นพ.ทวี ระบุไข้หวัดใหญ่จ่อระบาดช่วงหน้าฝน หวั่นคนไทยติดเชื้อพร้อมกัน 2โรคเพิ่มขึ้น ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควบคู่กับวัคซีนโควิดทุกปี หลังโควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่น ย้ำควรฉีดให้กับคนทุกกลุ่ม ทุกช่วงอายุ ไม่ใช่แค่เฉพาะกลุ่ม 608 เท่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงอาการรุนแรง ต้องนอนโรงพยาบาล หรือเสียชีวิต
มูลนิธิส่งเสริมการศึกษาไข้หวัดใหญ่ จัดแถลงข่าว “ไขปัญหาไข้หวัดใหญ่ในยุคโควิด-19” โดย นพ. ทวี โชติพิทยสุนนท์ ประธานมูลนิธิส่งเสริมศึกษาไข้หวัดใหญ่ กล่าวว่าสำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ในประเทศไทย จากรายงานล่าสุดของกรมควบคุมโรค ระหว่างวันที่ 1 ม.ค.– 23 ก.พ. 2565 พบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 660 ราย ซึ่งไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถติดเชื้อได้ทุกฤดูกาลตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่ยังคงพบในกลุ่มเด็กเล็กอายุ 0-4 ปีมากที่สุด ถึงแม้จะดูว่าตัวเลขผู้ป่วยยังไม่มากนัก แต่แพทย์ต่างก็มีความกังวลว่าในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าที่กำลังเข้าสู่การระบาดในฤดูฝน ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะมีอากาศเย็นและชื้น ทำให้เชื้อไวรัสต่างๆ รวมถึงไวรัสโควิด-19 แพร่กระจายได้มากขึ้น และมีชีวิตอยู่นานขึ้น อาจส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่รักษาตัวในโรงพยาบาลก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน ยิ่งไปกว่านั้นยังตรงกับช่วงเวลาที่โรงเรียนทั่วประเทศเปิดเทอม ทำให้ยิ่งเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อร่วมกันทั้งโรคไข้หวัดใหญ่และโรคโควิด-19 ในเวลาเดียวกัน (หรือที่เรียกว่า Co-Infection หรือ Flurona) ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงมีอาการรุนแรงมากขึ้น
“ในช่วง 2ปีไทยป่วยไข้หวัดใหญ่น้อยลง เพราะมีการใส่หน้ากาก ส่วนระดับโลกไข้หวัดใหญ่ลดลงมากเช่นกัน แต่ไม่หายไป ก่อนโควิดอยู่ในระดับ 15-20 % แต่พอเกิดโควิดเหลือ 3% เพราะคนใส่หน้ากากกันมาก แต่ถ้ามีการถอดหน้ากากกันในหลายประเทศตอนนี้ ไข้หวัดใหญ่จะกลับมาสูงขึ้นอีก “รศ.นพ.ทวีกล่าว
รศ.นพ.ทวีกล่าวอีกว่า เชื่อว่าทั้งไข้หวัดใหญ่ และโควิด 19 จะยังอยู่กับเราตลอดไป แต่โควิด จะลดความรุนแรงลง เพราะหากยังรุนแรง เชื้อก็จะตายไปพร้อมกับผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งการป้องกัน ต้องฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่และวัคซีนโควิด สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โลกรู้จักวัคซีนชนิดนี้มานาน 80 ปี และจากการรายงานข้อมูลล่าสุดพบว่า ไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดในไทยส่วนมากเป็นเชื้อ H3N2 ซึ่งมีความรุนแรงกว่าชนิด H1N1 ซึ่งการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ควบคู่กับวัคซีนโควิด จะช่วยลดความรุนแรงของโรคลงได้
สำหรับการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ นพ.ทวี กล่าวว่า ปัจจุบันยังมีการวิจัยของประเทศบราซิลที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ และอัตราความรุนแรงของโควิด-19 โดยเปรียบเทียบใน 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มผู้ป่วยโควิดที่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในระยะ 1-3 เดือนที่ผ่านมา และ 2. กลุ่มผู้ป่วยโควิดที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ผลปรากฎว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในผู้ป่วยโควิด จะช่วยลดอัตราการนอนในแผนกผู้ป่วยหนักได้ 7% ช่วยลดอัตราของผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจได้ถึง 17% ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาวิจัยต่างประเทศอีกหลายแห่ง ทั้งในสหรัฐอเมริกา และบราซิล ที่ระบุว่าการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ส่งผลในเชิงบวกต่อการเจ็บป่วยของโควิด สามารถลดอัตราการเสียชีวิตลงจากการติดเชื้อโควิดได้ถึง 10% ด้วยเช่นกัน
ส่วนกลุ่มคนที่ควรฉีดวัคซีน ไข้หวัดใหญ่ รศ.นพ.ทวีกล่าวว่า ไม่ควรเน้นแต่ลุ่ม 608 ที่มีความเสี่ยงเท่านั้น เนื่องจาก โควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น ก็ควรฉีดให้กับคนทุกช่วงวัย รวมทั้งเด็กอายุตั้งแต่ 6เดือนขึ้นไป คนท้องก็สามารถฉีดได้ เพื่อส่งต่อภูมิคุ้มกันจากแม่ไปให้ลูก หรือแม้แต่พวกที่มีโรคประจำตัวต่างๆ พวกกินยาสเตียรอยด์ ยากดภูมิ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ก็มีประโยชน์มากด้วย ที่สำคัญในกลุ่มเด็กจากสถิติที่ผ่านมาเด็กจะมีโอกาสติดเชื้อไข้หวัดใหญ่มากกว่าผู้ใหญ่ได้ถึง 4 เท่า เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ รวมถึงพฤติกรรมของเด็กโดยธรรมชาติที่มักขาดความระมัดระวัง ทั้งน้ำลาย น้ำมูก ไอจามรดกัน และไม่ชอบล้างมือ ยิ่งต้องควรฉีด นอกจากนี้เด็กยังอาจเป็นพาหะนำเชื้อมาให้คนในบ้าน ที่สำคัญคือผู้สูงอายุ และคนอีกกลุ่มที่ไม่ควรมองช้าม คือ คนที่ดูแลผู้สูงอายุในบ้าน เพราะคนกลุ่มนี้มักจะออกไปซื้อของ พูดคุยสัมผัสกับคนนอกบ้าน อาจนำโรคมาให้ผู้สูงอายุได้ จึงต้องระวังด้วยการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับคนกลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน
“ไข้หวัดใหญ่อยู่กับเรามาเป็น 100 ปี มันก็พัฒนาสายพันธุ์มาเรื่อยๆ เช่นเดียวกับโควิด ไม่น่าเชื่อว่าจะหายไป น่าจะอยู่กับเราตลอดไป แต่เชื้อจะดุร้ายขึ้นไหม ดูจากในอดีต ถ้าเชื้อดุมาก ก็จะไม่ระบาดหนัก และเป็นธรรมชาติของเชื้อที่ต้องการอยู่รอด จึงลดความรุนแรงลง เพื่อยื้อให้มันมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ เพราะฉะนั้น ทั้งสองวัคซีน ทั้งวัคซีนไข้หวัดใหญ่ กับวัคซีนโควิด จึงยังมีความจำเป็นต้องฉีด ซึ่งขณะนี้ในต่างประเทศกำลังมีการศึกษาว่าจะสามารถทำวัคซีนไข้หวัดใหญ่กับวัคซีนโควิดอยู่ในเข็มเดียวกันได้หรือไม่สำหรับวัคซีนโควิด ไม่ว่าแพลตฟอร์มไหน ก็สามารถช่วยลดการเจ็บป่วยรุนแรง เสียชีวิตได้”
