กนอ.โวนักลงทุนญี่ปุ่นยังสนใจอีอีซี ชี้อุตฯยานยนต์ปังสุด ฟุ้งตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งแรกปี 65 ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี เชื่อนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนนักลงทุนไม่มีปัญหา สนองความยั่งยืนภาคอุตสาหกรรม
3 มี.ค. 2565 -นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ได้ร่วมประชุมกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) โดยมีการนำผลการสำรวจแนวโน้มทางเศรษฐกิจของบริษัทร่วมลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทยของหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพ (JCCB) มาหารือ ซึ่งพบว่า อุตสาหกรรมที่บริษัทญี่ปุ่นสนใจลงทุนในพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมและเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มากที่สุดถึง 49% คือ ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์สมัยใหม่ นอกจากนี้ 37% ยังระบุด้วยว่า สนใจที่จะลงทุนต่อไป แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่มีอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ค่าดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจ ของ JCCB ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ที่ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 41 จากเดิมช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ที่อยู่ที่ 14 โดยขึ้นสูงสุดในรอบ 9 ปี
ทั้งนี้ที่ผ่านมา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมญี่ปุ่น หรือ เมติ ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อหารือถึงแนวทางการลงทุนใหม่ๆ โดยญี่ปุ่นมีแผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศส่งเสริมการใช้และผลิตรถยนต์อีวี ปักหมุดการเป็นตลาดระดับโลก รวมถึงเป็นฐานการลงทุนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ที่ทันสมัย
สำหรับการคาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 ดัชนีการลงทุนจะมีการปรับตัวเป็นบวกมากขึ้นนั้น ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากนักลงทุนมองการลงทุนด้านโรงงานและเครื่องจักรว่าจะปรับตัวดีขึ้น โดยมีโอกาสขยายการลงทุนมากถึง 35% ขณะที่ 37% ระบุว่าจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ นักลงทุน 40% มองว่าแนวโน้มการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2565 จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ 47% คาดว่าการส่งออกยังคงที่ต่อเนื่อง ที่สำคัญ แม้จะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่นักลงทุนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ถึง 65% ยังคาดการณ์ว่าจะคงขนาดกิจการปัจจุบัน ขณะที่ 28% ระบุว่าจะขยายกิจการ
นอกจากนี้ ยังได้หารือเกี่ยวกับนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน เพื่อความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรม โดยนักลงทุนญี่ปุ่นมากถึง 42% พร้อมที่จะพิจารณานโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามมาตรฐานที่กฎหมายและระเบียบสิ่งแวดล้อมกำหนดผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การเปลี่ยนหรือปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องจักรเป็นแบบประหยัดพลังงาน รวมถึงการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้
“ผลกระทบจากโควิด-19 เกิดการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก รวมถึงราคาวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่พุ่งสูงขึ้น เพราะระบบโลจิสติกส์ของโลกได้รับผลกระทบนั้น กนอ.จึงเสนอว่า ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้โดยการตั้งโรงงานซัพพลายเชนในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ลง และยังทำให้วัตถุดิบรวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ไม่ขาดตลาดอีกด้วย” นายวีริศ กล่าว