มาตรการรัฐหนุนดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีก ก.พ. เริ่มขยับตัว

4 มี.ค. 65 – นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ รองประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเชื่อมั่น (Retail Sentiment Index) ของผู้ประกอบการค้าปลีกประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่าขึ้นมาอยู่ที่ 52.7 ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 9.3 จุด เมื่อเทียบกับดัชนีเดือนมกราคมที่ 43.4 จุด สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่ยังไม่มั่นคง เนื่องจากความกังวลต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัว ประกอบกับราคาสินค้าที่ปรับราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ค้าปลีกในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นเพียง 5.6 จุด จากระดับ 53.1 จุด ในเดือนมกราคม มาที่ 58.7 จุด เดือนกุมภาพันธ์ สะท้อนถึงความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโอมิครอนที่กระจายไปอย่างรวดเร็วในประเทศไทย รวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่ยังมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ราคาน้ำมัน และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น

“ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการดีขึ้น 9.3 จุด เกิดจากความความพยายามร่วมกันของภาครัฐและภาคเอกชน ในการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนด้วยการตรึงราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภค โดยสมาคมผู้ค้าปลีกไทย และภาคีเครือข่าย ได้ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับซัพพลายเออร์รายใหญ่กว่า 30 ราย เพื่อตรึงราคาให้ครอบคลุมสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวันกว่า 500 รายการมาตั้งแต่ปลายปี 2564” นายฉัตรชัย กล่าว

ขณะเดียวกันยังมีผลจากมาตรการการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐเพิ่มอีกแรง ส่งผลให้ยอดขายสาขาเดิมปรับเพิ่มขึ้น 15.2 จุด แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ 50 จุด ซึ่งเกิดจากความถี่ในการจับจ่าย เพิ่มขึ้น 16.3 จุด แต่ยอดซื้อต่อบิลนั้นยังอยู่ในอัตราทรงตัวที่ 5.2 จุด ดังนั้น การจับจ่ายที่เกิดขึ้นจึงเป็นลักษณะการซื้อทีละน้อยแต่ซื้อบ่อยครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับความระมัดระวังในการจับจ่ายที่ซื้อเฉพาะสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะสินค้าหลายหมวดหมู่มีการปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

หากมาดูดัชนีความเชื่อมั่น RSI แยกตามภูมิภาค ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการต่อยอดขายเดิมเดือนกุมภาพันธ์เพิ่มขึ้นในทุกภูมิภาคเมื่อเทียบกับเดือนมกราคม จากมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของภาครัฐ แต่ก็เป็นการเพิ่มขึ้นที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลางที่ระดับ 50 จุด ทุกภูมิภาค สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่ยังกังวลในการฟื้นตัวของกำลังซื้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเพราะราคาพลังงานและราคาอาหารสดมีการปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนี้ จากผลการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการกว่า 44% อาจจะพิจารณาปรับค่าจ้างแต่ไม่เกิน 5% ในขณะที่ผู้ประกอบการ 33% ระบุว่าจะยังไม่พิจารณาปรับค่าจ้าง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบส่วนใหญ่ยังคงลังเลที่จะปรับค่าจ้าง ในขณะที่ธุรกิจยังไม่ฟื้นตัวและสถานการณ์เศรษฐกิจก็ยังไม่มีความชัดเจน แม้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโอมิครอนจะน้อยกว่าเดลต้า แต่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเดลต้าที่มาก่อนหน้านี้ยังไม่ฟื้นตัว ทำให้ภาพรวมของธุรกิจยังได้รับผลกระทบอยู่

สำหรับผลสำรวจความคิดเห็นจากโครงการ  “ช้อปดีมีคืน” มีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจระดับหนึ่ง แม้ว่าในช่วงเวลาที่เริ่มต้นโครงการ “ช้อปดีมีคืน” นั้น เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโอมิครอนทำให้มู้ดในการจับจ่ายใช้สอยไม่ดีเท่าที่ควร แต่ก็ถือว่ายอดขายเติบโตได้ขนาดนี้ก็เป็นที่น่าพอใจ แต่หากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” สามารถทำเฟสต่อไปได้ โดยขยายเวลาเป็น 3 เดือน และขยายวงเงินเป็น 100,000 บาท ผลลัพธ์จะทำให้สามารถนำเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ที่ทำให้ผู้ประกอบการและเอสเอ็มอีไทยสามารถดำรงสภาพคล่องและคงการจ้างงานไว้ได้

