‘ศักดิ์สยาม’มอบนโยบายการท่าเรือฯเร่งตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ หวังเพิ่มขีดความสามารถขนส่งทางน้ำ ลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ ผุดไอเดีย จ่อชงครม.เคาะตั้ง 3 บริษัทลูกร่วมทุนเอกชนปีนี้ ปลื้มผลประกอบการปี 64 รายได้ 1.56 หมื่นล้านบาท
3 มี.ค.2565 – นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังลงพื้นท่าเรือแหลมบัง จ.ชลบุรี เพื่อเยี่ยมชมการปฏิบัติงานของการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) พร้อมมอบนโยบายการพัฒนาการขนส่งทางน้ำให้เร่งจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของกองเรือพาณิชย์ไทย รวมทั้งเร่งพัฒนาโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) เพื่อเชื่อมต่อการขนส่งระบบอื่นอย่างไร้รอยต่อ และส่งเสริมนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากระบบถนนสู่ระบบราง การขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่ง (Shift Mode)
ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ สนับสนุนการส่งออกและนำเข้า มุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาคเบื้องต้นได้เสนอให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน ไม่เป็นรัฐวิสาหกิจแต่ภาครัฐยังมีส่วนถือหุ้นในลักษณะเหมือน บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งหลังจากนี้ จะมีการจัดตั้ง 3 บริษัทลูกร่วมทุนเอกชน และตั้งเป้าเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในปี 2565 นี้
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า นโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการพัฒนาโลจิสติกส์ทุกรูปแบบ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโลจิสติกส์ทางน้ำมีความสำคัญโดยต้องบูรณาการกันระหว่างภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาศักยภาพของการขนส่งสินค้าทางน้ำให้เต็มความสามารถ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน โดยได้มอบนโยบายการดำเนินงานให้กับ กทท. ดังนี้
1.เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 และการนำระบบท่าเรืออัตโนมัติ (Port Automation) มาใช้ในการปฏิบัติงานและการให้บริการ เพื่อให้เกิดความแน่นอนและแม่นยำในการวางแผน การบรรทุกและการขนถ่ายสินค้า อำนวยความสะดวกในการบริหารพื้นที่หลังท่า และสามารถเชื่อมต่อกับระบบการขนส่งอื่น โดย กทท. ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกำหนดในปี 2568 เพื่อส่งเสริมศักยภาพของ EEC และต้องดำเนินการด้วยความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
2.การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมและพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ ลดต้นทุนการขนส่งโลจิสติกส์ สนับสนุนการส่งออกและนำเข้า เพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศโดยกองเรือไทย รวมทั้งลดการขาดดุลบริการด้านค่าระวางเรือ และเสริมศักยภาพการแข่งขันให้กับกองเรือไทย ทั้งนี้ ให้ กทท. บูรณาการร่วมกับกรมเจ้าท่า เพื่อจัดทำสายการเดินเรือแห่งชาติในรูปแบบ Domestic และ International รวมทั้งพิจารณากลยุทธ์ในการพัฒนาท่าเรือเพิ่มในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในประเทศ เพื่อให้เกิดการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางน้ำ
3.เร่งรัดการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ โดยการเบิกจ่ายงบลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจไม่น้อยกว่า 95 %ของกรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติเบิกจ่ายลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรี โดยดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หลักธรรมาภิบาล และการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 4.สนับสนุนการขนส่งสินค้าทางชายฝั่ง เพื่อส่งเสริมนโยบายการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งจากระบบถนนมาสู่ระบบราง รวมทั้งการขนส่งทางลำน้ำและชายฝั่ง (Shift Mode) เพื่อลดต้นทุนด้านระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาเส้นทางการขนส่งสินค้าทางน้ำในประเทศ