รศ.นพ.ทวีกล่าวอีกว่า ในต่างประเทศตอนนี้ การฉีดวัคซีนโควิด กับ วัคซีนไข้หวัดใหญ่ไม่ต้องทิ้งระยะห่าง 2 สัปดาห์เหมือนที่ผ่านมาแล้ว สามารถฉีดพร้อมกันได้แต่คนละแขน ซึ่งมีการศึกษาเรื่องผลข้างเคียง และประสิทธิภาพ ตลอดจนอาการไม่พึงประสงค์พบว่าไม่แตกต่างกัน
“วัคซีนโควิด ไม่ว่าแพลตฟอร์มไหน ก็สามารถช่วยลดการเจ็บป่วยรุนแรง เสียชีวิตได้ แต่ตอนนี้ต้องไปถึงเข็ม 3-4 เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน ส่วนเข็ม 5 ยังคงต้องใจเย็นๆ ผ่านเข็ม 3,4 ไปก่อน “รศ.นพ.ทวีกล่าว
ศ. นพ. ธีระพงษ์ ตัณฑวิเชียร อาจารย์หน่วยโรคติดเชื้อ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ช่วยผู้อำนวยการและรักษาการหัวหน้าฝ่ายวิจัยและบริการคลินิก สถานเสาวภา สภากาชาดไทย กล่าวว่า ไข้หวัดใหญ่กับโควิด มีอาการคล้ายกันมาก แทบแยกไม่ออก และมีเป้าหมาย ที่จะทำให้เกิดอาการรุนแรงเหมือนกันคือกลุ่ม 608 ซึ่งเป็นผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว อ้วน ความดัน เบาหวาน คนท้อง ปัจจุบันไข้หวัดใหญ่ลดลง เพราะมีการใส่หน้ากาก ปิดโรงเรียน ทำงานที่บ้าน เช่นเดียวกับต่างประเทศที่มีคนป่วยไข้หวัดใหญ่ลดลง แต่ในช่วงที่โควิดระบาด พบว่ามีผู้ป่วยประมาณ 3% ได้รับเชื้อทั้งสองอย่างพร้อมกัน ทำให้มีอาการรุนแรง ต้องนอนโรงพยาบาล ซึ่งการฉีดวัคซีนทั้งสองชนิด จะช่วยลดอาการรุนแรงได้
” โควิดมีอิทธิพล ทำให้ความรู้ทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงไป แต่ก่อนคนไม่ค่อยมีคนสนใจวัคซีนไข้หวัดใหญ่เท่าไหร่ และมักฉีดให้กับผู้ใหญ่ หรือผู้สูงอายุเท่านั้น แต่พอเกิดโควิด ทั่วโลกรับรู้ประโยชน์ของวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ว่าช่วยลดอาการปอดบวม ลดอาการรุนแรงทั้งไข้หวัดใหญ่และโควิด ล่าสุดในสหรัฐอเมริกา มีการออกคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ให้กับคนทุกช่วงอายุ โควิดจึงเป็นตัวสร้างอิทธิพลต่อไข้หวัดใหญ่ เปลี่ยนการรับรู้ทั้งคนให้และคนรับวัคซีน” ศ.นพ.ธีระพงษ์กล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริง 'ลิ่มเลือดสีขาว' ไม่เกี่ยวฉีดวัคซีนโควิด
สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้แจงข้อเท็จจริง เรื่อง ลิ่มเลือดสีขาว (White clot) และวัคซีนโควิด 19 ชนิด mRNA จากกรณีที่มีการเผยแพร่และส่งต่อข้อมูลเกี่ยวกับการพบสิ่งแปลกปลอมซึ่งมีลักษณะเป็นลิ่มเลือดสีขาว (White clot) ในหลอดเลือดผู้เสียชีวิตที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด 19
'หมอยง' ไขข้อข้องใจ 'วัคซีนโควิด' กับผลได้ผลเสีย
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โควิด 19 วัคซีนโควิด 19