นายฉัตรชัย กล่าวว่า ข้อเสนอต่อภาครัฐ คือ 1.เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการลงทุนโดยภาครัฐ ให้มีการอนุมัติและดำเนินการโครงการต่างๆ เพื่อสร้างเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว 2.พยุงราคาพลังงานให้คงที่และได้นานที่สุด ภาครัฐควรพิจารณาใช้ทุกมาตรการ เช่น การใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และการออกมาตรการควบคุมราคาค่าขนส่ง เพื่อพยุงราคาพลังงานให้นานที่สุด และ 3.คงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไว้อย่างต่อเนื่อง ภาครัฐควรพิจารณากระตุ้นกำลังซื้อของประชาชนเพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยภายในประเทศผ่าน โครงการ “คนละครึ่ง” และ โครงการ “ช้อปดีมีคืน”

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ากำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวมากนัก การกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐยังเป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังต้องมุ่งมั่นในการเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชนอย่างรวดเร็วและรอบด้าน นอกจากนี้ ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนส่งเสริมให้เอกชนลงทุนภายในประเทศเพื่อเพิ่มการจ้างงาน ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลให้กำลังซื้อของประชาชนฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ท้ายที่สุดนี้คือ การร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจของทุกภาคส่วนจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไทยได้ไปต่อ

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดัชนีเชื่อมั่นค้าปลีกไตรมาส 3 แผ่ว! แนะผุดมาตรการภาษีดันช้อป

“สมาคมค้าปลีกไทย” โอด Q3 ดัชนีเชื่อมั่นแผ่ว ซบเซา 3 เดือนติด ระบุฐานรากกำลังซื้อยังอ่อนแอ แนะรัฐบาลออกมาตรการลดหย่อยภาษีประจำปี หนุนกลุ่มคนมีกำลังซื้อเร่งช้อป ด้าน “หอการค้าไทย” แจงภาคธุรกิจกังวลนโยบายขึ้นค่าแรง หวั่นกระทบต้นทุน

ภาพรวมค้าปลีกไทยปี 66 คาดฟื้นตัวไม่สมดุล เตรียมรับมือมรสุม 5 ลูกกระทบ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชี้ดัชนีค้าปลีก ธ.ค. โตน้อย คาดปี 66 ฟื้นตัวไม่สมดุล เหตุปัจจัยรุมเร้า ชงรัฐหนุนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบนันสต็อป

สมาคมผู้ค้าปลีกชง 3 มาตรการแก้ปัญหาปากท้องช่วงราคาสินค้าแพง

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ชง 3 มาตรการ รัฐแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชนทั้งตรึงราคาสินค้า-สต็อกสินค้าอุปโภค บริโภค-แก้ไขกลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงและออกมาตรการควบคุมราคา

‘โอมิครอน’ฉุดค้าปลีกซึมชี้กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว

โอมิครอนฉุดค้าปลีกปลายปีซึม สมาคมผู้ค้าปลีกไทย เผยดัชนี ธ.ค. 64 แค่กระเตื้อง ไม่สดใสคามคาด!  ชี้กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว เร่งเสนอ 4 ข้อรัฐฟื้นเศรษฐกิจ

สมาคมผู้ค้าปลีกไทยมั่นใจ 'ช้อปดีมีคืน' ทำเงินสะพัด 5 หมื่นล้าน

สมาคมผู้ค้าปลีกไทย จุดติด “ช้อปดีมีคืน” ปี 2565 หลังพยายามผลักดันมาโดยตลอด ชี้ลดหย่อนภาษีสูงสุด 3 หมื่น คาดกระตุ้นบริโภคในประเทศ พร้อมดันเงินสะพัด 4 - 5 หมื่นล้านบาท