5. เร่งรัดโครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการโลจิสติกส์ ช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ในภาพรวม รวบรวมและกระจายสินค้า เพื่อไปสู่การเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของภูมิภาค สามารถเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภูมิภาคต่าง ๆ ภายในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งเชื่อมการขนส่งระหว่างสาธารณรัฐประชาชนจีนสู่ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) และท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงการพัฒนาในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนการลดต้นทุนการขนส่งสินค้าของประเทศ
6.พัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ โดยการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่งของแลนด์บริดจ์ ให้เชื่อมต่อระบบการขนส่งอื่นอย่างไร้รอยต่อ (Seamless) เพื่อลดเวลาและต้นทุนการขนส่ง เมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นในอาเซียน เพื่อดึงดูดให้ผู้ประกอบการจากทั่วโลกหันมาใช้เส้นทางแลนด์บริดจ์ เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกแทนเส้นทางการค้าเดิม ทั้งนี้ ให้ กทท. เข้ามาบูรณาการร่วมกับ สนข. จท. ทล. ขบ. และ รฟท. เพื่อให้ความเห็นและมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบ การลงทุนและBusiness Model เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสะดวก และลดต้นทุนของระบบโลจิสติกส์อย่างเป็นรูปธรรม
7.ปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ต้องดำเนินการให้เป็นระบบ โดยมีการประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง และวางแผนบริหารจัดการทั้งด้าน Demand และ Supply เพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ
8. การบริหารงานของ กทท. ต้องยึดระเบียบ กฎหมาย มติคณะรัฐมนตรี หลักธรรมาภิบาล ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน
9.การพิจารณาศึกษาการปรับรูปแบบโครงสร้างของการบริหาร กทท. ให้ดำเนินการบริหารจัดการที่ทันสมัย ทันต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและความผันผวนของเศรษฐกิจ เพื่อมุ่งเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรระดับ world class โดยต้องศึกษาให้รอบด้านและคำนึงถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งสหภาพแรงงานและภาคเอกชน
10.ให้ความห่วงใยเรื่องการจัดการมาตรการสาธารณสุข เพื่อลดการการแพร่ของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ขอให้ทุกคนช่วยๆกันปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด และ 11 . เรื่องการบริหารสินทรัพย์โดยเฉพาะโครงการอสังหาริมทรัพย์ ต้องเน้นการสร้างความเข้าใจกับภาคประชาชน เพื่อให้เห็นถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับและพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด เน้นการตั้งคณะกรรมการในการศึกษาโดยมีส่วนร่วมจากตัวแทนทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถมองเห็นปัญหา อุปสรรค และโอกาสการพัฒนาให้รอบด้าน
ด้าน นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ได้มอบแนวทางการดำเนินงานให้กับ กทท. เพิ่มเติม ได้แก่ การบริหารจัดการท่าเรือที่ประสบภาวะการบริหารที่ขาดทุน เช่น ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสนและท่าเรือระนอง ให้กลับมาได้กำไรอีกครั้ง โดยต้องช่วยกันบูรณาการหารือกับภาคเอกชนและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง การส่งเสริมสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางจาก ทลฉ. เข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อลดปัญหาจราจร และลดต้นทุนการขนส่งสินค้า และได้เร่งรัดให้ กทท. ดำเนินการโครงการ Smart Community ให้เป็นไปตามแผนการดำเนินงาน
นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้มอบแนวทางเพิ่มเติมในเรื่องการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติโดยต้องบูรณาการร่วมกับ รัฐวิสากิจอื่น ๆ ที่สนับสนุนเกื้อกูลกัน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาให้เกิดการ Shift Mode ของการขนส่งสินค้า รวมทั้งการบริหารทรัพย์สินทางด้านอสังหาริมทรัพย์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาครัฐให้มากที่สุด
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ กทท. กล่าวว่าสำหรับแผนงานและโครงการที่สำคัญของ กทท. ในการมุ่งสู่มาตรฐานท่าเรือชั้นนำระดับโลก พร้อมบูรณาการให้บริการด้านโลจิสติกส์ที่เป็นเลิศ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ทั้ง 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของท่าเรือ 2.การพัฒนาธุรกิจและสินทรัพย์ 3.การพัฒนาระบบบริหารจัดการทางการเงินให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน 4.การพัฒนาสมรรถนะองค์กรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม 5.การพัฒนาสมรรถนะองค์กรด้วยกระบวนงานทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพ และ6.การพัฒนาองค์กรอย่างมีส่วนร่วมเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินโครงการที่สำคัญต่าง ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 โครงการพัฒนา ทลฉ. ระยะที่ 3 (ในส่วนของท่าเรือ F) โครงการพัฒนาศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ ทลฉ. โครงการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการของท่าเรือระนอง (ทรน.) โครงการพัฒนาท่าเรือบก (Dry Port) โครงการพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษ สายบางนา – อาจณรงค์ (S1) โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย (Smart Community) การพัฒนาการเชื่อมโยง Data Logistic Chain ด้วยระบบ Port Community System การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ และการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม
นายเกรียงไกร กล่าวว่าส่วนผลการดำเนินงานด้านการเงินในปี 2564 กทท. มีรายได้โดยรวมเฉลี่ย 15,613 ล้านบาท กำไรสุทธิ 6,270 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 9,343 ล้านบาท ซึ่ง กทท. มีรายได้สูงสุดเกี่ยวกับสินค้า 70.75 %รายได้เกี่ยวกับเรือ 11.91% รายได้เกี่ยวกับค่าเช่าที่ดิน อาคารและคลังสินค้า 9.54%รายได้เกี่ยวกับบริการ 2.91% และรายได้อื่น ๆ 4.98%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ภูมิใจไทย' เฮส่อรอดยุบพรรค
ภูมิใจไทย เตรียมเฮ ส่อรอดยุบพรรค "แสวง" ชี้ คดีศักดิ์สยาม ไม่เป็นเหตุยุบพรรค ซ้ำคำวินิจฉัยศาลฎีกา "ทำงานให้หลวงต้องได้เงิน" คาดจบใน 1 เดือน ส่วนเรื่อง "ฮั้ว" ต้องแยกคดี พ้อแค่เป็นคนบุรีรัมย์ถูกด่าฟรี 1 ปี เผยสั่งยุติคดียุบ "พปชร." หลังพิสูจน์ไม่ได้ว่า "เงินบริจาคตู้ห่าว" เป็นเงินไม่ชอบด้วยกฎหมาย
'ศักดิ์สยาม' แจงทรัพย์สินปปช. โสด รวยร้อยล้าน ภูมิใจไทย
สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เผยแพร่บัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน
เปิดคำวินิจฉัย ตุลาการศาลรธน.เสียงข้างน้อย ชี้ความเป็นรมต. 'ศักดิ์สยาม' ไม่สิ้นสุดลง
จากกรณีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 1 เสียง ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (5)
'เสี่ยหนู' ประกาศชัด! เชียร์ 'ไชยชนก' นั่งเลขาฯ คนใหม่
'อนุทิน' เผยเลือกเลขาฯ คนใหม่ เม.ย. เชียร์ 'ไชยชนก ชิดชอบ' ขึ้่นแท่นพ่อบ้านภูมิใจไทย ส่งสัญญาณดึงคนรุ่นใหม่ นั่ง กก.บห. เพิ่ม
ภูมิใจไทยรอด! 'นักวิชาการ' ชี้เป็นความผิดส่วนบุคคล ส่วนเงินบริจาคไม่ผิดกฎหมาย
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาภาควิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความเห็นต่อโอกาสยุบพรรคภูมิใจไทย จากความผิดของเลขาธิการพรรคว่า
ซ้ำอีกดอก! 'พี่ศรี' จ่อร้อง กกต.กรณี ซุกหุ้น 'ศักดิ์สยาม-ภูมิใจไทย' ต้องถึงยุบพรรคหรือไม่
นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 7 ต่อ 1 ให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ อดีต รม