำหนดนโยบายด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศไทย สามารถประเมินจุดอ่อน จุดแข็ง และศักยภาพบุคคลของประเทศ นำไปสู่การตัดสินใจระดับนโยบาย และการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ในเชิงปฏิบัติ เพื่อพัฒนาคนไทยอย่างมีทิศทางและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทยในอนาคต

ด้าน นาย​ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กสศ. กล่าวว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะแรงงาน หากต้องการที่จะก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง โดยรายงานของWorld Economic Forum ในปี 2019 สะท้อนว่าไทยมีสัดส่วนของแรงงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 ซึ่งอยู่ในอันดับ 86 จาก 141 ประเทศ ส่วนทักษะของบัณฑิตจบใหม่ อยู่ในอันดับ 79 และคุณภาพของสถาบันอาชีวศึกษา อยู่ในอันดับ 74 โดยในภาพรวมคุณภาพของแรงงานไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถือว่าอยู่ในระดับปานกลางที่อันดับ 64 นอกจากนี้การสำรวจสถิติแรงงานในประเทศ พบว่าร้อยละ 70 ของประชากรวัยแรงงานมีระดับการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษา จึงเป็นภารกิจของภาครัฐและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่จะต้องเร่งดำเนินการพัฒนายกระดับทักษะและการศึกษาของแรงงานไทย เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดทักษะ ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพการผลิตของประเทศ และทำให้ประเทศไทยมิอาจก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ไปสู่ประเทศที่มีรายได้ระดับสูง ได้ภายในปี พ.ศ. 2580 ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่วางไว้

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รัฐบาลชวน 'ครู-นร.' ลงทะเบียน 'ซิมพร้อมเรียน' ใช้เน็ตฟรี

นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมมือกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

นายกฯตื่น! สั่ง'กสศ.' อัดฉีดเงินช่วยเหลือเด็กนักเรียนหลุดจากระบบ

นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคั

ป.ป.ช. เปิดกรุสมบัติ 'อิทธิพล-ตรีนุช' กรณีพ้นตำแหน่งรัฐมนตรี

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของนายอิทธิพล คุณปลื้ม กรณีพ้นจากตำแหน่ง รมว.วัฒนธรรม โดยนายอิทธิพล แจ้งว่า มีทรัพย์สินทั้งสิ้น 81,162,381 บาท มีหนี้สินทั้งหมด 543,016 บาท